เมนู

5 แนวคิด บ้านหน้าแคบ ออกแบบอย่างไร ไม่อึดอัด

ออกแบบบ้านหน้าแคบ

วิถีการสร้างบ้านในเขตชุมชนเมือง นิยมบ้านลักษณะหน้าแคบ แต่ลึก เนื่องด้วยราคาที่ดินในเมืองมีราคาสูงมาก การแบ่งซอยพื้นที่เล็ก ๆ จึงสามารถขายได้ง่ายกว่าที่ดินผืนใหญ่ ปัจจุบันเราจึงเห็นบ้านลักษณะทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านเดี่ยวที่สร้างบนที่ดินแคบ ๆ จำนวนมาก ซึ่งหากย้อนดูสถาปัตยกรรมยุคเก่าจะเห็นได้ว่า บ้านลักษณะหน้าแคบแต่ลึกจะเป็นบ้านที่ถูกปิดทึบด้วยผนังทั้ง 2 ด้าน ส่งผลให้การใช้ชีวิตภายในบ้านรู้สึกอึดอัด คับแคบ จำเป็นต้องเปิดไฟตลอดทั้งวัน และยากยิ่งที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ

ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมาก ความต้องการดื่มด่ำกับธรรมชาติ สายลม แสงแดด มีมากขึ้น ประจวบกับเทคโนโลยี นวัตกรรมวัสดุ และงานสถาปัตยกรรมได้มีการพัฒนามากขึ้น รูปแบบบ้านหน้าแคบจึงได้มีการพัฒนาฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับบ้านหน้าแคบได้อย่างสมบูรณ์ จะมีแนวทางใดให้ประยุกต์ใช้กันบ้าง อ่านรายละเอียดกันได้เลยครับ

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
สนับสนุนโดย : Punplan

บ้านสามชั้น หน้าแคบ ในเมือง

จุดสำคัญของความรู้สึกอึดอัดที่เกิดขึ้นในบ้านหน้าแคบ คือการถูกปิดทึบด้วยผนังทั้ง 2 ด้าน วิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ดีที่สุด คือการออกแบบบ้านให้สามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ พร้อมกับออกแบบให้มีผนังเปิดโปร่ง แต่การเปิดโปร่งแบบทั่วไปนั้นทำได้ยาก เนื่องด้วย พรบ.ควบคุมอาคารได้กำหนดระยะร่นอาคาร ซึ่งหากออกแบบให้เปิดโปร่ง จะต้องเว้นระยะร่นด้านดังกล่าว 2 เมตรขึ้นไป ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ ที่แคบอยู่แล้ว ยิ่งเหลือน้อยลงยิ่งกว่าเดิม ทั้ง 5 แนวทางนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กับการทำตามกฎหมายควบคุมอาคารครับ

1. ยอมสละพื้นที่ใช้สอยอีก 50 เซนติเมตร

ตามกฎหมายระยะร่นของไทย อนุญาตให้สามารถร่นระยะอาคารได้น้อยสุดที่ 50 เซนติเมตร โดยบริเวณดังกล่าวจะต้องออกแบบในลักษณะผนังทึบ กรณีออกแบบโปร่ง มีช่องแสง ช่องลม จำเป็นต้องร่นระยะอาคาร 2 เมตรขึ้นไป การออกแบบบ้านในที่ดินหน้าแคบส่วนใหญ่จึงออกแบบในลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม ปิดทึบด้านข้างทั้งสองด้าน ซึ่งส่งผลให้ภายในบ้านมืด อับแสง

ระยะร่น เปิดช่องแสง



เมื่อวิเคราะห์จากข้อกฎหมายระยะร่นแล้ว การกำหนดระยะร่นจะอิงตามด้านขนายของขอบที่ดินในด้านนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงการเปิดช่องแสงในด้านตั้งฉาก ดังตัวอย่างในภาพประกอบนี้ ผังห้องที่ติดกำแพง จะต้นเว้นระยะร่นอย่างน้อย 50 เซ็นติเมตร แต่ผนังที่หันไปทางหน้าบ้านจะไม่ได้อิงจากขอบที่ดินด้านขวามือ จึงสามารถเปิดช่องแสงได้ โดยผู้ออกแบบอาจจะเว้นระยะร่นในบางส่วนเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร เพื่อเว้นพื้นที่ไว้สำหรับทำช่องแสง ช่องหน้าต่าง เพียงเท่านี้ก็สามารถเปิดรับแสงให้ห้องดังกล่าวได้แล้วครับ

2. สวนนอกบ้านพื้นที่ไม่พอ งั้นยกมาไว้ข้างในเลย

สำหรับที่ดินแคบ ๆ ในตัวเมือง หากต้องเว้นพื้นที่ไว้เพื่อการจัดสวน จะเหลือพื้นที่ให้สร้างบ้านลดน้อยลงมาก แต่นั่นอาจไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนัก เพราะจุดหลักของการสร้างบ้านในเมืองที่วุ่นวาย การมีสวนหน้าบ้านนั้นแทบจะไม่ได้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว และไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การออกแบบสวนไว้ในบ้าน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “คอร์ทในบ้าน” เป็นอีกแนวทางที่สามารถเติมเต็มธรรมชาติมาไว้ภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และบ้านยังได้รับแสงสว่างแม้ผนังบ้านจะปิดทึบก็ตาม

สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการจัดสวนภายในบ้าน คือการเลือกพันธุ์ไม้ที่ใบร่วงน้อย กินน้ำน้อย และต้องมั่นใจได้ว่า เราสามารถดูแลสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นภาระในการดูแลบ้านครับ หรือหากที่ดินของใคร มีลักษณะแคบ แต่ลึก การทำสวนส่วนตัวไว้หลังบ้าน นับเป็นอีกไอเดียที่เหมาะสำหรับบ้านหน้าแคบเลยครับ

คอร์ทในบ้าน

3. เปิดผนังติดระยะร่น งั้นเปิดหลังคาแทนซิ

การรับแสงสว่างตามความเคยชินในการออกแบบบ้านทั่วไป นิยมรับผ่านทางช่องแสงผนังกระจก ช่องหน้าต่าง จนอาจลืมไปว่า ด้านบนหรือหลังคาบ้านก็สามารถรับแสงสว่างได้ การทำหลังคา Sky Light ในตำแหน่งที่ต้องการแสง จึงสามารถเปลี่ยนบ้านหน้าแคบของเราให้ดูโปร่งกว้างได้อย่างน่าอัศจรรย์

เทคนิคนี้สถาปนิกนิยมนำมาใช้ร่วมกับ โถงบันได ทางเดิน ห้องน้ำกึ่ง Outdoor หรือแม้แต่ภายในห้องนอนก็สามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ได้ครับ จุดที่ต้องระวังเป็นอย่างมากสำหรับการทำหลังคา Sky Light ในประเทศไทย จำเป็นต้องเลือกกระจกที่สามารถป้องกันแสง UV และกันความร้อนได้ เพื่อให้บ้านได้รับแสงสว่าง แต่ไม่นำพาความร้อนครับ

หลังคา Sky Light รับแสงในบ้าน

ช่องแสงจากหลังคา ช่วยให้บันไดสว่างทั้งวัน โดยไม่ต้องเปิดไฟ

ออกแบบห้องนอนให้รับแสง

ไม่เพียงแค่พื้นที่ทางเดิน ห้องนอนก็สามารถใช้ไอเดียนี้ได้ครับ

4. โปร่ง แต่ก็ยังปลอดภัยและเป็นส่วนตัว

สำหรับพื้นที่บางส่วนที่สามารถเว้นระยะร่นได้ เช่น หน้าบ้าน หลังบ้าน การออกแบบให้โปร่ง รับแสงตลอดทั้งวัน จำเป็นต้องออกแบบด้วยวัสดุกระจก แต่นั่นอาจส่งผลให้ความเป็นส่วนตัวหายไป และอาจส่งผลด้านการอยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัยนัก แต่หากจะทำเหล็กดัดก็อาจส่งผลให้บ้านสวยกลายเป็นบ้านโบราณไปในพริบตา

ปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้ไม่ยากครับ เพียงออกแบบเปลือกอาคารภายนอกด้วย facade ที่สวยงาม หรือเลือกใช้ระแนง, บล็อกคอนกรีตที่แข็งแรงมาปิดกั้นความเป็นส่วนตัว พร้อมกับออกแบบประตูกระจกบานเลื่อน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกระจกบานใหญ่ ในวันที่อากาศดี ๆ สามารถเปิดรับลมธรรมชาติได้อย่างผ่อนคลาย ในขณะเดียวกัน สามารถเปิดทิ้งไว้ได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยครับ

5. เลือกชิดด้านใด ด้านหนึ่ง

บ้านเดี่ยวทั่วไปที่มีขนาดที่ดินประมาณ 15-20 เมตร นิยมวางผังบ้านไว้บริเวณกึ่งกลางที่ดิน พร้อมกับเว้นระยะร่นด้านละ 2 เมตร ตามกฎหมายกำหนด แต่สำหรับที่ดินหน้าแคบ การเว้นระยะร่นในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลให้ไม่เหลือพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ที่ดินขนาด 10 เมตร เมื่อเว้นระยะร่นแล้วจะเหลือพื้นที่สร้างอาคารเพียง 6 เมตรเท่านั้น การเลือกเว้นด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อใช้เป็นพื้นที่สวน พื้นที่โปร่ง พร้อมกับออกแบบให้พื้นที่ฝั่งตรงข้ามเป็นลักษณะผนังทึบ เพื่อสามารถเว้นระยะร่นด้านข้างเพียง 50 เซนติเมตร วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดพื้นที่ว่างนอกอาคารมากขึ้น ใช้งานจริงได้ดีกว่าเดิม

ส่วนภายในด้านผนังทึบ เหมาะกับออกแบบไว้เป็นพื้นที่บันได โดยบ้านหน้าแคบจะเหมาะกับการออกแบบบันไดตรง ขึ้นลงตามแนวลึก หรือใช้สำหรับห้องน้ำ ห้องเก็บของ ยิ่งหากผนังด้านดังกล่าวอยู่ฝั่งทิศตะวันตกหรือทิศใต้ จะยิ่งเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะจะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ดีอีกด้วยครับ

ช่องแสงหลังคา ส่องบันได

สำหรับแนวคิดในการออกแบบบ้านหน้าแคบดังกล่าวนี้ “บ้านไอเดีย” ขอขอบคุณ สถาปนิกจาก บริษัท ปันแปลน จำกัด เป็นผู้ให้คำแนะนำแนวทางในการออกแบบ ผู้อ่านที่ต้องการสร้างบ้าน ออกแบบบ้านใหม่ตามโจทย์และงบประมาณ ออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับที่ดินของเราเอง เหมาะสมทั้งด้านทิศทางลม แสงแดด สภาพภูมิอากาศและหลักฮวงจุ้ย ให้บ้านแลดูมีเอกลักษณ์ โดดเด่นลงตัวไม่ซ้ำใคร ปรึกษาสถาปนิกปันแปลนได้เลยครับ

fbfacebook.com/punplan | Line ID : @Punplan

แปลนบ้าน ที่ดินหน้าแคบ แต่ลึก

คลิกที่ภาพใดๆ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่ทั้งหมด

สถาปนิก Punplan ออกแบบบ้านหน้าแคบ 8 เมตร Line ID : @Punplan

บ้านหน้าแคบ มีคอร์ตในบ้าน เปิดโปร่งด้านข้าง Line ID : @Punplan

บ้านหน้าแคบ 10 เมตร

แบบบ้านหน้าแคบ ฟังก์ชัน Double Space Line ID : @Punplan

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด