อาคารจากวัสดุน้ำหนักเบา
ในถิ่นทุรกันดารบางครั้งก็ไม่ได้ต้องการโครงสร้างอาคารเรียนหรือบ้านที่ใหญ่โตอลังการ ขอแค่ใช้ประโยชน์ได้จริงในงบประมาณไม่สูงก็เพียงพอ โชคดีที่ยุคนี้วัสดุสำหรับสร้างอาคารมีให้เลือกมากมาย จากสมัยก่อนที่มีแต่วัสดุหนัก ๆ และใช้เวลาก่อสร้างนานอย่างอิฐฉาบปูน ก็มีเมทัลชีท ผนังเบา แผ่นวัสดุโปร่งแสงมาให้ใช้ อย่างเช่น โครงการ “ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม Mencoriari” ที่ตั้งอยู่ในชุมชนพื้นเมืองของ Mencoriari ในป่าตอนกลางของเปรู ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้สร้างพื้นที่เวิร์กช็อปปละเรียนรู้การอนุรักษ์พืชและป่าไม้ที่มีอายุนับพันปี ให้เป็นทางเลือกแทนห้องเรียนแบบเดิม ๆ
ออกแบบ:Marta Maccaglia, Semillas
ภาพถ่าย : Eleazar Cuadros
เนื้อหา: บ้านไอเดีย
สำหรับกระบวนการคิด การออกแบบ และการก่อสร้าง ได้ดำเนินการผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับนักศึกษา 58 คนและครอบครัว ทำให้สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม กิจกรรม และความต้องการของชุมชนได้ ในทำนองเดียวกัน การประชุมเชิงปฏิบัติการ ยังช่วยกำหนดบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในชุมชน ให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับการใช้งานสาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนความฝันของชุมชน ที่ต้องการใช้ที่นี่พื้นที่การศึกษาสำหรับการอบแห้งพืชและรากสมุนไพร และ “ห้องเรียนแบบเปิด” เพื่อการวิจัยและศึกษายาธรรมชาติ การเกษตร และการป่าไม้
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดิน หน้าป่าและหุบเขา รูปทรงของอาคารเป็นไปตามเงาของภูเขา ตัวอาคารมีชั้นเดียวลักษณะแบบเพิงหมาแหงนสองหลังชนกัน ทำให้น้ำระบายลงจากหลังคาได้เร็ว ทั้งสองอาคารแบ่งตามพื้นที่ใช้งาน คือ เป็นส่วนเก็บของและสำนักงาน ภายในเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นสำหรับแต่ละกิจกรรม
อาคาร/โรงเก็บของประกอบด้วยพื้นซีเมนต์และโครงสร้างไม้ทั้งหมด ผนังบางส่วนปิดด้วยแผ่นพลาสติกโพลีโพรพีลีนโปร่งแสง และหลังคาเป็นโลหะคาลาไมน์เทอร์โมอะคูสติก ซึ่งทำให้การก่อสร้างทำได้รวดเร็ว ขณะเดียวกัน ในภาคกลางของที่นี่ยังมีการผลิตอิฐดินเผาจำนวนมาก จึงนำวัสดุก่อสร้างท้องถิ่นนี้เข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาคาร ในส่วนที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน
พื้นที่ส่วนกลาง เป็นผนังอิฐเชื่อมต่อกับพื้นที่เก็บของและสำนักงาน ช่องว่างระหว่างผนังจะสร้างทางเดินกระจายออกเป็นสองทางที่ด้านข้าง ซึ่งสามารถแขวนภาพการนำเสนองานอินโฟกราฟิกและหนังสือพิมพ์ติดผนังได้ ทางด้านซ้ายของพื้นที่ มีโครงสร้างไม้ในห้องเรียน/ห้องอบแห้ง ทำหน้าที่เป็นส่วนรองรับต้นไม้และรากต้นไม้ที่แขวนอยู่ให้ศึกษา เป็นพื้นที่สำหรับพืชแห้งและพืชมีชีวิต พื้นที่นี้จะมีประตูขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดได้เพื่อระบายอากาศ ลดอุณหภูมิภายใน และเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอก
อาคารอีกด้านเป็นห้องเรียนของโรงเรียน ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็น “ห้องเรียนแบบเปิด” ซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีหลังคาคลุมทางเข้าโดยมีม้านั่งล้อมรอบอาคาร มีกระดานดำขนาดใหญ่วางอยู่บนผนังเพื่อใช้ฉายภาพได้ ผนังที่กรุด้วยวัสดุโปร่งแสง ทำให้พื้นที่นี้มีลักษณะเหมือนเรือนกระจกที่มีชีวิตชีวา แต่ไม่ร้อน นอกจากจะใช้พื้นที่นี้เป็นศูนย์วิจัยป่าไม้ แหล่งพบปะของคนรุ่นต่างๆ ถานที่ที่นักปราชญ์ในชุมชนและนักศึกษาได้พูดคุยกัน เป็นห้องประชุมของชุมชชนในโอกาสต่างๆ ยังเป็นพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย โครงการนี้อำนวยความสะดวกในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้ท้องถิ่นโบราณกับการสอนร่วมสมัย และเป็นพื้นที่สำหรับการสร้าง “มรดกที่มีชีวิต” เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมด้วยวัสดุทันสมัยที่เรียบง่ายและไม่แพง
แปลนอาคาร