
บ้านบนที่ดินหน้าแคบ
ต้องยอมรับว่าสิ่งที่มักมาควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองสมัยใหม่คือ ราคาที่ดินพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ขนาดจึงเล็กลงและถูกตัดแบ่งเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าแคบลึกมากขึ้น เพื่อให้ซอยย่อยได้หลายแปลง และเมื่อต้องเผชิญกับคลื่นสมัยใหม่ ผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มย้อนกลับมาคิดถึงความผูกพันและความรู้สึกที่มีต่อบ้านและสวนที่เคยเติบโตมา จึงไม่น่าแปลกใจที่บ้านยุคใหม่จะแอบมีกลิ่นอายของชนบทหรือวิถีชีวิตที่เคยคุ้นเมื่อยังเด็กแทรกเข้าไป เหมือนบ้านในเวียดนามหลังนี้ที่มีแนวคิดในการนำความคิดถึงวิถีชีวิตแบบเก่า ความสงบสุข มาสู่เจ้าของบ้านในพื้นที่ของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ออกแบบ : 6717 studio
ภาพถ่าย : Hiroyuki Oki
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ถ้าพูดถึงคำว่า “ขอบเขต” เรามักเข้าใจกันว่าเป็นเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างภายในและภายนอก ระหว่างด้านหนึ่งกับอีกด้านหนึ่ง เป็นเขตแดนที่ข้ามผ่านไปมาไม่ได้ ยิ่งพื้นที่ที่จำกัดและแยกส่วนในเมืองยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของขอบเขตแบบนี้ “บ้านกว่างไห่” จึงต้องการนำเสนอการรับรู้ที่แตกต่างกันของเขตแดน ด้านหน้าจึงด้วยวัสดุแบบชนบทอย่างอิฐมาปูพื้นสนามและรั้วเตี้ยๆ ซึ่งค่อนข้างให้ความรู้สึกคุ้นเคยและเบาสบาย เพื่อบอกกลายๆ ว่าบางครั้งรั้วก็ไม่ได้มีไว้เพื่อแยกหรือป้องกัน แต่ใช้สำหรับบ่งบอกความเป็นส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
สำหรับ Quang Ngai House นั้นตั้งอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่น ที่ดินอยู่ติด ๆ กันจะไม่มีการเว้นระยะย่นด้านข้าง สถาปนิกจึงเลือกสร้างผนังสองข้างให้สูงกลายเป็นเสมือนกำแพงบ้านไปด้วยในตัว ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ด้านข้างของบ้านไม่มีพื้นที่รับแสงในขณะที่บ้านยังต้องการแสงในการใช้ชีวิต ทีมงานจึงต้องแก้ปํยหานี้ด้วยการทำระบบประตูบานเลื่อนกระจกด้านหน้า การเปิดสเปซโปร่งๆ ข้างใน และออกแบบบ้านให้มีด้านหนึ่งสูงกว่าอีกด้าน เพื่อให้สามารถเปิดรับแสงและระบายอากาศจากด้านบนได้
จากประตูรั้วเข้ามาเป็นลานอิฐทำสวนเล็ก ๆ จากนั้นจะมีสเต็ปบันไดนำขึ้นมาสู่เฉลียง ซึ่งมีประตูบานเฟี้ยมกระจกพับเก็บได้สร้างความต่อเนื่องของพื้นที่เข้าสู่ห้องนั่งเล่น จุดนี้จึงเป็นเหมือนส่วนขยายของพื้นที่ภายในที่เชื่อมต่อชีวิตส่วนตัวกับพื้นที่ภายนอก สร้างความรู้สึกสบายและผ่อนคลาย ให้สมาชิกในบ้านรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติและได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกช่วงของปี
จากแนวคิดที่ว่าความทันสมัยต้องไม่แยกตัวตัดขาดจากประเพณีวัฒนธรรมของเวียดนาม เจ้าของบ้านจึงต้องการนำเฟอร์นิเจอร์เก่ากลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับใส่วิถีชีวิตแบบเก่าด้วยการหาจุดวางแท่นบูชาที่ต้องมีแทบทุกบ้านเอาไว้ที่นี่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คงดูไม่เข้ากับบ้านลุคโมเดิร์นของบ้านหลังนี้ แต่ด้วยการจัดพื้นที่วางโต๊ะบูชาที่อยู่ตรงกลางบ้านคั่นด้วยสระน้ำ มีผนังมีช่องเปิดวงกลมและแจกันดอกไม้ในห้องรับแขกอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน เมื่อมองเข้ามาจะไม่รู้สึกแปลกแยกกลับดูสวยงาม และยังสามารถเข้าไปไหว้พระไหว้บรรพบุรุษอย่างเป็นส่วนตัวด้วย
ระหว่างห้องนั่งเล่นและห้องบูชาจะคั่นด้วยสวนน้ำที่มีปลาแหวกว่าย บนหลังคาเป็นช่องแสง skylight ที่ใช้ความสว่างจากด้านบน นอกจากตรงนี้ยังมีคอร์ทยาร์ดข้างในติดกับครัวอีก 1 จุด บ้านนี้จึงไม่ขาดแสงสว่าง และยังเหมือนมีพื้นที่กลางแจ้งอยู่ภายในแบบ inside out- outside in
เส้นโค้งที่นุ่มนวลถูกนำมาใช้เพื่อสร้างจุดโฟกัสที่การเปลี่ยนช่องว่างโถงสูงในบ้าน ความโค้งนี้จะให้ความรู้สึกตรงกันข้ามกับเส้นสายทางสถาปัตยกรรมที่แข็งกระด้างของกล่องคอนกรีต แต่ยังคงกลมกลืนกับพื้นที่โดยรวม บางจุดของบ้านเราจะเห็นการใช้เฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอลมีเฉพาะชิ้นที่จำเป็น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการใช้พื้นที่
โต๊ะอาหารขนาดใหญ่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและเป็นกันเอง แม้จะเป็นชิ้นงานที่ต่างยุคสมัยกับบ้านโมเดิร์นมินิมอล แต่ก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบไม่ขัดเขิน การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เคยนิยมมาเมื่อหลายสิบปีก่อนยังทำให้ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในบ้านนี้ด้วยมีความอุ่นใจกับบรรยากาศเดิมๆ ในบ้านที่เคยใช้ชีวิตมาก่อน
บันไดวนสีขาวมีเส้นโค้งที่ละเอียดอ่อนทำให้บ้านดูพริ้วไหว นอกจากฟังก์ชันทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างชั้นแล้วยังเหมือนเป็นงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่ชวนให้มอง
สำหรับห้องนอนจะตกแต่งเรีนบๆ ง่ายๆ ด้วยเฟอร์นิเจอร์งานไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่ดีไซน์ในสไตล์โมเดิร์นไม่มีรายละเอียดที่เกินความจำเป็น บรรยากาศของห้องนอนรู้สึกได้ถึงความสงบสบาย
เมื่อแหงนหน้าขึ้นมองเพดานจะเห็นว่ามีโครงสร้างเหล็กและกระเบื้องดินเผาโชว์อยู่โดยไม่มีฝ้าเพดาน ซึ่งตรงหลังคาจะเหมือนกันหมดทั้งหลัง แตกต่างจากบ้านทั่วไปในเมืองไทยที่ต้องมีการกรุปิดฝ้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสามารถใส่ฉนวนปกป้องบ้านจากความร้อนที่ส่งต่อมาจากหลังคาได้ดี
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : กระเบื้องดินเผา เป็นชนิดกระเบื้องที่ใช้งานมาตั้งแต่โบราณ นอกจากจะมีความคลาสสิคและให้ความเป็นธรรมชาติแล้ว กระเบื้องดินเผายังมีคุณสมบัติใกล้เคียงดินตรงที่มีพื้นผิวเย็นสบาย ไม่ลื่น ระบายความชื้นและความร้อนได้ดี ราคาไม่แพง เมื่อนำมาใช้งานกับบ้านที่มีโถงสูงมีระยะห่างจากหลังคาถึงพื้นมาก ก็จะช่วยให้ความร้อนที่ถ่ายเทจากหลังคาลงสู่ตัวบ้านทำให้ช้าและน้อยลงบ้านจึงเย็น สังเกตง่ายๆ จากวัดที่มักมีหลังคาสูงมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาภายในจะเย็นโดยที่ไม่ต้องมีฉนวนกันความร้อน แต่ก็มีข้อเสียคือ มีการดูดซึมน้ำสูง มีความเปราะแตกหักง่าย ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทยปัจจุบัน |
แปลนบ้าน