อาคารอเนกประสงค์ผนังไม้แป้นเกล็ด
ในช่วงหลายปีนี้ ประเทศจีนพยายามพัฒนาพื้นที่ชุมชนห่างไกลให้มีประชาชนได้ใช้ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะงานสถาปัตยกรรม ปรับปรุงสุขา อาคารเรียน ไปจนถึงเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานร่วมกันได้ โดยเพิ่มการดีไซน์ให้สวยงามน่าใช้งาน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชม คือ อาคารอเนกประสงค์ขนาดเล็กนี้ เป็นโครงการสวัสดิการสาธารณะตั้งอยู่ในเขต Wanchun เมืองเฉิงตู ชุมชนนี้อยู่ในชนบทล้อมรอบด้วยภูมิทัศน์ทางการเกษตร จึงพยายามออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากที่สิ่งมีให้มากที่สุด โดยมุ่งมั่นที่จะให้บริการการอ่านจากห้องสมุดสาธารณะ สร้างชีวิตทางวัฒนธรรมด้วยแนวคิด “ไม่ว่าจะดึกแค่ไหน ที่นี่ก็จะเปิดไฟรอเสมอ” ซึ่งนำความอบอุ่นทางอารมณ์มาสู่ชุมชนอย่างน่าทึ่ง
ออกแบบ : Mat Office
ภาพถ่าย : Arch-Exist
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
อาคารนี้เป็นอาคารชั่วคราวที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวของถนน Tuanjiequ การออกแบบกำหนดพื้นที่หลักบ่งออกเป็นสามส่วน สำหรับการอ่านหนังสือ การจัดแสดง และพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน ผ่านรูปทรงเรขาคณิตคล้ายพีระมิด หลังคาลาดเอียงสูงไม่เพียงแต่กำหนดรูปร่างสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังให้แสงสว่างจาก skylight เข้าไปในอาคารด้วย ทั้งสามอาคารนี้จะเชื่อมต่อกันด้วยห้องกระจก เพื่อสร้างความรู้สึกภายนอกด้วยประสบการณ์พื้นที่ภายในที่โปร่งใส
การก่อสร้างต้นทุนต่ำ เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับโครงการสวัสดิการสาธารณะแทบทุกโครงการ ดังนั้นอาคารนี้จึงดีไซน์ในแบบที่ช่างทำได้ไม่ยาก วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ด้วยโครงสร้างไม้แบบเรียบง่ายละทิ้งโครงสร้างที่อาจเพิ่มต้นทุน ส่วนคานและเสาที่ใช้เป็นโครงไม่เพียงแต่เป็นโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังสร้างขอบเขตพื้นที่ภายในอีกด้วย เช่น แผ่นไม้อัดสนแป้นเกล็ด ที่เป็นทั้งโครงสร้างผนังและหลังคา ช่วยปกป้องอาคารขนาดเล็กจากการกัดเซาะของฝน และยังเข้ากับลักษณะสถาปัตกรรมวัสดุแบบดั้งเดิมของเฉิงตูอีกด้วย
หลังจากสร้างเสร็จ อาคารสาธารณะนี้ก็กลายเป็นจุดชมวิวริมถนนของหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกตาไม่เหมือนอาคารหลังไหนๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านในชุมชนชนบทโดยรอบก็เริ่มคุ้นเคยกับอาคารเล็กๆ หลังนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จากการแวะมองขณะขี่จักรยานผ่านไปในตอนแรก พวกเขาก็เริ่มเข้ามาใช้พื้นที่อ่านหนังสือและสำรวจภายในอย่างเป็นธรรมชาติ
นอกจากวัยรุ่นหนุ่มสาวจะเข้ามาอ่านหนังสือ ทำงาน ซื้อเครื่องดื่มมานั่งชิลๆ มองวิวผ่านผนังกระจกในไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่แล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังกลายเป็นสถานที่สังสรรค์ประจำวันในชุมชนชนบทอีกด้วย ที่นี่มักเห็นผู้ใหญ่มานั่งอาบแดดในวันที่อากาศหนาวเย็น ขณะที่เด็กๆ วิ่งเล่นบนสนามหญ้ารอบๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ในช่วงที่ต้องการใช้สถานที่ประชุม จัดแสดงงานประจำปี เล่นดนตรีในสวน หรือนำเสนอผลงานศิลปะก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้
ไม่เพียงแต่การออกแบบให้ลักษณะที่ไม่คุ้นตา แต่ฟังก์ชันหลายๆ อย่างที่เป็นสิ่งใหม่ก็ถูกนำมาใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลานและหลังคาวัสดุโปร่งแสงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอาคาร หรือการใส่ช่องแสงสกายไลท์รับความสว่างเข้าสู่ภายในผ่านทางด้านบนหลังคา ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงกลางวัน แต่เชื่อได้ว่าหลังจากนี้ผู้คนในชุมชนอาจจะค่อยๆ ซึมซับแนวคิดการจัดการอาคารไปปรับใช้กับบ้านในอนาคต เพื่อให้อยู่อาศัยได้สบายและเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ๆ มากขึ้น
เมื่อพลบค่ำมาถึง อาคารเล็กๆ แห่งนี้จะดูเหมือนหอหนังสือที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นราบ และให้แสงเปล่งประกายรอบด้าน เปรียบเป็นดั่งประภาคารที่ส่องสว่างให้ความอบอุ่นแก่ชาวเรือ สมกับความตั้งใจของผู้จัดทำโครงการ
แปลนอาคาร