
ที่พักจากวัสดุธรรมชาติ
ถ้าพูดถึง “หอพักแพทย์” ภาพที่คุ้นตาที่สุดก็คงเป็นห้องชุดหรือบ้านพักข้าราชการที่อิฐฉาบปูน แต่สำหรับประเทศรวันดา ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดารในแถบแอฟริกา การจัดสรรงบประมาณสำหรับสาธารณสุขมีน้อยนิด จึงต้องออกแบบและจัดสร้างท่ามกลางข้อจำกัด แต่งบน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้ ตัวอย่างหอพักที่นำเสนอในบทความนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่พิสูจน์ได้ กับโครงการที่พักสำหรับแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่รัฐบาลรวันดาได้ขอให้หน่วยงานด้านสุขภาพ (PIH) และกลุ่มสถาปนิกช่วยคิดและทำบ้านพักราคาถูกที่อยู่ได้สบายอย่างถูกสุขอนามัย ซึ่งผลงานก็ออกมาเรียบง่ายด้วยวัสดุธรรมชาติแต่ใช้งานได้ดีเต็มประสิทธิภาพ
ออกแบบ : sharon davis design
ภาพถ่าย : Bruce Engel
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ที่พักจากวัสดุธรรมชาติ
“ Share House” เป็นที่พักสองหลังสำหรับแพทย์หรือพยาบาลรวม 16 คน ออกแบบโดย Sharon Davis Design จากมหานครนิวยอร์ก โดยร่วมมือกับ Rwanda Village Enterprise ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพเรื่องสาธารณสุขใน Rwinkwavu ชนบทของรวันดา ประเทศหนึ่งในแอฟริกาตะวันออก ตัวเรือนนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับการสร้างระบบการดูแลสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของประชาชนในสองพื้นที่ภายใต้เขตการปกครอง ซึ่งเจ้าของโปรเจ็คนี้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ที่นี่เป็นมากกว่าหอพักสำหรับแพทย์และพยาบาล ไม่เพียงแต่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาล – ประหยัดเวลาและเงิน – แต่เป็นที่อยู่อาศัยคุณภาพดีใกล้โรงพยาบาลที่จะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจให้คนทำงาน และสร้างการเชื่อมต่อที่ใกล้ชิดระหว่างพนักงานและชุมชน
ในการก่อสร้างมีความท้าทายของสถานที่ที่ตั้งอยู่บนไหล่เขาที่มีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ในขณะที่ทำงานกับงบประมาณที่จำกัด จึงต้องออกแบบอาคารสอดรับกับปัจจัยที่ว่ามา เริ่มจากการลดค่าใช้จ่ายเรื่องวัสดุโดยว่าจ้างสหกรณ์สตรีให้ผลิตอิฐทำมือสำหรับการก่อสร้างกำแพงหลัก และทำ facade เปลือกนอกอาคารด้วยไม้ยูคาลิปตัสที่หาได้ง่ายแบบไม่ต้องซื้อหามาล้อมรอบโครงสร้างเอาไว้อีกชั้น รากฐานและทางเดินเป็นแผ่นหินที่ได้จากเหมือง ส่วนหลังคาทำจากกระเบื้องดินเหนียวเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนและเสียง การผสมผสานองค์ประกอบทางธรรมชาตินี้ทำให้ที่อยู่อาศัยได้เชื่อมต่อกับวิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมในภูมิภาค ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น กว่า 90% ของการก่อสร้างใช้แรงงานของคนในหมู่บ้าน rwinkwavu
ผนัง 2 ชั้นมีฟาซาดกิ่งไม้ใช้กั้นกรองแสง
แผงฟาซาดที่ทำจากกิ่งไม้ยูคาลิปตัสแห้งล้อมรอบด้านข้างของบ้าน ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวจากสายตาบุคคลที่ผ่านไปมาโดยไม่ทำให้อึดอัด และยังช่วยกั้นกรองแสงที่ร้อนแรงภายนอก ในขณะที่ยังรับลมให้เข้ามาสร้างความเย็นสบายภายในได้ เมื่อฟาซาดเสียหายก็สามารถซ่อมแซมเองได้ง่ายๆ เป็นการแก้ไขโจทย์เรื่องสภาพอากาศแบบง่าย ๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ
อาคารที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
พื้นที่ใช้งานภายในหอพักจะแบ่งเป็นโซน ๆ มีทั้งห้องที่ใช้งานส่วนรวมอย่างห้องนั่งเล่น พื้นที่อ่านหนังสือ ห้องประชุม ห้องสุขา ห้องอาบน้ำ และห้องนอนส่วนตัว ในห้องใช้พักผ่อนรวมจะทำเป็นลักษณะสโลปไต่ระดับความความสูงของที่ดินที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะมีประโยชน์คือโถงหลังคาที่เฉียงสูงทำให้ดูโปร่งและความร้อนลอยตัวขึ้นแล้วระบายออกสู่ภายนอกได้ดี การสร้างระดับที่แตกต่างเป็นการแบ่งพื้นที่ให้งานแยกออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วนไปด้วยในตัว
แม้ว่ารวันดาจะมีอากาศร้อน แต่แสงสว่างยังคงมีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต จึงต้องสร้างช่องแสงให้สาดส่องเข้ามาอย่างเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเจาะช่องแสงบนผนังหรือการใส่ช่องแสง skylight ใส่วัสดุโปร่งแสงบนหลังคา ที่ทำให้พื้นที่ภายในรับความสว่างได้มากขึ้นโดยไม่ทำให้รู้สึกว่าร้อนเกินไป
โครงสร้างอาคารหอพักทำจากอิฐ หิน ไม้ เหล็ก และกระจก ซึ่งแต่ละวัสดุก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ห้องพักแต่ละห้องแยกเป็นส่วนตัวมีระเบียงหลังห้องให้ออกมานั่งพักผ่อนชมวิวคลายความเครียดยามเย็นในแต่ละวัน
ห้องสุขาและห้องอาบน้ำมีจังหวะของช่องแสงที่ช่วยให้ห้องสว่างและลดความชื้นภายใน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การออกแบบบ้านในเขตร้อน สิ่งที่สำคัญคือ การกั้นกรองแสงจากภายนอกและการสร้างช่องทางระบายอากาศ สิ่งที่สถาปนิกนิยมทำคือการสร้างผนังหลักด้านใน แล้วใส่ฟาซาดหรือเปลือกบ้านที่คลุมอยู่ด้านนอก ซึ่งฟาซาดที่ว่านี้ต้องมีช่องว่างสำหรับให้แสงและลมลอดเข้าไปภายในบ้านได้ อย่างในที่พักแพทย์นี้ก็ทำฟาซาดจากกิ่งไม้ยูคาลิปตัส สำหรับบ้านเราอาจจะเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่น ๆ ตามความสะดวก เช่น บล็อกช่องลม แผ่นเหล็กฉลุ ตะแกรงเหล็กฉีก ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องแสง ลม และ เพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ในคราวเดียวกัน |
แปลนบ้าน