คาเฟ่โมเดิร์นมินิมอลโทนสีขาว
“คาเฟ่” ยังคงเป็นพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่หน่วยเล็ก ๆ ที่ผู้คนในชุมชนมักแวะมาชิมเครื่องดื่ม ทานขนม และพบปะพูดคุยกัน ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้การออกแบบดีไซน์อาคารแต่ละคาเฟ่ต้องมีจุดที่ดึงดูดสายตา อย่างโครงการนี้ในอินโดนีเซียเลือกหุ้มด้วยโลหะสีขาวทั้งหมด นำเสนอความเรียบง่ายที่กลับดูโดดเด่นสะดุดตาในย่าน Ketabang ที่หนาแน่นและพลุกพล่าน หากมองจากด้านติดถนนก็ดูเหมือนอาคารหลังคาจั่ว ที่มีช่องเปิดขนาดใหญ่ต้อนรับคนที่ผ่านไปมาให้เข้าไปนั่ง แต่ถ้ามองจากอีกด้านจะเห็นความแปลกของรูปทรง ซึ่งมีที่มาจากข้อจำกัดบางอย่าง เมื่อลองปรับมุมมองในการแก้ปัญหาแล้ว กลับทำให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ไม่เหมือนใคร
ออกแบบ : ANTI – Architecture
ภาพถ่าย : Mansyur Hasan
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
Café เป็นร้านกาแฟและสำนักงานส่วนตัวขนาดเล็กพื้นที่ 200 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ในใจกลางของสุราบายาประเทศอินโดนีเซีย เป็นส่วนต่อเติมที่เสริมเข้ามาให้เป็นส่วนหนึ่งและตัดกันกับอาคารที่มีอยู่ซึ่งอยู่ติดกัน ตัวอาคารเดิมเป็นหลังคาจั่ว หากทำอาคารตรง ๆ ในความสูงเท่ากันหรือมากกว่าจะติดส่วนของหลังคา ทำให้เสียพื้นที่ใช้สอยไปเล็กน้อย แต่แทนที่สถาปนิกจะยอมหั่นอาคารออก กลับใช้การใช้วิธีการออกแบบรูปแบบผนังและหลังคาที่คาดไม่ถึง โดยปรับองศาความเฉียงของหลังคาให้สองด้านไม่เท่ากัน ผนังส่วนหนึ่งเอียงรับกับรูปทรงหลังคา ทำให้เกิดองค์ประกอบที่เหมือนเป็นตัวต่อที่เข้ากันได้พอดี สร้างความสนุกสนานระหว่างโครงสร้างทั้งสอง
วัสดุที่เป็นองค์ประกอบหลัก ๆ ในส่วนคาเฟ่จะเป็นเหล็ก H Beam สีขาว กรุผนังและหลังคาด้วยเมทัลชีทลายลูกฟูก ให้ Texture ที่เหมือนมีความเคลื่อนไหวท่ามกลางความเรียบนิ่งของสีขาว แทรกด้วยกระจกในส่วนของประตู หน้าต่าง และช่องว่างของอาคาร ซึ่งกระจกบางช่วงจะอยู่ระหว่างผนังบนชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนของออฟฟิศที่ยื่นออกมา ทำให้สามารถเปิดทางรับแสงใหม่ๆ โดยไม่เสียความเป็นส่วนตัวจากสายตาผู้คน
การเชื่อมต่อภาพมีอยู่ในแต่ละชั้น จะทำผ่านที่ว่างและแปลนการเปิดของช่องเปิดในแต่ละส่วนของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อภาพในแนวนอน และการสร้างความต่อเนื่องในแนวตั้งจากการเว้นพื้นที่เอาไว้ให้เป็นโถงสูง แล้วใส่ความสนุกด้วยมุมที่นั่งห้อยขาลงมาได้ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาคารเก่าและใหม่ก็จะมีส่วนที่แยกและเกี่ยวพันกัน เช่น อาคารเดิมเป็นที่ตั้งของบาร์ ห้องครัว และพื้นที่รับประทานอาหารในร่ม ในขณะที่โครงสร้างใหม่เป็นที่ตั้งของสำนักงาน คาเฟ่ และพื้นที่รับประทานอาหารกึ่งกลางแจ้ง
ด้านข้างของคาเฟ่ส่วนที่ติดกับอาคารเดิมจะเป็นผนังกระจกในส่วนใหญ่ และเว้นช่องว่างระหว่างผนังเอาไว้ เป็นทั้งทางเดิน กันชน และช่องทางระบายอากาศ ช่วยให้ทั้งอากาศและผู้มาเยือนไหลเข้าและออกจากพื้นที่ได้อย่างอิสระ แต่ยังมีระยะห่างที่ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน
โซนออฟฟิศจะอยู่ที่ชั้นบน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวน้อยกว่า ทำให้เงียบสงบมีสมาธิในการทำงาน ส่วนข้างของห้องจะเป็นผนังกระจกเต็มพื้นที่จากพื้นถึงเพดาน อาคารจึงมีความเป็นอิสระทางสายตา เมื่อรู้สึกล้า ๆ จากการทำงานก็แวะนั่งพักเหนื่อยด้วยการปล่อยสายตามองวิวข้างนอก ผนังกระจกยังสามารถรับแสงสว่างตามธรรมชาติได้มาก แต่ก็เตรียมรับมือความรุนแรงของแสงด้วยการเลือกวัสดุกระจกที่สะท้อนความร้อนได้ดี และมีฟาซาดตาข่ายเหล็กช่วยกรองแสงอีกชั้น
ด้วยรูปทรงหลังคาที่มีองศาไม่เท่า ทำให้ลักษณะของช่องแสงอีกด้านของออฟฟิศที่ทำตามรูปทรงผนังและหลังคาดูแปลกตา แตกต่างจากช่องแสงในอาคารทั่วไป ผนังก็มีส่วนเว้าหักมุมตามส่วนที่คลุมหลังคาอยู่ เกิดเป็นมุมมองของอาคารที่น่าสนใจ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การใส่ช่องแสงสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนประตูหน้าต่างบนผนังที่พบได้ทั่วไป และส่วนที่ออกแบบเพิ่มเติมในรูปแบบใหม่ๆ สำหรับอาคารที่มีข้อจำกัดเรื่องตำแหน่งในการเปิดรับแสง อาทิ บ้านที่มีผนังติด ๆ กันไม่สามารถใส่ช่องแสงเพิ่มที่ผนังด้านข้างได้ จะแก้ปัญหาด้วยการใส่ช่องแสง skylight หรือช่องแสงที่ติดตั้งบนหลังคาดึงแสงลงมาจากด้านบน อีกหนึ่งรูปแบบช่องแสง คือ การซ่อนหรือแทรกตามช่องว่างระหว่างผนัง อย่างเช่น อาคารสองชั้นนี้ที่ต้องการหลบสายตาจากผู้คน แต่ยังต้องการให้อาคารรับแสงได้ ก็แก้ปัญหาด้วยการทำผนังชั้นบนยื่นออกมาเล็กน้อย แล้วใส่กระจกในช่องว่างระหว่างผนัง เป็นต้น |
แปลนบ้าน