บ้านสไตล์ Mid Century
อดีต บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ชวนให้หวนนึกถึง อาจเป็นเพราะความสวยงามที่ผุดขึ้นในทรงจำ ความคุ้นเคยที่ยังระลึกได้ งานสถาปัตยกรรมก็เช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ โลกก้าวสู่สมัยใหม่ แต่บางคนเลือกทำบ้านสร้างใหม่ให้ออกมาอารมณ์อดีตที่ดูเรียบง่ายร่วมสมัย มองแล้วสัมผัสได้ถึงคุณค่าของวันเก่า ๆ เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” มีบ้านสไตล์ Mid Century ที่มีทั้งภูมิปัญญาของคนยุคเก่า และความใหม่ที่แฝงในฟังก์ชันรวมถึงวัสดุ ที่เลือกให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และสภาพภูมิอากาศของที่ตั้งไปพร้อมกัน
ออกแบบ : Lighthouse Arch
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้าน mid century ที่ชวนให้คิดถึง
Hamilton เป็นงานออกแบบบ้านชิ้นแรกในชื่อของสถาปนิก Light House ภาพรวมเป็นอาคารชั้นเดียวหน้ากว้างสไตล์ Mid -Century แบ่งพื้นที่หลัก ๆ ออกเป็นสองส่วน หลังคาเพิงหมาแหงนหันหน้าเข้าหากัน ด้านซ้ายเป็นโรงรถเชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานภายในบ้าน ด้านขวาเป็นห้องรับแขกนั่งเล่น และส่วนใช้งานอื่นๆ ผนังเป็นกระจกใสมองเห็นข้างในชัดแจ๋ว เป็นอาคารดีไซน์ร่วมสมัยที่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับสถานที่และสภาพอากาศเฉพาะของ Western Oregon ที่เชื่อมบ้านเปิดออกสู่ภายนอกได้อย่างไหลลื่น
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ต้อนรับด้วยทางเข้ากลิ่นอายญี่ปุ่น
จากประตูหน้าบ้านเปิดเข้ามาจะเป็นโถงทางเดินเล็ก ๆ ที่ห้องล้อมด้วยงานไม้ระแนงที่มีแนวนอนด้าหนึ่งแนวตั้งด้านหนึ่งดูมีมิติที่แตกต่าง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการออกแบบพื้นที่ยกระดับสำหรับนั่งใส่หรือถอดรองเท้า เหมือนบ้านญี่ปุ่นที่ต้องมีห้องเล็กๆ เอาไว้ถัดจากประตูเข้าบ้านที่เรียกกันว่า Genkan เป็นส่วนที่เก็บรองเท้าและบ่งบอกว่ากำลังจะเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวของบ้าน
สำหรับรัฐโอเรกอนฤดูร้อนอุณหภูมิสูงโดยเฉลี่ย 17.8 ° C -20 ° C และในฤดูหนาวจะเย็นจัด ทางด้านตะวันตกติดชายฝั่งทะเลทำให้มีฝนร่วมด้วย บ้านหลังนี้จึงมีชายคายื่นออกมาเพื่อปกป้องตัวบ้านจากฝน ในขณะเดียวกันผนังบ้านในห้องหลัก ๆ ของบ้าน อย่างเช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว จะใช้วัสดุกระจกใส เปิดรับแสงจากธรรมชาติ ทำให้บ้านอบอุ่นขึ้นในฤดูหนาว แต่ก็มีประตูที่เปิดได้กว้างเพื่อรับลมได้มากในฤดูหนาว
สุนทรีกับบ้านที่ดูไร้ผนัง
ไม่อยากนึกภาพเลยว่าชีวิตใต้ชายคาของบ้านหลังนี้จะมีความสุขแค่ไหน หากอยู่ในห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ห้องนอน หรือแม้กระทั่งครัว แล้วสามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติ ชื่นชมวิวจากสนามหญ้าเขียว ๆ รอบทิศทางราวกับบ้านไร้ผนัง เหมือนยกธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบของทุกพื้นที่ และสามารถเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้แม้จะไม่ได้ก้าวเท้าออกจากบ้านก็ตาม
งานไม้ถูกเลือกใช้หลายรูปแบบ ในส่วนผนังภายนอกจะเป็นไม้สีดำที่ผ่านการถนอมไม้ด้วยไฟแบบภูมิปัญญาญี่ปุ่นไม่ใช่การย้อมสี ซึ่งจะช่วยให้ไม้ทนทานต่อสภาพอากาศทั้งร้อนและชื้นมากขึ้น ส่วนภายในเลือกใช้ไม้ระแนงเป็นเส้นเล็ก ๆ สีอ่อนตกแต่งผนังทำให้บ้านดูทันสมัยกว่าการใช้ไม้แผ่นใหญ่สีเข้มๆ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การออกแบบบ้านที่ดีต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศท้องถิ่นที่แตกต่างกัน การเลือกวัสดุก็ต้องดูความเหมาะสมเช่นกัน อย่างเช่น บ้านเขตหนาวที่ต้องการความอบอุ่นภายในบ้านมากจะนิยมใช้กระจกที่ดึงแสงและนำความร้อนได้มาก แต่ถ้าติดตั้งกระจกในบ้านเขตร้อนโดยไม่ได้ปรับประยุกต์ก็จะทำให้บ้านร้อนจนอยู่ไม่สบาย บ้านเขตร้อนที่ต้องการใช้กระจกควรเลือกทิศที่ไม่โดนแสงโดยตรงทั้งวัน เช่น ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และมองหาชนิดกระจกที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง ไม่ดูดซับความร้อนมาก เป็นต้น |