
Modern+Loft ความเท่เรียบง่ายที่ปิดไม่มิด
งานสถาปัตยกรรมที่ดี ต้องออกแบบมาให้เหมาะกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งแต่ละคนมีโจทย์ในการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป บางคนอารมณ์ละมุนชอบเติมความหวานลงในบ้านแบบอิงลิชคันทรี แต่สำหรับบางคนที่หลงใหลการทำอาหาร ก็ต้องยกให้ครัวเป็นจุดเด่นของบ้าน หรือเจ้าของบ้านรุ่นใหม่ (และเก่า) อีกหลาย ๆ คนก็ยังชื่นชอบความดิบ ที่แสดงตัวตนแบบชัดเจนในความรู้สึกผ่านความจริงแท้ของเนื้อวัสดุ ซึ่งเราคุ้ยเคยกันดีในชื่อเรียกว่า “สไตล์ลอฟท์” นั่นเอง สำหรับใครที่เห็นว่าลอฟท์และอินดัสเทรียลดูหนักหรือดิบเกินไป อาจจะลดทอนเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่ชอบมาผสมผสานกับโมเดิร์นและเติมความนุ่มนวลเติมลงไปอีกนิดด้วยเฟอร์นิเจอร์ผ้าสีอ่อน ๆ ก็เป็นห้องสุด cool ที่เท่แต่ไม่ดาร์ก
ออกแบบ : treszerosete
ภาพถ่าย : Ana Mello
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านโมเดิร์นลอฟท์โชว์วัสดุ นำเสนอตัวตนเท่ ๆ
ห้องขนาด 80 ตารางเมตรลงตัวกับวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านชายหนุ่มที่อายุน้อย (และโสด) ซึ่งก่อนที่จะออกแบบตกแต่งนั้นทีมงานได้ทราบข้อจำกัดที่ว่าห้องนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า จึงตัดสินใจที่จะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในอพาร์ทเมนท์ให้เป็นแบบลอยตัว เพื่อให้สามารถขนย้ายไปใช้ในบ้านใหม่ได้ง่าย และยังเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานในบ้านนี้ได้อย่างยืดหยุ่นมากกว่าการบิวท์อิน วัสดุที่เลือกใช้เน้นความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน อย่างเช่น อิฐ ไม้ ให้โทนสีเอิร์ธโทนดูอบอุ่น ตัดสลับกับความเฉียบคมของเหล็ก คอนกรีต และงานโชว์ท่อ ที่เสริมลุคเข้มแบบแมน ๆ เน้นสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ด้วยการจัดพื้นที่แบบ Open Space เพดานสูง double และประตูหน้าต่างขนาดใหญ่
มุมนั่งเล่นเอาท์ดอร์ เชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานภายในได้อย่างแยบยล ผ่านประตูและผนังกระจกใสที่สูงจากพื้นถึงเพดานมากกว่าผนังปกติ 2 เท่า สามารถมองทะลุเห็นชัดเจนจากภายนอกราวกับไร้ผนัง และรับแสงสว่างเข้าสู่ตัวบ้านได้มาก แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนหรือสายตาของบุคคลภายนอก เพราะนักออกแบบติดตั้งม่านม้วนระบบไฟฟ้า ที่ใช้งานกั้นกรองแสงเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ โดยไม่มีผืนผ้ารุงรังให้ขัดกับภาพรวมเท่ ๆ ของบ้าน ถ่ายทอดบุคลิกภาพที่ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนของผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี
ภายในโปร่งโล่งและยืดหยุ่น เข้มแต่อบอุ่น
ชั้นล่างและพื้นที่ส่วนกลางใช้พักผ่อนและต้อนรับแขก โปร่งโล่งเพื่อรองรับสำหรับผู้มาเยือนหลาย ๆ คน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นอย่างที่เจ้าของต้องการ ในห้องนั่งเล่นจึงเลือกใช้โซฟารูปตัวแอลชุดใหญ่รุ่นแยกส่วนได้ สามารถดึงออกมาใช้งานตามใจชอบหลากหลายรูปแบบ ในชุดนี้ยังมีโต๊ะที่มีความยาว 2 เมตร วางแบบปรับเปลี่ยนทิศทางได้ ทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น เฟอร์นิเจอร์สีฟ้าหม่น ๆ ซึ่งเป็นคู่สีที่ตัดกัน (contrast) กับสีส้มอิฐหรือน้ำตาล แต่ลดความรุนแรงของสีลง ทำให้ห้องดู soft ลง และลดความน่าเบื่อของสีนิ่ง ๆ
อิฐโชว์แนวสีน้ำตาลแดงและปูนเปลือย เป็นวัสดุง่าย ๆ ที่นำมาจับเข้าคู่กันแล้วมีความลงตัว แม้ว่าโดยคุณสมบัติจะแตกต่างกันก็ตาม แต่การเลือกใช้วัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งเต็มพื้นที่จะทำให้บ้านน่าสนใจน้อยลง การจัดจังหวะตัดสลับของวัสดุจึงทำให้ของธรรมดากลายเป็นจุดโฟกัสสายตาได้ นักออกแบบจึงเลือกตัดแบ่งขอบเขตสัดส่วนให้มีจังหวะเบรกระหว่างอิฐและคอนกรีต ทำให้ผนังมี texture นูนและเรียบ เข้มและอ่อน สร้างมิติที่ชวนมอง
ในห้องพื้นที่ไม่มากสิ่งสำคัญคือการบริหารพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด พื้นที่ว่างใต้บันไดจึงถูกเนรมิตเป็นมุมทำงาน มาพร้อมชั้นวางสีขาวเป็นช่องโปร่ง ๆ เข้าชุดกับโต๊ะ
ชุดชั้นวางของทำจากแผ่นเหล็กสีขาว ประกอบเข้าชุดแบบง่าย ๆ แกะออกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยุ่งยาก ดีไซน์เรียบ ๆ แต่เพิ่มความ cool ให้กับมุมทำงานได้แบบไม่ต้องพยายาม
คำว่า Loft ในภาษาอังกษนั้น ไม่ได้หมายถึงสไตล์การตกแต่งบ้านเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึง ห้องใต้หลังคา ห้องโล่ง ๆ บนชั้นลอยที่ใช้บันไดปีนขึ้นไป ซึ่งในบ้านหลังนี้ก็แบ่งพื้นที่ทำห้องนอนส่วนตัวเป็นชั้นลอยตามนิยามของ Loft ที่ว่านี้ บ้านในต่างประเทศมักจะมีห้องใต้หลังคาหรือมีพื้นที่จากพื้นถึงเพดานค่อนข้างสูงจะใช้ข้อดีตรงส่วนนี้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้อย่างชาญฉลาด
แปลนห้อง