เมนู

ลองเปลือยแล้วจะรัก ตกแต่งห้องโชว์คอนกรีต

ผนังปูนเปลือย

แต่งคอนโดคอนกรีต

ห้องรับแขก เป็นส่วนที่มักจะถูกวางไว้ตำแหน่งหน้าบ้าน ด้วยความที่ต้องรับรองแขกผู้มาเยือนทำให้บางบ้านให้ความสำคัญกับห้องนี้เป็นพิเศษ โดยอาจใส่กระจกหรือฉากกั้นจัดไห้แยกออกจากพื้นที่ส่วนตัว แต่ปัจจุบันห้องรับแขกหายไปจากบ้านบางหลังเนื่องจากความหลากหลายของไลฟ์สไตล์ และการวางแผนผังบ้านให้ตอบโจทย์การใช้งานของคนในบ้านมากกว่าคนนอกบ้าน จึงมักใช้ส่วนนี้รวมเข้ากับฟังก์ชันอื่นเป็นห้องพักผ่อนที่ใช้ต้อนรับผู้มาเยือนในบางโอกาสได้ ชื่อนี้จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับเราแล้ว บ้านหลังนี้จึงทบทวนนำห้องรับแขกกลับมาใช้อีกครั้งครับ

ออกแบบNanometer Architecture
เนื้อหาบ้านไอเดีย

มุมนั่งเล่นดิบ ๆ เท่ๆ

เจ้าของบ้านย้ายจากโตเกียวมาเมืองนาโกย่า และเลือกคอนโดมิเนียมให้เช่าอายุ 49 ปี เป็นที่อยู่อาศัยส่วนตัวและสำนักงาน โครงสร้างเดิมประกอบด้วยห้องสไตล์ญี่ปุ่น ‘LDK’ (ห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ห้องครัว) ขนาดใหญ่ ที่เผยให้เห็นวัสดุคอนกรีตเปลือย ครึ่งปีต่อมาทั้งคู่เช่าสำนักงานอยู่ที่อื่น หลังจากที่ฟังก์ชันในสำนักงานหายไปก็กลายเป็นห้องเก็บของโล่งๆ  แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เจ้าของคิดจะกลับมาใช้งานที่นี่ใหม่ เมื่อนึกว่าจะมีคนเข้าๆ ออกๆ คำว่าห้องรับแขกก็โผล่ออกมา จึงลงตัวที่การสร้างห้องแบบญี่ปุ่นตามจินตนาการ แต่มีบรรยากาศคล้ายซุ้มไม้แบบญี่ปุ่น ‘tokono-ma’ ที่เป็นจุดต้อนรับแขกแบบดั้งเดิม

มุมต้อนรับ

คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขยายใหญ่


มุมต้อนรับ

สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยได้รับการปรับปรุงใหม่ทีละขั้นตอน ประการแรก พรมที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของออฟฟิศถูกแทนที่ด้วยวัสดุที่หลากหลาย เช่น กระเบื้องสีเทดำ พื้นไม้ปาร์เก้ และเสื่อทาทามิ เพื่อรองรับผู้มาเยือนที่มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งชั้นวาง พร้อมด้วยตู้รองเท้าที่ทางเข้า ในห้องครัวก็มีเคาน์เตอร์แบบเปิดเพื่อรองรับแขกได้มากขึ้น โซนต้อนรับแขกจะต้องเดินผ่านครัว ห้องนั่งเล่น ก่อนจะเข้ามาสู่โซนต้อนรับที่ตั้งเอาไว้ด้านในสุด

พื้นปูไม้ปาร์เก้

การจัดแปลนบ้านใหม่เน้นความต่อเนื่องลื่นไหลของพื้นที่ ที่เปิดเชื่อมต่อผ่านผนังที่ถูกรื้อออก โดยไม่มีประตูหรือฉากมากั้น ทำให้พื้นที่ห้อง 60 ตารางเมตรกว้างขึ้นกว่าที่เคยรู้สึก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผนังกั้นเลยเพียงแต่มีเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตามด้วยแผนผังห้องที่แบ่งเป็นล็อค ๆ ปูพื้นด้วยวัสดุที่แตกต่าง มีการยกระดับพื้นขึ้นสูงต่ำต่างกันเล็กน้อย เหล่านี้จะเป็นตัวบอกโดยอัตโนมัติว่า ขณะนี้เราค่อย ๆ เข้าสู่ส่วนใช้งานของบ้านที่ต่างออกไปโดยไม่ถูกตัดขาดออกจากกัน

เคาน์เตอร์ครัวดิบ ๆ

สิ่งที่สะดุดตามากในบ้านนี้คือ ความดิบของวัสดุที่ก่อสร้างและตกแต่ง เราคงเคยเห็นการรีโนเวทที่ทำให้บ้านทันสมัย เรียบร้อยขึ้น แต่ที่นี่กลับกัน เพราะเพดาน คาน ผนัง บางส่วนโชว์พื้นที่ผิวดิบ ๆ ของคอนกรีต บางจุดมีร่องรอยการเจาะ กระเทาะเปลือกที่เคยฉาบและทาสีออก โดยไม่ซ่อมแซมหรือฉาบทับทาสีใหม่แต่อย่างใด ผ้าม่านทำจากผ้าที่เต็มไปด้วยร่องรอยยับย่น ซึ่งองค์ประกอบของความไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมดนี้กลับให้ความรู้สึกพิเศษไม่เหมือนใคร ในความไม่เนี๊ยบเรากลับพบม้านั่งจากไม้ทั้งท่อนสีอ่อน ๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมมุมคมประณีต โต๊ะกลางสี่เหลี่ยม และผืนเสื่อสีอ่อนๆ อบอุ่นเข้ามาช่วยสร้างสไตล์มินิมอลที่เก๋ อบอุ่น และดูสบายตา

ห้องปูนเปลือยดิบ ๆ

ห้อง “คอนกรีตเปลือยเปล่า” ที่จัดให้เป็นสถานที่สำหรับรับแขก และจัดงานชั่วคราวในสำนักงาน เป็นการก่อสร้างและตกแต่งที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร “บ้านโอเซทสึ” ทำให้เรารู้สึกได้จริงๆ ว่าเจ้าของบ้านกำลังเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณชนทั่วไป ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่เจ้าของบ้านจะแบ่งปันตัวตนกับคนอื่น ๆ ที่มาเยือนได้มากขึ้นกว่าเดิม จนเหมือนอนุญาตให้แขกเข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของพื้นที่ใช้ชีวิต แต่ที่จริงแล้วก็ยังคงมีการแบ่งระดับความเป็นส่วนตัวของบ้านอยู่เช่นกัน

ปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : Tokonoma หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า toko เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่น toko  หมายถึง พื้นหรือเตียง ma หมายถึง ช่องว่างหรือห้อง โดยทั่วไปหมายถึงพื้นที่ในห้องรับรองสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งมักทำเป็นเหมือนซุ้มล้อมกรอบด้วยไม้ ยกพื้นขึ้นเล็กน้อย มีการจัดแสดงสิ่งของเพื่อการชื่นชมทางศิลปะ โชว์ม้วนอักษร ภาพและการจัดเรียงของดอกไม้ บอนไซ และโอกิโมโนะบางครั้งก็มีการจัดแสดงด้วยเช่นกัน  เมื่อให้แขกนั่งในห้องสไตล์ญี่ปุ่น มารยาทที่ถูกต้องคือ การให้แขกที่สำคัญที่สุดนั่งหันหลังให้ซุ้มโทโคโนมะ และห้ามก้าวเข้าไปภายในซุ้มโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะเปลี่ยนสิ่งของที่จัดแสดงข้างใน

แปลนบ้าน

แปลนบ้านก่อนรีโนเวท

แปลนบ้านหลังรีโนเวท

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ตกแต่งคอนโด


โพสต์ล่าสุด