เมนู

บ้านหลังคายักษ์ คลุมยาวเกือบจรดพื้น ต้านได้ทั้งแดดฝน

บ้านสวยในอินโดนีเซีย

บ้านเขตร้อนชื้น

ถ้าพูดถึงบ้านในเขตร้อนชื้น แน่นอนว่าเราจะนึกถึงทั้งความร้อนและความชื้นจากฝน ซึ่งทำให้บ้านต้องการการปกป้องอย่างดี เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านสะดวกสบายภายใต้ชายคา แต่หลังคาจำเป็นต้องปกป้องมากแค่ไหน ชายคาต้องยื่นยาวเท่าไหร่ ก็คงจะขึ้นอยู่กับคำแนะนำของนักออกแบบและความต้องการของเจ้าของเองด้วย เนื้อหานี้เราจะพาไปชมบ้านใน Kannur เขตทางตอนเหนือของรัฐ Kerala ประเทศอินเดีย บริเวณนี้มีสภาพอากาศแบบทะเลชื้น ฝนจะตกหนักในช่วงฤดูมรสุมฤดูร้อน และร้อนจัดในฤดูร้อน หลังคาบ้านจึงต้องทำหน้าที่ปกป้องบ้านให้ดีที่สุดครับ

ออกแบบ : 3dor concepts
ภาพถ่าย : Syam Sreesylam
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านหลังนี้มีชื่อว่า House of Noufal ออกแบบโดยสตูดิโอ 3dor Concepts ในเมืองคานปูร์ สำหรับเจ้าของบ้านที่เป็นนักเดินทางตัวยงและต้องการให้บ้านของครอบครัวสะท้อนความคิดที่เปิดกว้าง มีเอกลักษณ์ และชวนให้ประหลาดในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ตัวอาคารต้องตอบโจทย์สภาพอากาศร้อนชื้นของท้องถิ่นได้ดี จึงเป็นที่มาของบ้านหลังคาโครงสร้างเหล็กมุงแผ่นดินเผาทรงจั่ว ในองศาลาดเอียงสูงชายคายาวคลุมยาวลงมาเกือบจรดพื้น เหมือนเป็นหลังคาขนาดยักษ์กำบังฝนที่ตกหนักและแสงแดดจ้า ในขณะที่ให้รูปลักษณ์ที่โดดเด่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ห้องนั่งเล่นเปิดเชื่อมต่อสวน

ทีมงานเริ่มต้นด้วยแนวคิดในการออกแบบบ้านที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เข้ากับสถาปัตยกรรม Kerala แบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นบ้านเขตร้อนที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศได้อย่างเหมาะสม

โต๊ะรับประทานอาหาร

ด้านหลังโซฟายาวในห้องนั่งเล่น มีชุดรับประทานอาหารไม้แบบดั้งเดิมตั้ง อยู่กับผนังหินที่ตัดกันอย่างสวยงาม ม้านั่งรับประทานอาหารรองรับจำนวนแขกได้อย่างยืดหยุ่น

มุมนั่งเล่นในคอร์ทกลางบ้าน

การวางแปลนบ้านทำในสามระดับที่แตกต่างกัน ตามความลาดเอียงของหลังคา เพื่อให้มองเห็นแต่ละชั้นได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำพื้นที่สูงสองเท่าและลานขนาดใหญ่ตรงใจกลางบ้าน ลาน ยังทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ มีห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารอยู่ด้านหนึ่ง ห้องครัวและห้องนอนอยู่อีกด้านหนึ่งที่เป็นส่วนตัวขึ้น สถาปนิกใส่ช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ชั้นล่าง รวมถึงผนังกระจกสูงเต็มความสูงที่ปลายทั้งสองด้านของลาน เชื่อมต่อภายในกับสวนและปล่อยให้สายลมช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติ

พื้นปูนเปลือย

การฝังอินเลย์เพิ่มรายละเอียดที่สะดุดตาให้กับพื้นคอนกรีต

จัดสวนในบ้านใต้บันได

ก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ถูกวางไว้ในลานบ้าน โดยมีบันไดลอยอยู่ด้านบน ต้นไม้สีเขียวรอบๆ ลานบ้านและม้านั่งยาวที่บิลท์ติดระหว่างเสากลมสองเสา ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดสนใจ และมักใช้เป็นพื้นที่สำหรับสังสรรค์ในบรรยากาศที่เหมือนยกกลางแจ้งมาเก็บไว้ในบ้านแบบ insideout-outside in

ผนังและหลังคากระจก

เมื่อยืนอยู่กลางลานเงยหน้าขึ้นไป จะเห็นว่าหลังคาพื้นผิวกระเบื้องดินเผาถูกขัดจังหวะด้วยวัสดุโปร่งใส ซึ่งช่วยให้แสงแดดสาดส่องเข้ามาในลานกว้างสูง 2 เท่ากลางบ้านได้พอดี

บ้านหลังคาจั่วโชว์โครงสร้างหลังคา

ชั้นลอยทำให้บ้านมีระดับที่สาม ซึ่งลดระดับลงใต้จันทัน ชั้นวางไม้ติดผนังแสดงคอลเลกชันของแจกันตกแต่งขนาดเล็กทำมือ

ห้องนอน

ส่วนของวัสดุก่อสร้าง นอกจากสถาปนิกจะจัดหากระเบื้องพื้นเมืองสำหรับมุงหลังคาและโครงเหล็กเพื่อรองรับโครงสร้างแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่นำเสนอกลิ่นอายแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เช่น ประตูบานเกล็ดไม้ใน Kerala สไตล์ดั้งเดิมที่ด้านหน้าอาคาร และพื้นคอนกรีตพร้อมงานตกแต่งฝังพื้น  พรมปอกระเจาธรรมชาติในห้องนั่งเล่น เฟอร์นิเจอร์เก่าถูกจัดหาและทำขึ้นใหม่ด้วยรายละเอียดแบบดั้งเดิม

ในตอนกลางคืน แสงภายในบ้านสาดส่องผ่านบานเกล็ดไม้อย่างอบอุ่น ขับเน้นเฉลียงที่เปิดโล่งราวกับโคมไฟอันยอดเยี่ยม

บรรยากาศบ้านยามค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : หลังคาที่มีความลาดชันสูง จะช่วยให้การระบายน้ำฝนบนหลังคาทำได้รวดเร็วขึ้น การออกแบบรูปทรงหลังคาให้เป็นจั่ว ความสูงจากพื้นถึงเพดานมากกว่าปกติจะช่วยให้การถ่ายเทความร้อนจากหลังคาลงสู่พื้นที่ใช้ชีวิตข้างล่างอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในทางกลับกันหากมีโถงสูงและใส่ช่องทางระบายความร้อนที่ลอยตัวขึ้นสูงจะทำให้บ้านเย็นเร็วขึ้น หน้าต่างประตูในบ้านก็ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะรับลมและระบายความร้อนควบคู่กัน  ขณะเดียวกันบ้านเขตร้อนชื้นยังคงต้องการแสงธรรมชาติ จึงควรใส่หน้าต่างและช่องแสงสกายไลท์ในจุดที่เหมาะสมจะไม่ทำให้บ้านร้อน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคอล


โพสต์ล่าสุด