เมนู

บ้านเขตร้อน หลังคาองศาแตกต่างรับมือแดดและฝน

บ้านเวียดนาม

บ้านสไตล์ทรอปิคอล พื้นที่ชีวิตที่น่าอยู่ในทุกฤดู

จากจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติ บ้าน คือ สถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่ปกป้องผู้คนจากสภาพอากาศอันเลวร้าย ไม่ว่าจะแดด ลมหรือฝน ในช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมได้มีการวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นพื้นที่ชีวิตที่ใส่การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติลงไปด้วย เพื่อให้บ้านไม่เพียงคุ้มแดดคุ้มฝน แต่ยังตอบสนองกับสภาพอากาศที่เหมาะกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปในแต่ละโซน บ้านในเมืองโฮจิมินห์ก็เช่นเดียวกัน ด้วยที่ตั้งของเมืองเป็นที่ราบลุ่ม มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนที่มีสองฤดูหลัก ๆ คือ ฝนและแสงแดด ทำให้สถาปัตยกรรมในเมืองค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองสภาพภูมิอากาศเขตร้อนและวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมีเอกลักษณ์

ออกแบบk59 Atelier
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านหลังคาลาดเอียง

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่

บ้านเขตร้อนชื้น ตอบรับอากาศร้อนและฝนอย่างมีเอกลักษณ์

บ้านที่โดดเด่นด้วยรูปทรงหลังคาขนาดใหญ่ลาดเอียงลงมา ตั้งอยู่ในฟุ๊กเกี๋ยน ย่านชานเมืองของนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ออกแบบโดย k59 Atelier ที่ตั้งใจให้บ้านนี้ตอบโจทย์สภาพอากาศและการใช้ชีวิตสำหรับสมาชิกต่างวัย 3 เจเนอเรชั่น ด้วยที่ตั้งที่อยู่ในเขตลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนใต้ของเวียดนาม ทำให้สภาพอากาศมี 2 ฤดูหลัก ๆ  คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน จึงต้องออกแบบบ้านให้คุ้มแดดคุ้มฝน หลังคาระบายน้ำฝนได้ดีและมีช่องเปิดขนาดใหญ่สำหรับระบายอากาศร้อน ลดชื้นภายในบ้าน

วัสดุหลัก ๆ ที่ใช้เป็นโครงสร้างตัวบ้านและตกแต่ง เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อาทิ กระเบื้องดินเผาฝีมือช่างพื้นถิ่น อิฐแดง บล็อกช่องลม งานไม้ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของความเป็นเวียดนามดั้งเดิม ที่ทำให้บ้านยังคงมีกลิ่นอายความทรงจำที่คนทุกรุ่นคุ้นเคย แม้การดีไซน์จะใส่ฟังก์ชันที่ทันสมัยสอดแทรกเข้าไปคนรุ่นเก่าก็ไม่รู้สึกแปลกแยก สำหรับการออกแบบบ้านนั้นวางคอนเซ็ปให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบ เพื่อให้ทิศทางของบ้านตอบสนองได้ครบทุกโจทย์

หลังคากระเบื้องดินเผา

บ้านที่ไม่หวั่นกับสายฝน

เพราะฤดูฝนเป็นหนึ่งในสองฤดูหลักที่บ้านต้องเผชิญ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน กว่า 7 เดือนต่อ 1 ปี จึงต้องมีระบบการจัดการน้ำฝนที่ดี ไม่ให้บ้านเสียหายจากความชื้น ทีมงานจึงออกแบบหลังคาที่มีความลาดชันสูง เพื่อระบายน้ำบนหลังคา ความลึกเป็นลอนของกระเบื้องดินเผาทำให้น้ำไหลลู่ลงได้เร็ว หลังคาจึงไม่เก็บความชื้น กระเบื้องดินเผาเป็นวัสดุที่นำพาความร้อนต่ำ จึงป้องกันความร้อนจากแสงแดดไม่ให้ส่งผ่านลงไปภายในบ้าน ทีมงานซ่อนรางน้ำอยู่ในคานคอนกรีตสามารถรองรับน้ำฝนที่ไหลลงมาใช้สำหรับรดน้ำในสวนได้อีก ในส่วนปลายของชายคาที่ยื่นเลยรางน้ำฝนออกมา ทำให้ฝนไหลลงมาเป็นม่านน้ำดูสวยงามแปลกตาราวกับงานศิลปะ

มุมมองจากชั้นลอย

จัดทิศทางรับมือแสงอาทิตย์

ด้วยแปลนบ้านที่หันไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งองศาที่ค่อนข้างเฉียงทำให้ได้รับแสงอาทิตย์ขนาบด้านข้าง สถาปนิกจึงแบ่งพื้นที่ภายในบ้านออกเป็นสองฝั่ง คือทิศตะวันตก ที่รับแสงค่อนข้างมากเป็น Action Area ที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ตั้งแต่ทางเดินหน้าบ้าน โซนนั่งเล่น ห้องครัว และช่องเปิดขนาดใหญ่ เพื่อให้บ้านโปร่งสว่าง ส่วนในทิศตะวันออกมีผนังกั้นเป็น Stillness Area หรือพื้นที่รองรับความนิ่งสงบ เช่น ห้องนอนและห้องทำงาน วิธีนี้จะช่วยป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องโดยตรงในห้องนอน ทำให้โซนพักผ่อนส่วนตัวเย็นสบาย

บ้านโถงสูงโปร่ง ๆ

แปลนบ้าน

แปลนชั้นล่าง ทิศตะวันตกเป็นห้องโถง พื้นที่นั่งเล่น ครัว ทิศตะวันออกเป็นโซนห้องนอน ห้องทำงาน

บ้านเพดานสูงโปร่ง

เชื่อมปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกต่างวัยด้วยสเปซ

ทีมงานเชื่อว่า “สัมพันธภาพที่ดีของสมาชิกในบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสถาบันครอบครัวที่มั่นคง” การออกแบบบ้านให้ครอบครัวที่มีผู้อยู่อาศัยหลาย ๆ คน ซึ่งมีความชอบความต้องการไม่เหมือนกัน และยังมีความต่างของช่วงวัยแต่สามารถใช้งานร่วมกันได้ดีจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

พื้นที่ชั้นล่างโล่งกว้าง

จัดฟังก์ชันให้มีความยืดหยุ่นและลื่นไหลเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ด้วยการเพิ่มพื้นที่ทางสังคม มุมนั่งเล่น ครัว ห้องรับประทานอาหารให้กว้างขวางและต่อเนื่องกันแบบ open space บริเวณชั้นล่าง ช่วยดึงให้ทุกคนออกมาจากห้องส่วนตัว เพื่อใช้ทั้งพื้นที่และเวลาร่วมกันมากขึ้น ส่วนห้องนอนผู้สูงวัยอยู่บริเวณชั้นนี้ จึงสะดวกและปลอดภัยไม่ต้องเดินขึ้น-ลง สำหรับโซนใช้ชีวิตของวัยหนุ่มสาวจะอยู่ชั้นบน แต่มีชั้นลอยที่ยังมองเห็นระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างได้

หลังคาองศาลาดเอียงสูง

ต้อนรับลมผ่านประตู อิฐช่องลม และหลังคา

ในบ้านที่อยู่เขตร้อน สิ่งที่บ้านต้องการคือกระแสลมที่จะช่วยให้บ้านมีอากาศถ่ายเทไหลเวียน ในบ้านใส่ช่องเปิดขนาดใหญ่ และทำชายคายื่นยาวออกไป ทำให้มีพื้นที่ว่างระหว่างหลังคากับตัวอาคารรับลมเข้าสู่ใต้ผืนหลังคาได้มาก  ประตูใช้บานชัตเตอร์กรอบเป็นเหล็กใส่ไม้ระแนง ติดตั้งจุดหมุนไว้กลางบานจะตั้งค้าง 90° หรือมากกว่านั้นก็ได้ เมื่อเรียงต่อกันหลาย ๆ บานจะเหมือนเปิดผนังได้หมด ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของการระบายอากาศได้อย่างราบรื่นทั่วทั้งหลัง ในขณะที่ปิดประตูแสงก็ยังคงส่องลอดเข้ามาเติมความสว่างลดความชื้นในบ้านได้

ประตูบานหมุน

ประตูระแนงไม้แนวตั้งแบบบานหมุน เลือกองศาเปิดได้ตามต้องการ

ผนังอิฐช่องลม

รูปทรงของหลังคาก็มีส่วนช่วยเรื่องการไหลเวียนของลมอย่างมาก หลังคาที่มีความลาดชันสูงจะมีพื้นที่ใต้หลังคาให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดด้านบน และระบายออกไปจากอาคารได้ดี ความร้อนสะสมในบ้านจึงน้อย  ภายในยังออกแบบช่องลมบริเวณใต้ฝ้าชายคาและตัวอาคาร  ด้วยการก่อผนังจากวัสดุอิฐช่องลมที่ทำให้ลม flow เสมือนบ้านหายใจได้

ชั้นลอย

ระเบียงตกแต่งอิฐช่องลม

ต้นไม้ เพิ่มความรื่นรมย์ของสีเขียว

ชายคาที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านบริเวณระเบียง สร้างพื้นที่รับลมเข้าสู่ใต้ผืนหลังคา และยังช่วยสร้างร่มเงาไม่ให้แดดส่องเข้าสู่ตัวบ้านมากเกินต้องการ จากจุดนี้จะมองเห็นวิวชุมชน ต้นไม้ใหญ่ฝั่งตรงข้าม และสวนหน้าบ้านที่สอดแทรกใส่ความรื่นรมย์ของสีเขียวให้สบายตา ให้บ้านใกล้ชิดธรรมชาติเพิ่มขึ้นด้วยการจัดสวนหลังบ้าน และวางสวนกระถางตามจุดต่าง ๆ  แม้แต่ในห้องน้ำก็สร้างบรรยากาศให้สดชื่นได้ในทุกตารางเมตร

ห้องน้ำเล็ก ๆ ตกแต่งดูดี

บ้านเจาะช่องแสงบนหลังคา

รูปลักษณ์ที่น่ารัก อ่อนโยน แสดงให้เห็นสัมพันธภาพของความใหม่ที่กลมกลืนกับเก่า สมาชิกต่างรุ่น องค์ประกอบของบ้านที่เข้ากับธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ต้นไม้และแสง ทำให้บ้านไม่เพียงแต่เป็นที่พักอาศัย แต่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของชีวิตที่เติบโตไปพร้อม ๆ กันอย่างสมดุล

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด