บ้านโมเดิร์นผนังเมทัลชีท
ถ้า “สถาปนิก” เป็นเหมือนนักเล่าเรื่องของ “บ้าน” บ้านหลังนี้ที่ออกแบบโดย คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ จาก I Like Design Studio ก็สื่อสารความเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัยออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เพราะภายใต้เปลือกบ้านเรียบเฉียบคมกับเส้นสายสีดำปนเทาของภายนอก ที่เหมือนกำลังจะบอกว่าขอความเป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิต ภายในกลับมีแง่มุมที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่อย่างน่าสนุกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลวิธีในการออกแบบ นวัตกรรมและวัสดุใหม่ ๆ ที่ใช้สร้างบ้าน ดำเนินเรื่องราวระหว่าง คน บ้าน ธรรมชาติ ผ่านสวนกลางแจ้งในบ้านที่เชิญชวนให้ฝนตกลงมาใจกลางอย่างพอดี ทุกมิติในทุกตารางเมตร ดีไซน์มาอย่างดีเพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยของคุณชานนท์ คูวัฒนาภาศิริ และครอบครัว ผู้เป็นทั้งวิศวะกรในโครงการนี้ และเป็นน้องชายให้ออกมาดีที่สุดสำหรับทุกคนในบ้าน ในงบประมาณการก่อสร้างรวมเฟอร์นิเจอร์ราวๆ 10 ล้านบาท
ออกแบบ : I Like Studio
ภาพถ่าย : Soopakorn Srisakul
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านโมเดิร์นปิดด้านหน้า เปิดชีวิตอิสระด้านใน
โปรเจกต์บ้านโมเดิร์นสีเทาดำแตกต่างพิเศษที่สุดในซอย พื้นที่ 100 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 450 ตารางเมตร หลังนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนบ้านที่สร้างในต่างประเทศ แต่ที่จริงแล้วที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านชวนชื่นพาร์ควิลล์ ถนนกาญจนาภิเษก กรุงเทพบ้านเรานี่เอง ที่ดินผืนนี้เป็นเคยมีบ้านหลังเดิมที่ภรรยาคุณชานนท์อาศัยกับพ่อแม่จนโต แต่เมื่อเวลาผ่านไปบ้านหลังเก่าเริ่มไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่เดิม เพื่อรองรับการใช้งานใหม่ ๆ ในอนาคต โดยมอบหมายโจทย์ให้คุณณฤชา ออกแบบบ้านที่พื้นที่แต่ละห้องมีขนาดพอดีไม่ใหญ่จนเกินไป มีความเป็นกล่อง มีลูกเล่นของระบบต่าง ๆ โชว์วัสดุได้กลิ่นอายของ Loft Industrial เล็ก ๆ ไม่ต้องการให้มีช่องแสงรอบ ๆ บ้านน้อย ๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้ความร้อนภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน และที่สำคัญคือ มีพื้นที่ความส่วนตัวสูงแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระบายอากาศได้ดี ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นโจทย์ยาก แต่สถาปนิกก็ลงมือถอดความต้องการของผู้อยู่ออกมาเป็นบ้านที่ตอบครบทุกความต้องการ
หลังจากได้รับการบรีฟต์จากเจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวแล้ว คุณณฤชาก็เริ่มทำการบ้านอย่างพิถีพิถัน จากความต้องการแรกที่อยากให้ตัวบ้านเป็นส่วนตัวตัดขาดจากบริบทภายนอก ไม่ต้องการผนังที่มีกระจกเยอะ จนได้ผลงานออกมาเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์น 2 ชั้นรูปร่างคล้ายตัว U ที่สร้างพื้นที่ปิดล้อมด้านหน้าและใส่ช่องว่างให้ใช้ชีวิตเป็นส่วนตัวสบาย ๆ ภายใน
บ้านโครงสร้างเหล็ก ใส่ความพิเศษใต้ผนังเมทัลชีท
บ้าน 2 ชั้นยกระดับสูงขึ้นจากถนนชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นเมทัลชีท มาพร้อมกับหน้าต่างไม่กี่บานเพื่อลดปริมาณความร้อนจากภายนอกเข้ามาในบ้าน ในส่วนของโครงสร้าง วัสดุ และระบบปกป้องบ้านจากความร้อน คุณณฤชา อธิบายคร่าว ๆ ว่า “โครงสร้างหลัก ๆ คือ เหล็ก WF ระบบการยึดเป็น bolt and nut ที่เลือกใช้เหล็กเพราะต้องการความเร็วและความแม่นยำในการติดตั้งสูงและสวยงาม ในส่วนของโครงสร้างอาคาร จึงใช้เวลาประกอบเพียง 7 วันเท่านั้นก็ออกมาเป็นรูปร่างบ้านทั้งหลัง” สำหรับวัสดุกรุผนังในชั้นบนเป็นแผ่นเมทัลชีท หลาย ๆ คนอาจจะมีคำถามว่าจะทำให้บ้านร้อนหรือไม่ ด้านนอกเป็นเมทัลชีทแล้วผนังด้านในใช้วัสดุอะไร คุณณฤชาเล่าถึงความพิเศษที่ซ่อนอยู่ใต้ผนังว่า
“ผนังบ้านมี 2 ชั้น ผนังภายนอกเป็น metal sheet ลอนกว้างพิเศษ (Standing Seam System ) ระบบคลิปล็อก ภายในเป็นโครงเคร่ากัลวาไนซ์ (Galvanize) หรือเหล็กเคลือบด้วยสังกะสีเพื่อป้องกันสนิม เว้นร่องเป็น Gab อากาศก่อนถึงผนังภายใน ซึ่งในเชิงฟังก์ชันจะช่วยให้น้ำที่เข้าสู่ตัวบ้านต้องมีทางออกได้ และช่วยลดความร้อนให้บ้าน ส่วนผนังภายในเป็นผนัง EPS Foam กันความร้อนเข้าอาคาร สำหรับช่องว่างที่อยู่ระหว่างผนังนั้นยังใช้เตรียมไว้เดินงานระบบได้ด้วย ”
การก่อสร้างที่ให้โครงสร้างเหล็กและเมทัลชีท ผ่านงานจากโรงงานและสามารถนำมาประกอบหน้างานได้ เร็ว เป๊ะ ไม่ต้องพึ่งความเชี่ยวชาญของช่างมากนัก และยังใช้ระยะเวลาก่อสร้างสั้น ๆ ประมาณ 10 เดือนก็แล้วเสร็จ ช่วยลดค่าแรงงานไปได้ค่อนข้างมาก
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขยายใหญ่
จากบันไดหน้าบ้านเมื่อเข้าสู่บ้านลานภายในจะค่อย ๆ คลี่คลายบรรยากาศจากปิดกั้นสายตา มาเป็นความโปร่งเบาและสดชื่นด้วยธรรมชาติในสวนใจกลางของอาคาร แนวคิดที่จัดพื้นที่แบบนี้มาจากการที่ปิดด้านหน้าค่อนข้างทึบแล้ว จึงต้องเปิดด้านในและ create วิวด้านในด้วยการจัดสวนและสระว่ายน้ำ พื้นที่สีเขียวนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ผ่านบันไดเหล็กสีดำ ซึ่งติดตั้งแบบลอยตัวอย่างท้าทายในสไตล์โมเดิร์น นำสายตาขึ้นไปสู่ Private garden ที่เชื่อมต่อกับ Master Bedroom บนชั้น 2
วิวธรรมชาติที่กำหนดเอง ล็อคไว้ใจกลางบ้าน
‘คอร์ท’ เป็น Hignlight ของบ้านใส่จุดโฟกัสสายตาด้วยต้นไม้ใหญ่ฟอร์มสวยสูงถึงชั้น 2 ชื่อ “ต้นสงวนทอง” และสระน้ำ ที่สามารถมองเห็นได้จากทุกห้อง นอกจากจะเพิ่มพื้นที่ใช้งานกิจกรรมกลางแจ้งแล้ว ยังช่วยในการระบายอากาศ ในขณะที่ยังเปิดรับแสงธรรมชาติและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างบ้านกับธรรมชาติให้เชื่อมต่อกันได้อย่างแนบเนียน
ที่ว่าง Open space เปิดมุมมองให้บ้านออกสู่ท้องฟ้า และเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ธรรมชาติไหลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลมหรือสายฝนให้เข้ามาสร้างบรรยากาศสบายได้อย่างเต็มพิกัด ทั้งนี้นักออกแบบสร้างสระน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำด้านล่างอย่างพอดี พื้นที่กลางแจ้งมีระเบียงเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวพักผ่อน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นและห้องเด็ก ออกแบบโดยเน้นความเป็นส่วนตัว โดยพื้นที่นี้ถูกตัดออกจากสภาพแวดล้อมภายนอกด้วยกำแพงสูงล้อมรอบ มีเพียงต้นไม้ เก้าอี้นั่ง และท้องฟ้า อยู่ภายใน
พื้นที่ใช้งานของบ้านแบ่งออกเป็นสองส่วน ที่จัดวางโดยคำนึงถึงความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน ส่วนแรกคือ โซนที่อยู่อาศัย ซึ่งประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ครัวที่ชั้นหนึ่ง ซึ่งจัดแบบ open plan เชื่อมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง วางเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นตัวบ่งบอกการใช้งานแต่ละฟังก์ชันเรียงกันไปอย่างพอดี และยังมีพื้นที่สัญจรด้านข้างเหลืออีกประมาณ 1 เมตร ตอบโจทย์บ้านพื้นที่จำกัดด้วยการใช้ดีไซน์ให้โปร่งโล่งอยู่สบายอย่างลงตัว
บนชั้น 2 เป็นห้องนอนใหญ่ ห้องนอนเด็กห้องทำงาน และห้องดนตรี สำหรับส่วนที่ 2 ของบ้าน ออกแบบมาให้เป็นเหมือนห้องพักรับรองเมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือแขกมาเยี่ยมครอบครัว ซึ่งแยกออกจากบ้านหลังใหญ่ แต่ยังเชื่อมต่อกันด้วยพื้นที่ส่วนกลาง
ไม่ว่ามุมไหนก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
ห้องนั่งเล่น High Ceiling เพดานสูงโปร่งให้ความรู้สึกสบาย ๆ และช่วยเรื่องการระบายความร้อนออกจากตัวอาคาร การออกแบบภายในอย่างเรียบง่ายที่เน้นสีขาวตัดสลับกับกรอบบานสีเข้ม ทำให้ตัวบ้านเหมือนภาพเรขาคณิต ตัดสลับกับสีเอิร์ธโทนของไม้ โซฟา ช่วยเบรกให้บ้านดูอบอุ่นขึ้น ไม่เฉียบคมจนเกินไป แต่ละพื้นที่ซึ่งดูคล้ายห้องสี่เหลี่ยมเชื่อมต่อเข้าหากันด้วยจังหวะที่พอดิบพอดีจนกลายเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งหลัง สมาชิกในบ้านสามารถรับความสดชื่นจากวิวธรรมชาติ ต้นไม้ น้ำ ลม ท้องฟ้า ได้ด้วยสัมผัสทั้ง 5 ผ่านจังหวะของช่องว่างที่ผนังขนาดใหญ่ที่สถาปนิกได้กำหนดเอาไว้ ในช่วงฤดูฝนก็จะได้สัมผัสกับสายฝนในตัวบ้านที่สร้าง feeling ให้กับบ้านในอีกรูปแบบหนึ่ง
ผนังบ้านสีขาวดูเหมือนบ้านก่ออิฐฉาบทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วใช้วัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ที่เรียกว่า Foamcrete ซีเมนต์พิเศษที่ได้จากซีเมนต์กับเม็ดโฟมพลาสติก มาในรูปแบบแผ่นสามารถใช้งานได้เลย โครงสร้างอาคารก่อสร้างจึงทำได้เร็ว ทำงานง่ายและประหยัดเวลาในการก่อสร้าง Foamcrete มีน้ำหนักของตัวอาคารเบากว่าการใช้หินที่เป็นส่วนผสมซีเมนต์ ในขณะที่ยังสามารถรับแรงน้ำหนักได้ดีในรูปแบบการใช้งานที่บ้านนี้ต้องการ ที่สำคัญคือแผ่นผนังแบบนี้มีค่านำความร้อนต่ำ จึงทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนไปด้วยในตัว ทำให้บ้านประหยัดพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้อีก
เดินราวบันไดราวเหล็กขึ้นมาถึงชั้น 2 จะพบกับห้องทำงานที่เจ้าของบ้านใช้งานด้วยกัน มีตู้หนังสือค่อนข้างใหญ่เพื่อรองรับจำนวนหนังสือที่ค่อนข้างมาก
ห้องนอนวิวท้องฟ้า ผ่อนคลายอย่างอิสระ
ห้องนอนโปร่งสบาย มีช่องแสงขนาดใหญ่ขนาบ 2 ด้าน ด้านหน้าที่หันไปทางหน้าบ้านตกแต่งด้วยอลูมิเนียมลายไม้ที่ดูเหมือนไม้จริงแต่ทนทานติดตั้งง่ายกว่า มี daybed บิวท์ติดหน้าต่างฝั่งตรงข้ามให้คุณภรรยานอนชิลอ่านหนังสือ พร้อมดูวิวท้องฟ้าเพลิน ๆ รับทัศนียภาพสวนส่วนตัวที่เซ็ตเอาไว้ เป็นความส่วนตัวที่ซ้อนอยู่ในความส่วนตัวอีกระดับ เพื่อปลดปล่อยความเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ
คอร์ทที่เชื่อมต่อกับห้องนอน เป็นพื้นที่พักผ่อนกลางแจ้งที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีสายตาคนภายนอกส่องทะลุเข้ามา เพราะสถาปนิกควบคุมสิ่งแวดล้อมด้วยการทำกำแพงให้สูงขึ้นถึง 3 เมตรกั้นเอาไว้ให้แล้ว เป็นการคิดเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ
บันไดเหล็กทางลงจากคอร์ทกลางแจ้งเชื่อมต่อห้องนอน ทำให้ชั้น 2 ไม่ขาดการติดต่อจากส่วนอื่น ๆ ของบ้าน สร้างทางเลือกในการเข้าถึงกันได้หลากหลาย จะขึ้นไปห้องนอนจากด้านนี้ก็ได้ หรือจะเข้าจากบันไดในบ้านก็ได้เช่นกัน
บ้านทุกหลังจะสะท้อนบุคลิกของผู้อยู่อาศัย ซึ่งบางหลังไม่ได้มีสมาชิกเพียงคนเดียว บ้านที่ดีจึงต้องรวมไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างเอาไว้อย่างลงตัว เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ที่การเริ่มต้นชีวิตครอบครัวด้วยการนำความชอบ ความต้องการ สิ่งที่อยากจะเห็นของแต่ละคนมาแชร์กัน จะทำให้ทุก ๆ ตารางเมตรเต็มไปด้วยมุมที่ยิ่งเห็นยิ่งชอบ สมาชิกในบ้านมีความสุขกับสิ่งที่เลือกนั่นเองครับ “บ้านไอเดีย” หวังว่าผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจดี ๆ เพื่อสร้างบ้านที่เป็นพื้นที่เฉพาะของตัวเองกันนะครับ