เมนู

“ทำอย่างไร เมื่อเชื้อรายึดบ้าน” เคล็ดลับวิธีรับมือความชื้นให้อยู่หมัด

วิธีรับมือเชื้อรา

เคล็ดลับลดชื้นให้บ้าน

ประเทศไทยอยู่ในเขตสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น นั่นหมายถึงมีทั้งความร้อนและความชื้น แต่สิ่งที่เจ้าของบ้านเกือบ 90 % จะโฟกัสความสนใจไปที่จัดการเรื่องความร้อนในบ้านมากกว่าความชื้น ซึ่งข้อนี้ “บ้านไอเดีย” เข้าใจได้ดี เพราะอากาศร้อนบ้านเรารุนแรงนานหลายเดือน จนอาจละเลยปัญหาความชื้นภายในบ้านไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีทั้งบ้านก็ถูกเชื้อรายึด เฟอร์นิเจอร์ชื้นเสียหายทั้งหลัง หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาบ้านชื้นไม่ได้มีผลเสียต่อบ้าน ทำให้อายุของโครงสร้างสั้นลงเท่านั้น แต่ยังมีผลกับสุขภาพผู้อยู่อาศัยในระยะยาวด้วย สำหรับคนที่ยังไม่สร้างบ้านก็อาจเตรียมการรับมือได้ง่าย แต่ในบ้านที่สร้างเสร็จแล้วมีคำถามว่า แล้วเราจะจัดการกับปัญหาบ้านชื้นอย่างไร เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” มีคำตอบมาให้ครับ

เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านชื้น

บ้านแห้ง บ้านชื้น ทำไมจึงสำคัญ

ทำไมบ้านชื้นจึงสำคัญและไม่ควรมองข้าม ต้องบอกว่านอกจากความรู้สึกร้อนหรือหนาวแล้ว ความชื้นความแห้งยังมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเราด้วยครับ เพราะเราทุกคนสูดอากาศหายใจเอาความแห้งหรือความชื้นเข้าไปตลอดเวลา สัดส่วนระหว่างอากาศและไอน้ำจึงควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ลองเปรียบเทียบดูว่าในห้องนอนที่อากาศแห้งเกินไป เมื่อสูดหายใจจะแสบโพรงจมูก บางคนเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก ดวงตามีปัญหาน้ำตาแห้งกว่าปกติ แต่ถ้าชื้นเกินไป  ความชื้นมีส่วนให้เกิดการก่อตัวของเชื้อไวรัสในอากาศได้ง่าย กระตุ้นให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ การหายใจเข้าออกในบ้านชื้นขึ้นรานาน ๆ เป็นอันตรายมาก เนื่องจากการที่สปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ปอด สามารถทำให้เกิดโรคหวัดเรื้อรัง หรือนำไปสู่โรคปอดบวม น้ำท่วมปอด โรคไขข้อและอื่น ๆ ได้ครับ

ความชื้นในอากาศที่เหมาะสมคือเท่าไร

แล้วความชื้นในอากาศเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ความชื้นในอากาศ คือ สภาวะที่อากาศมีไอน้ำปะปนอยู่ ถ้าในอากาศมีปริมาณไอน้ำปะปนอยู่มาก แสดงว่าอากาศมีความชื้นมาก ส่วนความชื้นสัมพันธ์ (relative humidity, RH)  คือ อัตราส่วนโดยมวลของไอน้ำในอากาศในขณะหนึ่ง ต่อไอน้ำสูงสุดที่อากาศจะสามารถแบกรับไว้ได้ ตรงนี้อาจเข้าใจยาก สรุปง่าย ๆ คือ ความชื้นสัมพันธ์ที่มนุษย์ “รู้สึกสบาย” จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40 % RH – 60 % RH เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ 18-25 องศาเซลเซียส  ทั้งนี้ความชื้นสัมพัทธ์ของประเทศไทยจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70-85 % ต่อปี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นค่าที่สูงมากพอสมควร และบ้านบางหลังสร้างริมน้ำ หรืออยู่คอนโดมีช่องเปิดเล็ก ๆ ค่าความชื้นตลอดปีมากถึง 60-80 % นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดเชื้อราได้มากขึ้นและเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ตามมา

บ้านชื้น

รู้ได้อย่างไรว่าบ้านชื้น (เกินไป)

เราสามารถวัดความชื้นในบ้านได้จากอุปกรณ์ที่เรียกว่าไฮโกรมิเตอร์ แต่อุปกรณ์นี้ราคาหลายพันบาท ซึ่งอันที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดก็ได้ เพราะสามารถรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสว่าบ้านมีความชื้นอยู่  สังเกตง่าย ๆ จากความรู้สึกว่าผิวมีความชุ่มชื้น บ้านเย็นสบาย แต่ถ้าความชื้นมีมากเกินไป จะมีสัญญาณบ่งชี้ที่เห็นชัดเจนมากกว่านั้น เพราะความชื้นจะมีผลต่อการระเหยของน้ำและการควบแน่น ตัวอย่างเช่น ในบ้านที่มีกระจกจะมีไอน้ำหยดน้ำเกาะ ตากเสื้อผ้าทิ้งไว้แล้วแห้งช้า ผนังบ้านมีรอยด่างน้ำสีลอกล่อน ภายในบ้านเริ่มมีกลิ่นแปลก ๆ ฟูกที่นอนชื้นเหม็นอับ เฟอร์นิเจอร์และของใช้ที่เป็นเหล็กมีสนิมผุกร่อน งานทำจากหนังทยอยขึ้นเชื้อราเสียหาย เป็นต้น

สาเหตุใดบ้างที่ทำให้บ้านชื้น

ไม่เพียงแต่ปัจจัยเกี่ยวกับฤดูกาลเท่านั้นที่ทำให้บ้านชื้นได้ ข้อบกพร่องที่เกิดจากการก่อสร้าง รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันก็มีส่วนทำให้บ้านชื้นได้มากเท่า ๆ กัน ดังนี้

  1. มีการแตกร้าวของผนัง โดยเฉพาะตรงช่วงวงกบประตู หรือหน้าต่าง อาจทำให้น้ำฝนไหลเข้ามาด้านในตัวบ้าน และดูดซับน้ำเอาไว้ทำให้เกิดความชื้นในผนังได้
  2. ท่อน้ำรั่ว ท่อน้ำที่เดินไว้ภายในบ้านเกิดการรั่ว มีน้ำซึมอยู่ตลอดเวลา หรือรางน้ำฝนรั่ว มีเศษใบไม้กิ่งไม้ขวางทางระบายน้ำ ทำให้มีน้ำฝนกระเซ็นเกิดความชื้นบนผนังบ้าน
  3. การปิดห้องไว้ตลอดเวลา และมีอุปสรรคในการเดินทางของเแสง เช่น มีตู้หรือฉากบังทำให้แสงแดดส่องเข้าไปไม่ถึงจุดที่บ้านต้องการ
  4. ช่องแสงและช่องเปิดในบ้านมีไม่เพียงพอ การติดตั้งช่องแสงขนาดเล็กในทิศทางอับแสงและลม ทำให้บ้านการระบายความชื้นได้ยากจนเกิดความชื้นสะสม
  5. รอบ ๆ บ้านมีต้นไม้มากเกินไป การคายน้ำของพืชมีส่วนทำให้เกิดความชื้นในอากาศได้สูง ยิ่งฝนตกชุกยิ่งทำให้ดินอุ้มน้ำไว้ได้มาก หากต้นที่มีพุ่มใบหนาแสงแดดส่องไม่ถึงหน้าดิน ถ้ามาประกอบกับไม่มีช่องทางระบายน้ำจะยิ่งทำให้บ้านชื้นเป็นจุดสะสมของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
  6. ห้องน้ำอยู่ในจุดที่อับแสงอับลม ไม่เปิดประตูออกระบายอากาศ มีสมาชิกในบ้านใช้งานตลอดเวลาโดยไม่เช็ดพื้นให้แห้ง หรือไม่ได้แยกโซนแห้งโซนเปียก ทำให้ทุกครั้งที่ใช้งานห้องน้ำจะสะสมความชื้นเอาไว้เรื่อย ๆ
  7. พื้นที่ซักและล้างไม่มีช่องทางระบายอากาศเพียงพอ แสงธรรมชาติส่องเข้าไม่ถึง
  8. บ้านเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง เคยมีประวัติน้ำท่วมมาก่อน

เคล็ดวิธีแก้ปัญหาความชื้น 

การแก้ปัญหาบ้านชื้นทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดความชื้น แต่ในบางครั้งการสะสมความชื้นในบ้านมีที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ กัน เมื่อยังไม่ทราบแน่ชัดก็อาจจะลองพิจารณาและแก้ไขควบคู่กันไป ดังนี้

จัดการระบายอากาศ เพิ่มช่องเปิด ไม่ปิดบังทางลม

  • อย่าปิดกั้นช่องระบายอากาศ ทำห้องให้โปร่งที่สุด ลดเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การแลกเปลี่ยนอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีตู้ขนาดใหญ่หรือฉากกั้นปิดทางลมให้ขยับออกหาที่วางใหม่ ต้นไม้ใหญ่ใบหนาบังทิศทางแสงและลมควรตัดทิ้งหรือตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง
  • ถ้าพบว่าบ้านมีหน้าต่างขนาดเล็ก จำนวนหน้าต่างน้อยเกินไป หรือมีแต่ช่องทางรับอากาศเข้าไม่มีทางให้ระบายออก ควรเจาะช่องเปิดในทิศทางเยื้องกันให้อากาศไหลเข้าออกผ่านตัวห้องหรือตัวบ้านได้ดีขึ้น ในกรณีที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเจาะช่องเปิดใหญ่ ๆ ได้ การใช้วิธีติดตั้งพัดลมดูดอากาศบนผนังด้านข้าง หรือการติดระบบระบายอากาศเร่งการเคลื่อนที่ของอากาศออกจากโถงหลังคาก็เป็นอีกแนวคิดที่ดี

ลดพื้นที่เปียกชื้น พยายามทำบ้านให้แห้งที่สุด

  • พยายามมองหาช่องว่าง รู รอยแตกบนผนัง วงกบประตูหน้าต่าง แล้วอุดปิดซ่อมแซมให้เรียบร้อย ผนังที่ รวมทั้งกวาดรางน้ำฝนไม่ให้มีฝุ่น ใบไม้ขวางทางเดินของน้ำก่อนฤดูฝนจะมาถึง
  • เปิดประตูหน้าต่างห้องในวันที่มีแสง เพิ่มพัดลมเป่าให้ลมผ่านห้องช่วนขจัดความชื้นส่วนเกินในอากาศ
  • อย่าตากเสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดตัวเปียกในห้องที่ชื้นอยู่แล้ว
  • ห้องน้ำควรแยกโซนแห้งโซนเปียก ลดพื้นที่และช่วงเวลาห้องน้ำชื้นให้เหลือเฉพาะช่วงอาบน้ำ หลังใช้งานเสร็จควรใช้ไม้รีดน้ำและผ้าแห้งเช็ด แล้วเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้ทุกครั้ง เพื่อให้พื้นและผนังแห้งเร็วขึ้น
  • ช่วงที่ฝนตกชุกอย่าลืมปิดหน้าต่าง เพื่อไม่ให้น้ำฝนกระเซ็นเข้ามาเพิ่มความชื้นในบ้าน หากกันสาดด้านนอกสั้นไปควรปรับปรุงเปลี่ยนใหม่ให้กันฝนได้ดีขึ้น
  • ลดการถูพื้นบ้านด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเปียกโชก ให้เปลี่ยนเป็นการผสมน้ำยาถูพื้นในกระบอกฉีดเพียงบางจุด แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ด หรือใช้ไม้ม็อบแบบดันฝุ่นแทน
  • ในโซนนอกบ้านที่แสงแดดส่องไม่ถึง สังเกตเห็นว่าบริเวณนั้นมีความชื้นและตะไคร่น้ำ ไม่ควรมีตู้ปลา น้ำพุ น้ำตก หรือองค์ประกอบที่จะเพิ่มความชื้นอีก
  • ตรวจสอบรอบบ้านว่าการระบายน้ำดีหรือไม่ หากพบสิ่งอุดตันหรืออุปสรรคขวามการระบายจนเกิดน้ำขังให้รีบปรับปรุงให้เรียบร้อย
  • อย่าลืมกำจัดสิ่งของที่เป็นแหล่งสะสมความชื้นและเกิดเชื้อราได้ง่ายออกไปจากห้อง เช่น หนังสือพิมพ์เก่าๆ ลังกระดาษ ตู้ไม้อัด ส่วนของใช้ที่มีเชื้อราแล้วแก้ไขไม่ได้ให้ตัดใจทิ้ง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้เชื้อราจะเจริญเติบโตได้อีก

ลดพืชอุ้มน้ำ เลือกปลูกพืชดูดซับความชื้น

  • ลดการปลูกพืชที่ต้องรดน้ำบ่อยและรากรักษาความชื้นได้ดี เช่น มอส เฟิร์น หญ้าตกแต่งสนาม ต้นกล้วย
  • ตัดแต่งต้นไม้บริเวณรอบ ๆ บ้านไม่ให้ใบรก เพื่อเปิดพื้นที่ให้แสงธรรมชาติสามารถส่องถึงพื้นดินและบริเวณรอบบ้านได้
  • ในกรณีที่ต้องการปลูกต้นไม้ในตัวบ้าน ให้เลือกต้นที่ต้องการน้ำน้อย และมีคุณสมบัติดูดความชื้น หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจเพราะปกติแลวพืชต้องคายความชื้น แต่มีต้นไม้บางชนิดที่สามารถดูโซับความชื้นได้ อาทิ ทิลแลนด์เซีย (Tillandsia) , เดหลีใบใหญ่ (Peace Lily) , เศรษฐีเรือนใน (Anthericaceae) เป็นต้น

ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยลดชื้น

บ้านหลายหลังอยู่ริมแม่น้ำหรือบนภูเขาที่มีความชื้นสูงเป็นปกติอยู่แล้ว การจัดการระบายอากาศและลดพื้นที่เปียกชื้นก็อาจไม่ช่วยอะไรมาก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นตัวช่วย

  • เครื่องปรับอากาศ (Air Conditioner) ระบบเครื่องปรับอากาศในอาคารมักสามารถควบคุมความชื้นในอากาศได้ด้วย บางรุ่นมีโหมด I Feel ที่เครื่องจะปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในเวลานั้น และสามารถตั้งค่าเครื่องวัดความชื้นไว้ ถ้าฝนตกความชื้นสูงเครื่องปรับอากาศจะเปลี่ยนโหมดการทำงานให้อัตโนมัติ แต่ถ้ายังรู้สึกถึงความชื้นให้เปลี่ยนเป็น Dry Mode ที่เป็นรูปหยดน้ำ โหมดนี้จะช่วยไล่ความชื้นได้เวลามีฝนตก แต่ทั้งนี้ต้องหมั่นสังเกตการทำงานของแอร์ด้วยนะครับ เพราะมีบางกรณีที่เปิดแอร์ 25 องศาแต่วัดค่าความชื้นได้สูงถึง 70 % อาจต้องปรับลดอุณหภูมิลงและเปลี่ยนโหมด Dry ควบคู่กัน

  • เครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier) แบบควบคุมความชื้น ปัจจุบันเครื่องฟอกอากาศกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยเฉพาะช่วงที่เต็มไปด้วยควันพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งเครื่องฟอกอากาศ Series ใหม่ ๆ จะมีฟังก์ชันการควบคุมความชื้นในอากาศแบบ 2in1 เพิ่มความชื้นและขจัดความชื้นในตัว บางแบรนด์เครื่องจะทำงานด้วยการควบแน่นความชื้นกลั่นเป็นน้ำเก็บในถังได้เลย

เห็นไหมครับว่าหากเราหันมาใส่ใจเรื่องความชื้นในอากาศ จะพบว่ามีความสำคัญไม่แพ้เรื่องบ้านร้อนเลย เผลอ ๆ อาจกระทบมากกว่าด้วยซ้ำ บางคนรู้สึกเหมือนป่วยเป็นภูมิแพ้ตลอดเวลา โดยไม่รู้ที่มาว่าสาเหตุคือการอยู่อาศัยในบ้านที่อับชื้นนานเกินไป หากเราแก้ไขได้สุขภาพของทั้งบ้านและคนชีวิตก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามการป้องกันเป็นหนทางที่ดีที่สุด ก่อนสร้างบ้านควรปรึกษากับสถาปนิกให้ดี เพื่อศึกษาทิศทางการเดินทางของแสงประจำวัน ลมประจำปี เพื่อกำหนดที่ตั้งและขนาดช่องเปิดให้เหมาะสมด้วยครับ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด