เมนู

บ้านทรงหลอด ก้าวข้ามข้อจำกัดหน้าแคบและลึก

บ้านหน้าแคบทรงหลอด

บ้านหน้าแคบ

Tube House หรือบ้านแบบทรงเหมทือนหลอดที่แคบลึก เป็นที่รู้จักกันดีในเวียดนาม และนับวันบ้านแบบนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพราะลักษณะการตัดแบ่งที่ดินแบบนี้จะให้จำนวนแปลงที่มากกว่ารูปแบบอื่นๆ ซึ่งรูปแบบอาคารลึก ยาว สูงหลายชั้น แถมยังมีผนังข้างเคียงติดกับเพื่อนบ้าน เป็นข้อจำกัดในการใส่ช่องทางรับแสงและการไหลเวียนอากาศภายในคูณสองคูณสามเท่าไปเลย หากเป็นสมัยก่อนเราก็คงจะได้เห็นตึกที่ทั้งอับทั้งทึบ แต่ปัจจุบันนี้แนวคิดในการจัดแปลนภายในและเทคนิคในการก่อสร้างจะเปลี่ยนภาพทั้งหมด อย่างบ้านหลังนี้ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีของบ้านหน้าแคบที่โปร่งสบายภายในได้มากกว่าที่เคย

ออกแบบ : Arch.A Studio
ภาพถ่ายGuang Dam
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ตึกหน้าแคบฟาซาดรูปทรงโค้งโปร่งๆ

บ้านตึก 4 ชั้นในโฮจิมินห์หลังนี้ มีบริบทเฉพาะและข้อจำกัดของพื้นที่สร้างความท้าทาย ให้กับนักออกแบบในการสร้างพื้นที่ที่พอเหมาะและมีการระบายอากาศตามธรรมชาติมากที่สุด เราจะเห็นส่วนหน้าเป็นพื้นที่เปิดโปร่งๆ ด้วยการใส่ฟาซาดแผ่นเหล็กสีขาวโค้งโอบเอาไว้ มองเผินๆ เหมือนเค้กก้อนใหญ่หลายชั้น ส่วนประตูรั้วบ้านก็เป็นแผ่นเหล็กฉลุลวดลายวงกลม ซึ่งทำให้บ้านยังมีพื้นที่รับแสงธรรมชาติ รับลม มองเห็นความเคลื่อนไหวบนถนนได้อย่างเป็นส่วนตัว บนระเบียงและดาดฟ้ามีพื้นที่ปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มบรรยากาศที่ผ่อนคลายใกล้ชิดธรรมชาติให้บ้านไปพร้อมกัน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ครัวและโต๊ะทานข้าวตกแต่งผนังด้วยหิน

ทีมงานออกแบบภายในให้มีสเปซกว้างๆ  ลดการใช้ผนังแบ่งห้องเล็กห้องน้อย แล้วใส่ความเชื่อมโยงกิจวัตรของครอบครัว พื้นที่ทำงาน และโซนพักผ่อน ไล่เรียงลำดับตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยประกอบกันไป โดยชั้นล่างสุดเมื่อผ่านที่จอดรถหน้าบ้านเปิดประตูเข้ามาจะไม่ให้ห้องนั่งเล่นเหมือนบ้านทั่วไป แต่จะเป็นห้องครัวและห้องทานข้าว ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากนัก ไม่ต้องแบ่งกับพื้นที่นั่งเล่น ผนังบ้านที่ตกแต่งแผ่นหินเป็นฉากหลัง เจาะเป็นช่องว่างขึ้นไปเชื่อมต่อกับชั้นบน ทำให้แสงและอากาศสามารถเดินทางผ่านช่องทางนี้ได้

ครัวตกแต่งไม้สีน้ำตาลเข้ม

ผนังโค้งๆ ภายนอกห้องน้ำ

จากมุมครัวที่บิลท์อินไม้สีเข้มน้ำตาลติดผนังเรียงไปยาวๆ และโต๊ะทานข้าวไม้ขนาดหลายที่นั่ง ขยับไปอีกนิดจะเป็นห้องน้ำที่ทำผนังโค้งรับกับประตูแบบ Arch โค้ง ที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านโมเดิร์น สร้างความรู้สึกของเส้นสายที่อ่อนโยนพริ้วไหวไม่แข็งกระด้างจนเกินไป

ประตูห้องน้ำ Arch โค้ง

สถาปนิกนำแสงสว่างเข้ามาในบ้านในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังบ้าน นอกจากนี้ยังมีการเจาะเพดานเชื่อมต่อจากชั้นล่างกับชั้นบนเป็นโถงสูง มีช่องแสงสกายไลท์ และช่องว่างโถงบันไดที่จัดให้อยู่ด้านข้างตลอด 4 ชั้น โซลูชันนี้ช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ และเปิดให้แสงจะกระจายอย่างสม่ำเสมอระหว่างชั้น แม้บ้านจะแคบมากกลับดูไม่อึดอัดและยังคงสว่าง

ห้องนั่งเล่นพักผ่อนดูทีวี

ช่องเปิดวงกลมติดเหล็กดัดลายดอกไม้

เพดานและผนังตกแต่งเส้นสายโค้งๆ

ห้องนั่งเล่นและพักผ่อนของบ้านถูกยกขึ้นมาบนชั้นที่ 2 ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยมากขึ้น จากการอยู่ห่างจากระดับถนนขึ้นมา สามารถทำกิจวัตรประจำวันสบายๆ โดยไม่ต้องระมัดระวังสายตาของเพื่อนบ้านและผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ในจุดนี้จะมีชุดโซฟานุ่มๆ ตัวใหญ่ให้นั่งดูทีวี บริเวณผนังที่ติดตั้งทีวีจะเจาะช่องว่างโค้งๆ เชื่อมต่อช่องว่างโถงสูงและมองเห็นคนที่กำลังนั่งทำงานหรือทำการบ้านอยู่อีกด้านของผนังได้

เพดานและผนังตกแต่งเส้นสายโค้งๆ

ห้องนอนตกแต่งโทนสีน้ำตาลร่วมสมัย

อีกฟากหนึ่งตรงข้ามกับโซนนั่งเล่นเป็นห้องนอนหลัก ที่ออกแบบตกแต่งเรียบง่ายกับโทนสีไม้น้ำตาลเข้มธรรมชาติ พื้นก็ปูด้วยไม้เช่นกัน ให้บรรยากาศความร่วมสมัยที่ได้กลิ่นอายของยุคเก่าเล็ก ๆ ห้องนี้จะติดกับส่วนหน้าของบ้านที่มีระเบียงที่จัดเป็นสวนเล็กๆ อยู่ เมื่อประตูกระจกกว้างๆ ก็สามารถรับลมรับแสงและชื่นชมต้นไม้ได้ง่ายๆ แต่ในวันที่อากาศไม่เป็นใจเมื่อปิดประตูก็ยังเชื่อมต่อสายตาทะลุผ่านประตูกระจกไปได้

ห้องนอนตกแต่งไม้ร่วมสมัย

ชั้นบนสุดก่อนถึงดาดฟ้า จะเป็นห้องนอนสองห้องอยู่คนละฝั่งบันได มีห้องน้ำอยู่คั่นตรงกลาง สถาปนิกพยายามจัดให้ห้องนอนอยู่ชิดด้านหน้าและด้านหลังอาคาร ทั้งนี้เพราะทั้งสองจุดเป็นบริเวณที่สามารถเปิดช่องทางรับแสงได้มากที่สุด ส่วนผนังอีกสองด้านส่วนหัวเตียงและปลายเตียงจะปิดทึบ จากภาพจะเห็นว่าขนาดความกว้างของอาคารไม่มากนัก จึงต้องพยายามตกแต่งภายในให้น้อยชิ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้ดูโปร่งที่สุด

ห้องน้ำโทนสีดำขาว

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านหน้าแคบลึกและไม่มีช่องทางให้เปิดรับแสงรับลมด้านข้าง จะมีปัญหาอับ ทึบ และขาดแสงช่วงกลางอาคาร รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์ที่ทำได้ยากขึ้นในกรณีที่บ้านมีหลายชั้น วิธีที่สถาปนิกใหม่ๆ ใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ อาทิ การจัดแปลนบ้านแบบเปิด ลดการก่อผนังกั้นแบ่งห้องกลางอาคารให้น้อยที่สุด การเจาะพื้นเพดานที่แบ่งชั้นออกในบางจุดสร้างพื้นที่โถงสูง เพื่อให้อากาศภายในไหลเวียนได้ดี จากนั้นจึงใส่ช่องแสง skylight รับแสงจากด้านบนแทนด้านข้างให้แสงกระจายลงสู่ตัวอาคาร ส่วนด้านหน้าและด้านหลังบ้านสร้างช่องเปิดขนาดใหญ่ที่รับได้ทั้งแสงและลม เป็นต้น

แปลนบ้าน

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด