ปรับปรุงบ้านเก่าให้ดูเหมือนใหม่
หากต้องเป็นเจ้าของบ้านเก่าที่สุดโทรม หลายคนอาจจะเบือนหน้าหนี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะคิดแบบนั้น เพราะบางอาคารถึงหน้าตาภายนอกจะมีราขึ้น สีถลอก สนิมกินในบางจุด แต่ตัวโครงสร้างอาคารยังดีอยู่ และหลงเหลือเสน่ห์บางอย่างของยุคสมัยที่น่าคงเอาไว้ ก็สามารถที่จะร่ายมนต์วิเศษให้บ้านกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการรีโนเวทบ้านให้สวยงาม ดังเช่นตัวอย่างในเนื้อหานี้ เป็นบ้านเก่าในออสเตรเลียที่เหมือนเป็นการขยายของอดีตให้สามารถนำไปสู่อนาคตได้
ออกแบบ : Smith Architects
ภาพถ่าย : Clinton Weaver
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Before: เดิมทีบ้านนี้เป็นกระท่อมที่พักคนงานสร้างในราวปี 1900 วัสดุหลักคือหิน อิฐ ไม้ ซึ่งต่อมาชำรุดทรุดโทรมตั้งแต่หลังคา ผนัง ถึงฐานรากจนไม่น่าอยู่ ทีมงาน Smith Architects ได้เข้ามาลงมือปรับปรุงทั้งออกแบบภายนอกและตกแต่งภายใน ให้ทุกองค์ประกอบของวิสัยทัศน์ของพวกเขาได้รับการเติมเต็มอย่างสมบูรณ์
After: Little Black Cabin หลังการปรับปรุง เป็นบ้านล้อมรอบด้วยภูมิทัศน์ธรรมชาติที่หนาแน่นในที่ตั้งของ Blackheath สถาปนิกรีโนเวทบ้านโดยพยายามรักษาทั้งลักษณะและประวัติของบ้านเดิมที่เป็นส่วนสำคัญ แทนที่จะรื้อบ้านออกและสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าความต่อเนื่องของเรื่องเล่าก่อนหน้านี้ให้มากที่สุด ทีมงานเริ่มจากการคงตัวสิ่งที่ยังใช้งานได้ และจำเป็นต้องแก้ไขในบางจุด เสริมโครงสร้างให้บ้านแข็งแรงก่อนที่จะเริ่มงานใหม่
ภายนอกเปลี่ยนวัสดุห่อหุ้มเป็นไม้ที่ถนอมด้วยไฟ เพื่อให้มั่นใจถึงอายุที่ยืนยาวและป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นจากไฟป่า หลังคาเปลี่ยนเป็นเมทัลชัทที่ทนทานต่อการเป็นสนิมทำให้บ้านดูรูปทรงโฉบเฉี่ยวแบบโรงนาโมเดิร์น บางจุดที่เป็นอิฐเก่าก็โชว์แนวความสวยงามคลาสสิคเอาไว้
ภายในตกแต่งให้มีบรรยากาศร่วมสมัยให้ยังคงความอบอุ่นของกระท่อม ให้พื้นผิวที่เตือนความทรงจำ ด้วยการเลือกใช้ไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้มีความเรียบคมทันสมัยขึ้น จับคู่กับวัสดุสีขาวสีดำ อาทิ กระเบื้องครัวลายตารางสีดำ โคมไฟสีดำทรงกระบอกแบบโมเดิร์น และโคมไฟกลม ๆ สีขาวที่เคยนิยมใช้ในบ้านยุค Midd century หน้าต่างแม้จะเป็นไม้ แต่รูปทรงไม่เหมือนบ้านเก่าเพราะปรับเปลี่ยนเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าครึ่งกระจกครึ่งไม้ ที่วางตำแหน่งเหนือช่องว่างเล็ก ๆ ในมุมนั่งเล่นที่ต่อเชื่อมกับชั้นบนเก๋แปลกตา เ
แปลนบ้านเองก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวที่เปิดกว้างและไหลลื่นมากขึ้น ผ่านช่องว่างแนวนอนที่เกิดจาการรื้อส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น ผนังที่ไม่ได้ใช้งาน ประตูที่ไม่จำเป็น เกิดเป็นโถงทางเดินและบ้านแบบเปิดที่เข้าถึงระหว่างห้องได้ง่ายขึ้น ส่วนระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างก็เจาะพื้นเพดานออกบางจุดทำโถงสูงสองชั้น ที่เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่แนวตั้งให้การสื่อสารระหว่างชั้นทำได้ดีขึ้น
หนึ่งในหัวใจของบ้านคือ ครัวที่น่าใช้งานผสมผสานพื้นไม้เก่าเข้ากับกระเบื้องลายตารางเล็กๆ สีดำ ที่นอกจากแทรกจังหวะบนพื้นแล้วยังกรุที่ท็อปเคาน์เตอร์ ผนังกันเปื้อน สีดำสนิทตัดกันกับไม้สีน้ำตาลที่อ่อนกว่า ทำให้บ้านมีทั้งความคลาสสิค ทันสมัย อบอุ่น ทรงคุณค่าทางจิตใจ และทรงคุณค่าต่อไปถึงอนาคตได้อย่างสง่างาม
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : shou sugi ban หรือ Yakisugi เป็นวิธีการถนอมไม้แบบภูมิปัญญาดั้งเดิมของญี่ปุ่น เป็นการเผาผิวไม้ด้วยเปลวไฟ ให้กลายเป็นสีดำเหมือนถ่าน เพื่อให้ไฟสร้างการเปลี่ยนแปลงสภาพและสารเคมีภายในไม้ ผลที่ได้คือเนื้อไม้มีคุณสมบัติที่แข็งแรง แกร่ง ทนทานสภาพอากาศได้มากขึ้น และที่สำคัญคือเทคนิคเผาไฟบนผิวหน้าไม้แบบนี้ ช่วยให้ไม้ทนไฟได้นานขึ้น เพราะไม้ที่เคยผ่านการเผามาแล้วเมื่อเจอไฟจะทำให้ติดช้าลงกว่าเดิม จึงเป็นที่มาว่าทำไมบ้านนี้จึงใช้เทคนิคนี้ในการปกป้องบ้านเมื่อมีไฟป่านั่นเอง |