เมนู

เรียงอิฐกันร้อน ให้บ้านที่หันหน้าทางทิศตะวันตก

วิธีกันร้อนให้บ้านทิศตะวันตก

บ้านฟาซาดอิฐช่องลมโถงสูงภายใน

“บ้านไอเดีย” เชื่อว่าต้องมีที่พักอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่แทบไม่ได้พบปะพูดคุยกันเลย ไม่ใช่เพราะความห่างเหินในความสัมพันธ์ แต่เพราะตัวอาคารไม่เอื้อให้ออกมาพบปะกันง่าย ๆ โดยเฉพาะบ้านที่มีหลายชั้นก็มักจะมีพื้นและเพดานแยกชั้นอย่างชัดเจน บ้านยุคใหม่จึงเน้นการทำลายกำแพงเหล่านี้ลงไป เหมือนเช่นบ้านในใจกลางเมือง Vadodara  ประเทศอินเดีย เป็นโครงการรีโนเวทอาคาร ที่เน้นการกำหนดบทสนทนาระหว่างโครงสร้างที่มีอยู่และการเจาะที่ว่างใหม่ๆ ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ง่ายขึ้น

ออกแบบ : Manoj Patel Design Studio
ภาพถ่าย : Sudhir Parmar Photography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านทรงกล่องฟาซาดอิฐช่องลม

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านทรงกล่องฟาซาดช่องลมมีระเบียงเล็ก ๆ

บ้านพื้นที่ 278.7 ตารางเมตรนี้ สร้างอยู่ในวโฑทราเมืองใหญ่อันดับ 3 ของรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย มองเผิน ๆ เหมือนบ้านสร้างใหม่ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการรีโนเวทอาคารเดิมที่มีปัญหาเรื่องแสง ลม และการใช้งานที่ไม่ต่อเนื่องภายใน การออกแบบใหม่นี้จึงพยายามแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่รอบคอบในการจัดการกับความท้าทายภายใน สร้างโอกาสในการใช้งานใหม่ ด้วยพื้นที่เปิดโล่ง เพิ่มกราฟิกที่มีสีสันให้รู้สึกมีชีวิตชีวา พร้อมกลยุทธ์การออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ

เริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงจาก Façade ที่เน้นกรอบสายตาให้เห็นสัดส่วนของอาคารในปริมาณต่าง ๆ ผ่านวัสดุอิฐแดงธรรมดา ที่ถูกนำมาเรียงในแพทเทิร์นต่าง ๆ ทั้งทึบและโปร่ง ตัดกับวัสดุสีเทาที่มีโทนสีเสริมกัน ซึ่งส่วนหน้านี้ไม่ได้ทำมาเพื่อความสวยอย่างเดียว แต่เพราะหน้าบ้านหันไปทางด้านทิศตะวันตกที่ร้อนจัดช่วงกลางวัน ผนังช่องลมเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยกั้นกรองแสง และผลพลอยได้คือทำให้เกิดเงาและแสงธรรมชาติตกกระทบสวยในตอนกลางวัน

เน้นกรอบบ้านด้วยอิฐแดง

ภายในตกแต่งไม้และกระเบื้องดินเผา

จากทางเดินชั้นล่างเปิดประตูเข้ามาจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น ซึ่งตกแต่งสวยสะดุดตาตรงพื้นบ้านที่ปูด้วยหินอ่อนลวดลายคล้ายลายน้ำไหล และพื้นหินขัดที่กลายเป็นเหมือนพรม บนผนังตกแต่งเฉดสีเขียวของแม่น้ำบ่งบอกถึงความสดใหม่สบายตา ทีวีสี่เหลี่ยมจอสีดำขนาดใหญ่แขวนอยู่เหนือฉากหลังของผนังอิฐเปลือยสีแดงอมส้มเน้นให้ผนังยิ่งน่าสนใจ ส่วนของเฟอร์นิเจอร์มีโซฟารูปตัว L หุ้มด้วยเฟอร์นิเจอร์สีเทา เพื่อให้กลมกลืนเหมือนละลายหายไปกับพื้น

โถงสูงตกแต่งลวดลายสวย

สำหรับพื้นที่ใช้งานเดิมในจุดต่างๆ ของบ้านจะถูกรื้อออก เพื่อเปิดช่องว่างสร้างบรรยากาศที่กว้างขึ้นและมีการเชื่อมต่อที่ราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นผนังที่แบ่งห้องหรือพื้นเพดานก็จะมีส่วนที่ถูกรื้อให้เชื่อมต่อในแนวตั้ง สร้างโถงความสูงเป็นสองเท่ารวมชั้นต่างๆ เข้าด้วยกัน ผลที่ตามคือ คือภาพลวงตาของพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น  ความสูงเป็นสองเท่ากลายเป็นจุดสนใจ กราฟิกหยักโค้งสีเขียวไล่เฉดสีเขียวบนผนังช่วยให้ความรู้สึกแบบชนบทใกล้ชิดธรรมชาติ การวางแนวพื้นที่ที่ปราศจากสิ่งกีดขวางสำหรับฟังก์ชั่นประจำวัน ทำให้การสื่อสารผ่านจุดต่างๆ ของบ้านทำให้ง่ายขึ้น และใส่ความเบาสบายให้อากาศและแสงไหลผ่านได้ดีด้วย

ห้องนอนตกแต่งอิฐแบบ 3 มิติ

จุดโถงสูง Double space นี้ยังเชื่อมโยงกับหน้าต่างห้องนอนใหญ่ที่ชั้นบน ทำให้ไม่พลาดการติดต่อกับคนที่อยู่ชั้นล่างในทุกเวลา สำหรับห้องนอนก็จะคงคอนเซ็ปการตกแต่งผนังลวดลายอิฐลอยตัวบนผนังตรงหัวนอน สลับกับแผ่นหินขัดและสีเขียว แสดงการเล่นขององค์ประกอบที่ต่อเนื่องกับบ้านทั้งหลังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ห้องนอนตกแต่งอิฐแบบ 3 มิติ

โถสุขภัณฑ์แบบลอยตัว

ห้องน้ำในธีมคอทเทจแบบชนบท มีอิฐรูปแบบต่ง ๆ ตกแต่ง พร้อมกับใส่ช่องว่างเหนือเพดานติดตั้ง skylight ดึงแสงให้กระจายเข้ามาจากด้านบน ในห้องน้ำยังมีต้นไม้วางประดับเป็นจุด ๆ ช่วยให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติอย่างใกล้ชิด พร้อมความรู้สึกแบบกลางแจ้งชวนให้เข้ามาใช้งานได้บ่อยๆ

มิติของแสงเงาที่ตกกระทบพื้นบ้าน

มุมนั่งเล่นชมวิวที่ชั้นบน

ชั้นบนสุดเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของบ้าน จากด้านนอกจะเห็นการตกแต่งด้วยวัสดุโลหะดัดเป็นรูปเกือบวงกลม ขนาบด้วยผนังก่ออิฐให้มีจังหวะทึบสลับโปร่งแพทเทิร์นไม่เหมือนใคร ทำให้สามารถมองเห็นทะลุช่องทางเหล่านี้ ภายในยังจัดเป็นมุมนั่งเล่นดื่มกาแฟสบายๆ เอื้อให้บ้านได้รับแสง ลม วิว ในมุมสูง เมื่อแสงอาทิตย์ส่องลอดช่องว่างนี้จะเกิดเงาตกกระทบรูปพระจันทร์เสี้ยวที่สวยงามบนพื้น

ช่องลมรูปพระจันทร์เสี้ยว

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นที่ถูกพื้น เพดาน หรือผนังห้องแบ่งแยกสัดส่วนจนมองเห็นและเข้าถึงกันได้ยาก บ้านในยุคใหม่ๆ ที่เห็นถึงปัญหานี้ด้วยการเพิ่มช่องว่างให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อในแนวตั้งด้วยการลดส่วนที่จะเป็นพื้นออก เจาะขึ้นไปเชื่อมต่อเป็นโถงสูง วิธีนี้นอกจากจะทำให้ระหว่างชั้นบนชั้นล่างสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้แสงและลมภายในบ้านไหลได้สะดวกขึ้นด้วย

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด