เมนู

บ้านร่วมสมัย คงของเดิมไว้ ใส่ของใหม่ให้กลมกลืน

แบบบ้านร่วมสมัย

รีโนเวทบ้านเก่า

บ้านเก่าจะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่เป็นตัวแทนของยุคสมัย เราจึงได้เห็นคาเฟ่ สปา ร้านอาหารหลาย ๆ ที่นิยมปรับปรุงบ้านเก่าให้คงเหลือเค้าโครงแต่ใส่รายละเอียดที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งบางจุดบ้านใหม่ก็ทำได้แต่กลิ่นอายยังไงก็ไม่เหมือน เช่นเดียวกันกับบ้านหลังนี้ในบราซิล ออกแบบโดยสถาปนิก Rodolpho Ortenblad ในปี 1957 ที่ทำไว้สำหรับครอบครัวของเขา และบ้านได้รับการปรับปรุงใหม่ในปีค.ศ. 2020 โดยเริ่มจากการปรับปรุงองค์ประกอบของโครงการเดิมให้ และการเปลี่ยนแปลงแปลนภายในบ้านให้สอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น

ออกแบบFelipe Hess Arquitetos
ภาพถ่าย : Fran Parente
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านยุค mid century

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ปรับปรุงบ้าน 2 ชั้นยุค mid century

บ้าน mid century ปรับใหม่ให้สะดวกขึ้น

บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลจาก São Paulo Salon of Modern Art ในปี 1960 และตีพิมพ์ในหนังสือ“ Residências em São Paulo 1947-1975” โดย Marlene Acayaba จึงเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงแนวคิดของสถาปนิกในสมัยนั้น หลังการปรับปรุงจึงยังคงรักษาลักษณะที่เป็นหลักของบ้านเอาไว้ ​​แต่ปรับเปลี่ยนบางจุดให้เข้ากับความต้องการของคนร่วมสมัย

ส่วนหน้าของบ้านถัดจากรั้วบ้านมีโรงรถ ลานนั่งเล่นกว้าง ๆ ที่ปูด้วยแผ่นหินแบบฟรีฟอร์ม ปลูกต้นหนวดปลาดุกแคระสีเขียวสดแทรกระหว่างแผ่น ตรงส่วนนี้จะเชื่อมเข้าสู่ตัวบ้านบริเวณมุมนั่งเล่นรับแขก จึงปรับเปลี่ยนมาใช้ผนังกระจกและประตูกระจกที่เปิดเชื่อมออกสู่พื้นที่ภายนอก ตอนนี้มีสวนเพิ่มและสร้างเชื่อมต่อกับห้องดูทีวี ห้องเด็กเล่น ที่สร้างความต่อเนื่องด้วยประตูไม้และกระจกแบบใหม่ที่จำลองกรอบเดิมเอาไว้

ซุ้มระแนงข้างบ้าน

ซุ้มระแนงไม้เลื้อยพร้อมม้านั่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของบ้าน และเป็นลักษณะเฉพาะของโครงการของ Rodolpho Ortenblad เคยถูกรื้อออกไป และต้องขอบคุณภาพถ่ายเก่า ๆ ที่สามารถนำมาทำใหม่ได้เหมือนกับโครงการเดิม

ห้องนั่งเล่นยุค 60 ผนังกระจก

มุมนั่งเล่นผนังกระจก

อบอุ่นด้วยงานไม้และวัสดุธรรมชาติ

บรรยากาศภายในของบ้านอบอวลด้วยกลิ่นอายของยคสมัย Mid century  ที่มีจุดเด่นในการใช้งานไม้เป็นองค์ประกอบหลัก ๆ  เฟอร์นิเจอร์ที่เส้นสายเรียบง่าย (Simple Lines) ดัดแปลงและตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป (Pure Forms) จะเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือรูปทรงเรขาคณิต เน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวมนุษย์กับธรรมชาติ วัสดุที่ใช้ก็จะมีทั้งวัสดุธรรมชาติอย่าง หนัง ไม้ ผ้า ไปจนถึงโลหะต่าง ๆ และวัสดุที่ทันสมัยขึ้นอย่าง พลาสติก โพลีเอสเตอร์ หรือไฟเบอร์กลาส แต่สิ่งที่คงไว้คือ รูปทรงที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน และต้องเหมาะกับสัดส่วนสรีระของผู้ใช้งาน

ปูพื้นไม้แบบบ้านเก่า

มุมทานอาหาร

คงเอกลักษณ์เดิมเพิ่มสิ่งใหม่ให้กลมกลืน

ทุกพื้นที่ภายในบ้านจะพบวัสดุดั้งเดิมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นส่วนเสา เพดาน แผงไม้ และกรอบไม้ทาสีขาวถูกขัดเคลือบใหม่ทั้งหมด พื้นหินที่ปูอยู่นอกบ้านและในบ้านก็ยังได้รับการปรับปรุงให้สวยงามด้วย แต่ก็มีบางจุดที่เปลี่ยนมาใช้อิฐใหม่ทาสี พื้นไม้ใหม่สำหรับชั้นล่างและชั้นบน ซึ่งก็ดูกลมกลืนกันดีระหว่างเก่าและใหม่  วัสดุและสีที่ใช้อ้างอิงถึงชุดสีดั้งเดิมของบ้าน เช่น หินปูนสีเบจและไม้สีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น

บ้านกลิ่นอายยุค 60

พื้นปูแผ่นหินแบบฟรีฟอร์ม

โถงบันได

การปูพื้นด้วยวัสดุที่แตกต่างให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกัน บริเวณด้านหน้าเป็นจุดศูนย์รวมของพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนในบ้านจะมาใช้งานนั่งเล่นพักผ่อนด้วยกัน เหมาะใช้พื้นไม้เป็นตัวชูบรรยากาศความอบอุ่น เมื่อเข้ามาในส่วนโถงบันไดพื้นถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นหิน เป็นการบ่งบอกกลาย ๆ ว่าจะเปลี่ยนจากห้องหนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งแล้ว และยังทำให้บ้านดูมีลูกเล่นดูไม่น่าเบื่อด้วย บริเวณนี้ยังเปิดเชื่อมต่อกับสวนด้านหน้า สมาชิกในบ้านอาจจะเปิดประตูเข้ามาแล้วขึ้นชั้นบนได้เลย การปูแผ่นหินจะไม่เป็นรอยง่ายเท่าพื้นไม้

ห้องนอนมีประตูเปิดออกสู่สวน

ห้องโถงนั่งพักผ่อนได้รับการซ่อมแซมและมีใส่ประตูบานเฟี้ยม โดยใช้ไม้ที่มีอยู่แล้วมาทำใหม่ เพื่อเชื่อมต่อห้องดูทีวีกับห้องอื่น ๆ ให้ได้ง่ายขึ้น บ้านนี้จึงคงความดั้งเดิม เพิ่มเติมคือการใช้งานที่สะดวกและสบายขึ้นตามความตั้งใจของผู้อยู่อาศัย

ห้องน้ำแยกโซนแห้งเปียก

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การปรับปรุงบ้านเก่านั้น มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีหลายประการทั้งการรื้อออกและการเพิ่มเติมเข้ามา สำหรับการรื้อโดยเฉพาะส่วนเสาและผนัง ที่มักเป็นที่นิยมเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่บ้านให้กว้างขึ้น ต้องเช็คก่อนว่าผนังนั้นเป็นผนังรับน้ำหนักหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือใช้วิธีอื่น ๆ ในการแก้ปัญหา สำหรับการต่อเติมสิ่งที่ต้องคิดถึงคือน้ำหนัก เพราะบ้านเดิมอาจไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ฐาน เสา คานรับน้ำหนักเพิ่ม ดังนั้นถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุดก่อนทำการรื้อหรือต่อเติมควรให้สถาปนิกหรือวิศวกรช่วยตรวจสอบโครงสร้างบ้านก่อนจะดีที่สุด

แปลนบ้าน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด