
บ้านญี่ปุ่นสไตล์มินิมอล
ในทางเรขาคณิต “เส้นโค้ง” เป็นหนึ่งรูปแบบให้ความรู้สึกอ่อนไหว สุภาพอ่อนโยน สบาย นุ่มนวล ในขณะที่เส้นตรงจะแข็งกระด้าง มั่นคงแน่นอน ในการสร้างบ้านหากมีเส้นโค้งเข้ามาเป็นส่วนประกอบตรงจุดไหน ก็จะรู้สึกได้ถึงความ soft ของจุดนั้น ยกตัวอย่างให้เห็นกันชัด ๆ ในบ้านหลังนี้ที่มองจากกรอบสี่เหลี่ยมหน้าบ้านก็ดูหนักแน่น แต่กลับมีส่วนที่ชวนให้สะดุดตาตรงที่ซุ้มประตูไม้โค้ง ๆ ที่ทำให้บ้านคอนกรีตธรรมดาดูน่ารักอบอุ่นขึ้นมาทันที
ออกแบบ : Arbol
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านน่ารักกับประตูโค้ง ๆ และผนังลอยตัว
บ้านครอบครัว 3 คนขนาดพื้นที่ใช้สอย 59.48 ตารางเมตรหลังนี้ สถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองฮิกาชิ – โอซาก้า จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ภูมิภาคนี้ยังคงมีวัด บ้านเก่า และร้านค้าแบบเดิม ๆ หลงเหลืออยู่ นักออกแบบจึงเลือกสร้างเป็นอาคารชั้นครึ่งผนังด้านหน้าปิดเป้นส่วนตัวจากถนน หลังคาลาดเอียงสูงขึ้นทางด้านหลัง ด้านหน้าเป็นคอนกรีตมี texture บนผนังตัดด้วยประตูบานโค้งสีน้ำตาล ออกมาเป็นความเรียบง่ายที่ทันสมัยแต่ก็ไม่โดดออกจากบริบทแวดล้อม
ภาพจากด้านข้างอาคารจะเห็นว่าผนังถูกขนาบจากเพื่อนบ้านทั้งสองด้าน มีที่ว่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่รับแสง ทีมงานจึงแก้ปัญหาโดยการตีความองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ด้วยการเพิ่มจุดรับแสงจากด้านบนผ่านช่องว่าง open space ด้านหน้าที่เปิดให้ต้นไม้โตได้ด้วย ส่วนของผนังบ้านที่ปิดทึบนั้นทำหน้าที่เป็นกำแพงปกป้องบ้านไปด้วยในตัว แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าด้านล่างของผนังไม่ได้ติดไปกับพื้นดิน แต่มีช่องว่างให้บ้านได้มีช่องทางหายใจรับแสง รับลม และยังมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้
รับแสงผ่านช่องว่างและผนังกระจก
มุมมองจากตัวบ้านออกสู่หน้าบ้านจะเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องแสงผ่านคอร์ทยาร์ดด้านหน้า ผนังติดประตูกระจกเพื่อให้สามารถสัมผัสแสง ลม และสร้างมุมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้อย่างชัดเจน ผู้อยู่อาศัยจะใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายในเรียบง่ายแต่แปลกใหม่
จากถนนด้านหน้าทางเข้ามาจะเป็นลานบ้าน แล้วต้อนรับด้วยห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร คอร์ทกลางบ้าน ห้องเอนกประสงค์ และห้องนอน ที่เรียงกันไปตามลำดับ
ซุ้มทางเดินโค้ง ๆ สร้างมิติให้บ้าน
เมื่อเข้ามาสู่ตัวบ้านนอกจากจะสัมผัสได้ถึงความโปร่งสว่างจากแสงที่ลอดผ่านผนังกระจกหลาย ๆ ส่วนแล้ว ยังรู้สึกอบอุ่นสบายตาจากการตกแต่งด้วยงานไม้สไตล์มินิมอล ทั้งนี้เราจะเห็นว่าความสูงของบ้านจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากทางเข้าด้านไปสู่ด้านหลังของบ้าน พื้นที่จากพื้นถึงเพดานที่มากขึ้นนี้ทำให้สามารถแบ่งเป็นชั้นลอยเหมือนอาคารสองชั้น มีซุ้มทางเดินคอนกรีตโค้ง ๆ สลับไปมาทำให้เกิดเอฟเฟกต์สามมิติ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
คอร์ทในบ้านเพิ่มธรรมชาติและแสง
ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการออกแบบ เจ้าของบ้านระบุความต้องการชัดเจนว่าอยากได้ “กลิ่นอายทางสถาปัตยกรรมแบบเปรานากันของสิงคโปร์ในบ้านสไตล์ญี่ปุ่น” ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการนำกระเบื้องแบบโบราณมาใช้ปูพื้นภายในบ้าน บริเวณทางเดิน และซุ้มประตูโค้ง ๆ ติด ๆ กับส่วนนี้สถาปนิกเว้นพื้นที่ด้านข้างบ้านเจาะเป็นที่ว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้าจัดสวนส่วนตัวที่ล้อมด้วยผนังกระจก วิธีนี้จะทำให้แสงกระจายเข้าสู่ใจกลางบ้านโดยไม่ทำให้รู้สึกว่าบ้านแคบลง และยังเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติให้บ้านแม้จะมีพื้นที่น้อยก็ตาม สำหรับใครที่กังวลเรื่องบ้านร้อนจากการใช้กระจก ที่นี่เลือกใช้กระจกสูญญากาศจึงป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
ส่วนที่ลึกที่สุดของบ้านเจาะเพดานข้าง ๆ เป็นโถงสูง ซึ่งมีผลให้การระบายอากาศภายในอากาศทำได้ดีขึ้นด้วย แล้วแบ่งพื้นที่ทำเป็นชั้นลอยที่สามารถมองเห็นไปถึงหน้าบ้านในขณะที่ยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่
ตอนกลางวันหากมองผ่าน ๆ อาจจะเห็นไม่ชัดนักว่าผนังบ้านถูกสร้างลอยขึ้นจากพื้น แต่เมื่อยามค่ำมาเยือนแสงไฟที่ส่องสว่างจากในตัวบ้านที่ลอดกระจายออกมาทางด้านล่าง ทำให้เห็นมิติใหม่ของการสร้างบ้านที่ไม่จำเป็นต้องสร้างผนังติดกับพื้นก็ได้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อย หรือมีผนังสองด้านติดกับบบ้านหลังอื่น ๆ เช่น ตึกแถว ทาวน์โฮม มักจะมีปัญหาเหมือน ๆ กันคือ ขาดช่องแสงด้านข้างในใจกลางบ้าน ซึ่งนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ มักจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มช่องแสงในด้านอื่น ๆ เช่นการใส่ skylight รับแสงโดยตรงจากหลังคา หรือการใส่ผนังกระจก เพื่อให้แสงส่องลอดเข้าสู่ตัวบ้านได้ในขณะที่บ้านไม่ดูแคบลงหรืออึดอัด |
แปลนบ้าน