ตกแต่งพื้นที่เด็กเล่นในบ้าน
“จะปิดเทอมแล้ว” วลีนี้แม้จะแค่สั้นๆ แต่ภาพในจินตนาการของคุณพ่อคุณแม่ที่ตามมาหลังจากนี้ ขอรับรองว่าเป็นเรื่องยาว ไม่ต้องรอปิดเทอมใหญ่หัวใจก็ว้าวุ่นได้ เพราะความรกรุงรัง ความเปรอะเปื้อน จะต้องมีตั้งแต่วันแรกที่เด็ก ๆ หยุดเรียนอยู่ที่บ้านอย่างแน่นอน ก่อนที่บ้านจะพังทั้งหลัง คุณผู้ปกครองคงต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยถือคติที่ว่าในเมื่อห้ามรกห้ามเลอะไม่ได้ เราก็มาเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับลูก ๆ จะดีกว่า เพื่อให้บ้านเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้เล่นสนุกอย่างเพลิดเพลิน คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เหนื่อยกับการห้ามทัพจนเกินไปค่ะ
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ออกแบบ : A Lentil Design
เคลียร์พื้นที่ลดจุดซนชนกระแทก
สำหรับเด็กเล็กการป้องกันน้องๆ เดิน วิ่ง ชนตู้ โต๊ะ ที่มีเหลี่ยมมุมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นอันดับแรกที่แนะนำคือ เคลียร์พื้นที่บ้านตรงจุดที่เด็กจะใช้เวลาเล่นให้โล่งที่สุดเลยค่ะ จะได้ใช้พื้นที่ซนเต็มที่ หากมีมุมโต๊ะใด ๆ ก็ซื้อยางหรือซิลิโคนกันกระแทกมาติดป้องกันไว้ก่อนก็ยิ่งดี
ออกแบบ : Yamamar Design
สร้างผ้าใบผนังให้เต็มที่กับงานศิลป์ชิ้นโปรด
การขีดเขียนกับเด็กเล็กเป็นสิ่งที่คู่กัน ไม่ว่าเด็กจะวาดรูปอะไร เป็นรูปทรงรูปร่างที่เราดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ในทุก ๆ ครั้งที่เด็กๆ หยิบดินสอหยิบสีมาระบาย จะใช้ความคิด จินตนาการ ไปจนถึงการใช้กล้ามเนื้อมัดน้อยๆ ในการแสดงออกถึงความตั้งใจ และสร้างความภูมิใจในตัวเองได้มากทีเดียวทั้งนี้เด็กส่วนหนึ่งไม่ชอบวาดรูปบนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แต่จะเขียนตามพื้น ผนัง ที่เหมือนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ ทำให้บ้านเลอะเทอะ วิธีรับมือ คือ
ออกแบบ : arinsolange at home
- ลงทุนทาสีผนังบ้านด้วยสีทาบ้านชนิดที่เขียนทับและลบได้ ไม่ว่าจะใช้ปากกาเคมี สีสเปรย์ ปากกาไวท์บอร์ด ปากกาเมจิก สีชอล์ค สีเทียน ก็ลบได้สบายๆ
- ติดกระดาษแข็งขนาดใหญ่ขนาด 110×80 cm หนาพิเศษ 100 แกรม ติดผนังหรือปูพื้นให้เด็ก ๆ เขียน
- ติดสติ๊กเกอร์กระดานดำ ( Blackboard Chalkboard Wall Paper) ซึ่งเป็นแผ่นสติ๊กเกอร์ติดผนัง ไม่ต้องเจาะผนังให้เป็นรอย เมื่อลอกกระดาษกาวออกก็ติดได้เลย จากนั้นก็เขียน ๆ ลบๆ ด้วยชอล์คได้เต็มที่
- ติดไวท์บอร์ดแม่เหล็ก ให้เด็ก ๆ นำชิ้นส่วน magnet มาแปะสร้างเรื่องราว ส่วนตัวกระดานสามารถเขียนเปลี่ยนแปลงข้อความได้ไม่จำกัดจำนวน ลบง่าย ทนต่อการขีดข่วน
ภาพถ่าย : Adam Rose
อยากปีนต้องได้ปีน ติดปุ่มปีนบนผนังไปเลย
นอกจากการขีดเขียนแล้ว การเล่นซนปีนตรงโน้นป่ายตรงนี้ก็เป็นอีกความท้าทายที่เด็ก ๆ ชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ เด็กน้อยหลายคนก็หาทางปีนออกจากคอกกั้น พอเดินได้ก็หาโต๊ะมาต่อปีนขึ้นที่สูงจนได้ พ่อแม่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นการเล่นที่หวาดเสียว ไม่ควรสนับสนุน แต่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ให้คำแนะนำว่า เด็ก ๆ ควรจะได้มีทักษะการปีน เพราะการปีนฝึกการประสานมือ-สายตาที่ดีมาก การปีนเพิ่มเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) การปีนยังเพิ่ม EF (Executive Function) ทั้งการควบคุมตนเอง ความจำใช้งาน และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น ว่าแล้วเราก็มาหาอุปกรณ์เสริมสนุก ๆ ให้เด็กได้ปีนเล่นกันดีกว่า
รูปภาพ : Maria are fieva
- ติดบันไดลิงยึดติดกับผนัง/เพดาน
- ทำบันไดวางกับพื้นเล็ก ๆ ให้ปีนได้
- ติดตั้งตาข่ายเชือกใยยักษ์ให้ปีนเล่น
- ผนังว่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ มาเจาะติดมือจับปีนผา (Rock Climbing Holds) ไฟเบอร์กลาส หรือไม้เป็นท่อนๆ ก็ได้ นำมาขัดให้หมดเสี้ยนแล้วเจาะติดผนังเป็นจังหวะที่พอดีสำหรับการเอื้อมและการวางตำแหน่งเท้าของเด็ก ๆ ได้ งานนี้ต้องมีอุปกรณ์ช่างอย่างสว่านกระแทก และอาศัยฝีมือทางช่างพอสมควร
รูปภาพ : Mothers Bird
ปูพื้นนุ่มๆ รอ ล้มกระแทกก็ไม่หวั่น
ยิ่งเจ็บก็เป็นที่มาของประสบการณ์ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ แต่บางอย่างเราก็เตรียมตัวให้ประสบการณ์นั้นๆ ไม่สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับเด็ก อย่างการพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้เสมอยามที่ผู้ปกครองพลั้งเผลอ ก็ควรมีตัวช่วยบรรเทาความเจ็บจากการเล่นซนเอาไว้ด้วย
ภาพถ่าย : IKEA
สำหรับภายในบ้านให้มองหาโฟมปูพื้นแบบตัวต่อ วัสดุกันกระแทกที่มีความหนาพอสมควร จะช่วยซับความเจ็บจากแรงกระแทก ลดโอกาสบาดเจ็บจากการลื่นหกล้ม ส่วนพื้นที่กลางแจ้งนอกบ้าน การปูพื้นที่เล่นด้วยหญ้าเทียมก็ช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บได้เช่นกันค่ะ ทีนี้ก็พร้อมรับมือกับเด็ก ๆ แล้วนะคะ จะกระโดด ตีลังกา ม้วนหน้าม้วนหลัง ปีนป่ายก็เข้ามาเลย
รูปภาพ : zhuanlan.zhihu
เป็นอย่างไรบ้างคะ การเตรียมตัวอย่างสร้างสรรค์รับวันปิดเทอม หวังว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านจะสนุกสนานกับการได้มีเวลาคุณภาพอยู่กับลูก ๆ นะคะ แม้จะเหนื่อนอยู่สักหน่อย แต่ก็จะเป็นความเหนื่อยที่ปนไปด้วยความสุขอย่างแน่นอนค่ะ