บ้านสไตล์ทรอปิคอลในอินเดีย
บ้านในฝันในความคิดของบางคนอาจจะชอบความใหม่กริบ แต่กับบางคนกลับต้องการมากกว่า เหมือนบ้านของ Mr. Rajeev และครอบครัว ในเมือง Palakkad รัฐ Kerala ชื่อโปรเจ็ค ‘IDANAZHI’ ภาษาภูมิภาคหมายถึง “ทางเดิน” ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของสถาปัตยกรรม Kerala แบบดั้งเดิมในอินเดียตอนใต้ เน้นความโดดเด่นของงานช่างไม้ที่เรียกว่า Thachu Shastra และศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างโบราณ Vastu Shastra (วาสตุศาสตร์) มีลานภายในที่โปร่งโล่งในใจกลาง แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือการผสมผสานความวัสดุและฟังก์ชันใหม่ๆ เข้าไปอย่างลงตัวสอดรับกับสภาพอากาศร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี
ออกแบบ : i2a Architects
ภาพถ่าย : Turtlearts Photography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านสองชั้นมีพื้นที่ 222 ตารางเมตรที่เต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อนหลังนี้ ออกแบบโดยอ้างอิงกับรูปแบบบ้านท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งลักษณะเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมสไตล์เกรละคือ หลังคาที่ทนต่อลมมรสุมเพราะมีความยาวและเป็นหน้าจั่วสูงลดหลั่นกัน มีเสาสูงคอยทำหน้าที่ค้ำยันส่วนวัสดุจะผสมผสานระหว่างไม้ กระเบื้องดินเผา และอิฐ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นทำให้เกิดความสมดุลที่กลมกลืนกับภูมิทัศน์โดยรอบ แต่สิ่งที่ต่างไปในบ้านนี้จะนำวัสดุใหม่ๆ เข้ามาใช้และปรับดีไซน์ให้ทันสมัยขึ้น เช่น หลังคาแบบองศาไม่เท่า ดูแล้วเหมือนบ้านแบบล้านนาประยุกต์ ไทยประยุกต์บ้านเรานี่เอง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ทางเข้าด้านหน้ามีปาทิพปุระ (Padippura) ซึ่งเป็นทางเข้าบ้านอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยซุ้มประตูที่เปิดลึกยาวนำไปสู่ส่วนหลักของบ้านโดยตรง ซึ่งแบบดั้งเดิมบางที่ไม่มีประตู แต่ที่นี่ปรับเปลี่ยนในเวอร์ชันที่ทันสมัยขึ้นด้วยการลดทอนรายละเอียด ใช้ผนังปูนเปลือยและติดตั้งประตูทางเข้าไม้ขนาดใหญ่ เพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวรอบสวนด้านหน้า
ถัดไปเป็น Poomukham หรือเฉลียงทางเข้าหมายถึง พื้นที่ภายในบ้านแห่งแรกของบ้าน Kerala แบบดั้งเดิม มีลักษณะเป็นมุขมีหลังคากระเบื้องคลุมที่ยื่นออกมา มีบันไดค่อยๆ นำทางขึ้นไปหน้าบ้านต่อเชื่อมกับเฉลียงโปร่งๆ โล่งๆ
การจัดแปลนบ้านแบบ vastu Shastra จะแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 9 ส่วน แต่ละส่วนแต่ละทิศจะกำหนดฟังก์ชันเอาไว้ เช่น ตรงใจกลางบ้านควรจะให้ลมผ่านหรือเป็นที่โล่งๆ (ธาตุลม) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านควรเป็นครัว (ธาตุไฟ) และทิศตะวันตกเฉียงใต้ควรเป็นห้องนอนใหญ่สำหรับคู่บ่าวสาวใหม่ เพราะเชื่อว่าเป็นตำแหน่งของความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการขยัยขยายครอบครัว เป็นต้น
จากรูปแบบการวางแปลนบ้านตามภูมิปัญญาเก่าแก่ เมื่อนำมาจัดในบ้านนี้ จึงทักทายการมาถึงด้วยพื้นที่ว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้า (open space) แต่ที่พิเศษขึ้นคือมีความสูงเป็นสองเท่าจากบ้านทั่วไป จัดเป็นโซนนั่งเล่นขนาบด้วยสระน้ำสองด้าน ผนังห้อมล้อมด้วยคอนกรีตสีเทาดิบตัดกันกับหลังคากระเบื้องดินเผาและอิฐสีแดง นอกจากนี้ยังมีผนังช่องลมที่ทำจากอิฐดินเหนียวช่วยให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้าไปในทางเดินหลัก การเล่นแสงจะเปลี่ยนไปตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ซึ่งสร้างเอฟเฟกต์ของ Texture แสง และเงาที่น่าสนใจ
นอกจากลานกลางที่สำคัญของบ้านสไตล์ Kerala แบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีการการออกแบบลานภายในที่มีขนาดเล็กลงซึ่งโผล่ออกมาจากใต้บันไดที่ดูทันสมัยขึ้นด้วย
อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญในบ้านนี้คือ ‘Idanazhi’ ซึ่งหมายถึงทางเดินที่สว่างไสว ทำให้บ้านนี้จะเน้นไปที่การสร้างเฉลียง ทางเดิน ทั้งภายในภายนอก ซึ่งจะช่วยสร้างความลื่นไหลอย่างง่ายดายผ่านโซนเปิดแต่ละแห่งของบ้าน ทำให้สมาชิกในครอบครัวใกล้ชิดและเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งวิธีการดีไซน์ของเก่านี้ยังเข้ากันได้ดีกับทิศทางงานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ในแบบโมเดิร์นทรอปิคอล ที่ช่วยให้บ้านโปร่งและเย็นสบายด้วย
เมื่อเข้ามาอยู่ภายในบ้านเราจะพบกลิ่นอาย Modern มากขึ้นจากการตกแต่งภายใน อย่างเช่น โซนครัวที่มีเคาน์เตอร์ ตู้บิลท์อิน และเคื่องอำนวยความสะดวกในครัวหม่ๆ หรือมุมัน่งเด่นดื่มกาแฟ ที่วางโต๊ะกาแฟทรงกลมผสมผสานลายไม้ธรรมชาติเข้ากับขาเหล้กเคลือบสีดำด้านที่ทันสมัย มุมโซฟาบุนวมแบบเส้นตรงและเก้าอี้นั่งเล่นจัดวางแสงเงาแบบซ่อนที่เฉียบคม ทำให้จุดนี้มีลูกเล่นที่น่าสนใจ
ห้องนอนมีขนาดใหญ่และกว้างขวางพร้อมเพดานสูงโปร่งสบาย กลางห้องวางเตียงสี่เสาแบบโมร็อกโกและโต๊ะที่เข้าชุดกันเอาไว้ องค์ประกอบของโทนสีส่วนใหญ่ได้จากไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเข้ากับรูปแบบการตกแต่งสีขาวล้วน มีบรรยากาศของความเป็นผู้ใหญ่แบบร่วมสมัย
ในห้องนอนที่สองตกแต่งด้วยคอนกรีตสีเทาดิบ ๆ ช่วยสร้างบรรยากาศที่เท่โมเดิร์นลดวัยลงมา ใกล้ๆ เตียงวางเก้าอี้เปลผ้าใบโครงสร้างไม้อยู่ใต้หน้าต่างสูง สร้างมุมอ่านหนังสืออันเงียบสงบ ในห้องยังมีต้นไม้ในร่มขนาดเล็กช่วยแต่งแต้มห้องนอนสีเข้มด้วยความเขียวขจีและสัมผัสที่นุ่มนวลขึ้น ลดทอนความรู้สึกแข็งกระด้างของปูนเปลือยได้เป็นอย่างดี
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : วาสตุศาสตร์ (vastu Shastra) หรือ วัสดุศาสตร์ ในภาษาฮินดี แปลว่า ศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรม (science of architecture) และหลักการทางวิศวกรรมโบราณ การออกแบบแผนผังของ Vastu shastra นั้น จะตั้งอยู่บนรากฐานของความกลมกลืนระหว่างสิ่งก่อสร้างกับธรรมชาติ และยังอธิบายถึงหลักในการออกแบบโครงสร้าง การจัดวางองค์ประกอบ การเตรียมพื้นที่ การจัดแบ่งพื้นที่โล่ง และเรขาคณิตเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ หากเป็นศาสตร์จีนก็เทียบได้กับฮวงจุ้ยนั่นเอง ซึ่งศาสตร์นี้สามารถประยุกต์ใช้กับบ้านในเขตร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดการ แสง ลม และน้ำ ด้วย |