เมนู

กล่องคอนกรีต บรรจุสเปซไร้ขอบเขตอยู่ข้างใน

ตกแต่งบ้านแนวตั้ง

บ้านคอนกรีตโมเดิร์นมินิมอล

บ้านในญี่ปุ่นยังคงเป็นต้นแบบของความ “น้อย” ให้เราได้ประหลาดใจอยู่เสมอ บางครั้งรายละเอียดของบ้านก็แทบไม่มีอะไรเลยนอกจากเป็นกล่องใบใหญ่ ที่ใส่กิจกรรมประจำวันพื้นฐานเอาไว้แค่นั้นก็พอใจ เหมือนเช่นบ้านทรงสูง 3 ชั้นหลังนี้ ที่จ้าของปรารถนาที่จะเพลิดเพลินกับบ้านที่มีแสงที่สวยงามภายใน และรู้สึกได้ถึงพื้นที่ที่โปร่งโล่งเชื่อมต่อ อย่างไรก็ตาม ในความน้อยถึงน้อยมากนั้น ก็ยังต้องการความสมดุลของความสงบและความอบอุ่น ซึ่งสถาปนิกสามารถตอบโจทย์สิ่งที่คาดหวังได้เป็นอย่างดี

ออกแบบ :  SUPPOSE DESIGN OFFICE
ภาพถ่าย : Toshiyuki Yano
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นมินิมอลทรงสูง

House in Nishiochia เป็นบ้านคอนกรีตทรงสูง (มาก) ขนาด 95 ตารางเมตรใน Nishiochiai กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบมาสำหรับครอบครัวที่ต้องการพื้นที่ภายในสว่าง ๆ และเรียบง่าย สถาปนิก Suppose Design Office จึงนำเสนอรูปแบบใหม่ของที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ด้วยการใช้วัสดุหลัก ๆ ให้เห็นภายนอกเพียงชนิดเดียว ตัวบ้านไม่มีกันสาดที่หน้าต่าง หลังคาแบน ไม่ทาสี เป็นเหมือนแท่งคอนกรีตดิบ ๆ ดูโดดเด่นท่ามกลางเมืองใหญ่

โถงบันไดมองเห็นจากชั้นล่างถึงชั้นบน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ครัวและมุมทานข้าวมุมนั่งเล่น

เจ้าของบ้านต้องการให้ที่นี่เป็นบ้านมีความหมายเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ทีมออกแบบจึงพยายามใส่พื้นที่ว่างให้มากที่สุด แล้วเชื่อมต่อช่องว่างเหล่านั้นเข้าด้วยกันทั้งในระนาบแนวตั้งและระนาบแนวนอน ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็ของบ้านก็สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้หมด นอกจากนี้บ้านยังต้องการความสมดุลของความสงบและความอบอุ่น เพื่อไม่ให้บ้านดูดิบและแข็งกระด้างจนเกินไป ด้วยการหยิบจับงานไม้มาตกแต่งในหลายๆ ส่วนของบ้าน

มุมมองจากชั้นบนลงไปห้องทานข้าว

บันไดและชานพักกรุทับด้วยไม้

ฟังก์ชันของบ้านเริ่มจากห้องทานข้าว นั่งเล่น และครัวในชั้นล่างสุด จากนั้นจะตค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมามีห้องน้ำ ขึ้นมาเป็นโซนห้องเด็กเล่นและมุมทำงาน โดยมีห้องนอนอยู่ชั้นบน

มุมเด็กเล่นและทำงาน

มุมเด็กเล่นและมุมทำงาน

โดยปกติบันไดและช่องว่างตรงทางเดินจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่เสริม แต่ในกรณีของบ้านหลังนี้นั้น บันไดจะขยายเข้าไปในห้องที่ไร้ผนังกั้น และต่อเชื่อมแบบไม่มีพรมแดนในจุดที่กำหนดไว้ เหมือนเป็นจุดแวะพักที่ใส่ฟังก์ชันใช้งานเข้าไปมากกว่าเรียกว่าห้อง ซึ่งจุดนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบ เราจะเห็นได้จากตัวบันไดที่ต่อเนื่องกับโต๊ะเขียนหนังสือ บันไดที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชานพักขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ห้องเด็กเล่นและห้องทำงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มวิธีการทำงานที่แปลกแต่น่าสนใจมาก ๆ

โถงบันไดวนเห็นจากชั้นล่างถึงชั้นบน

โถงบันไดวนเห็นจากชั้นล่างถึงชั้นบน

โถงบันไดวนเห็นจากชั้นล่างถึงชั้นบน

ห้องโถงใหญ่และบันไดคอนกรีตที่วนขึ้นไปเป็นก้นหอย นอกจากจะช่วยเชื่อมต่อในมิติทางสายตาและมิติของพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการระบายอากาศตามธรรมชาติ ช่องเปิดและหลังคาวางเท่าที่จำเป็น แต่ส่วนที่สำคัญคือ skylight ในใจกลางช่องว่าง ช่วยดึงแสงธรรมชาติที่เพียงพอลงสู่พื้นที่ใช้งานด้านล่าง ผลลัพธ์ที่ได้คือการตกแต่งภายในที่สะดวกสบาย สว่างไสวแบบแทบไม่จำเป็นต้องเปิดไฟฟ้าใช้ในช่วงกลางวัน พร้อมความเงียบสงบอันน่าทึ่ง

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : อย่างที่เราทราบกันดีว่าบ้านตึกสูงหลายชั้น จะมีข้อด้อยเรื่องแสง เพราะในการก่อสร้างมักจะเทพื้นและเพดานปิดกั้นแบ่งสัดส่วนระหว่างชั้น มีช่องว่างเฉพาะบันไดที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมการสัญจรขึ้นลง ทำให้ส่วนพื้นที่ตรงกลางแสงแทบจะส่องเข้าไปไม่ถึง อากาศภายในบ้านไหลเวียนไม่ดี บรรยากาศภายในจะค่อนข้างทึบและอับในบางจุด สมาชิกในบ้านยังสื่อสารกันได้ยากด้วย วิธีแก้ไขมีหลายวิธี อาทิ การลดพื้นที่เพดานออกสร้างชั้นลอย การทำอาคารแบบเล่นระดับ หรือการเจาะเจาะที่ว่างแนวตั้งแล้วใส่ช่องแสง skylight ด้านบน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่ว่ามาได้ดี สำหรับคนที่กังวลว่าบ้านจะร้อนจากหลังคาโปร่งๆ สามารถเลือกวัสดุโปร่งแสงที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน หรือใส่แผ่นวัสดุฉลุลายให้ช่วยกรองแสงก็ได้

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ตกแต่งบ้าน


โพสต์ล่าสุด