บ้านแฝดสำหรับครอบครัวใหญ่
ครอบครัวคนไทยในอดีตเป็นครอบครัวขยายที่มีสมาชิกมาก จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง การสร้างบ้านก็มักจะรวมอาคารหลาย ๆ หลังอยู่ในบริเวณเดียวกัน แนวคิดแบบนี้ยังหลงเหลืออยู่ เพียงแต่รูปแบบบ้านต้องเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย ในประเทศอินเดียก็ขึ้นชื่อว่ามีครอบครัวใหญ่ ญาติเยอะ และมักไปมาหาสู่กันตลอด บางครอบครัวจึงต้องการอยู่อาศัยด้วยกัน เหมือนเช่นโครงการ Twin Family House ที่ต้องการสร้างบ้านของครอบครัวใหญ่และอยากให้บ้านตอบสนองความต้องการของกลุ่มอายุต่าง ๆ ภายใต้หลังคาเดียวกันในรูปลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น ใช้งานสะดวกสบาย และยังตอบโจทย์สภาพอากาศได้ดีด้วย
ออกแบบ : Manoj Patel Design Studio
ภาพถ่าย : MK Gandhi Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านสามชั้นครึ่งหลังนี้สร้างที่ดินขนาด154 ตารางเมตร ตั้งใจออกแบบเพื่อสร้างพื้นที่ชีวติสำหรับครอบครัวของพี่น้อง 2 คนในเมือง Godhra รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นว่าเป็นตึกที่แบ่งออกเป็น 3 โซนใหญ่ๆ ใส่ Façade สร้างเรื่องราวของบ้านที่ดึงดูดสายตา เนื่องจากมีกรอบคอนกรีตขนาดใหญ่ตรงกลางที่ล้อมระเบียงชั้นสองและสามไว้ ส่วนอื่นของบ้านข้างๆ กรอบนี้จะออกแบบหน้าตาเหมือนกันราวกับฝาแฝด
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขยายใหญ่
ผนังตกแต่งวัสดุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต เหล็กดัดสีขาว บล็อกแก้ว และกระเบื้องดินเผาสีแดงอมส้มที่ถูกตัดและประสานแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันเป็นลวดลายกราฟฟิก การเพิ่มพื้นผิวสีฟ้าน้ำทะเลบนผนังที่อยู่ติดกัน ทำให้พื้นผิวที่ผนังดูนูนขึ้นที่โดดเด่นออกมาจากบ้านข้างๆ แค่เห็นจากข้างหน้าแล้วก็รู้สึกได้ว่า ด้านในต้องมีอะไรที่น่าตื่นตากว่านี้รออยู่อย่างแน่นอน
เมื่อเปิดประตูเข้ามาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะที่ชั้นล่างสุดของบ้าน ซึ่งประกอบด้วย โรงรถ พื้นที่เก็บของ สวน โฮมเธียร์เตอร์ ออฟฟิศ ปูพื้นด้วยวัสดุหินหลากหลายสีหลายลวดลาย เหมือนเปียโนที่กำลังบรรเลงเสียงเพลงอย่างสนุกสนาน จากนั้นจะห้องโถงสูงสองเท่าตรงกลาง มีสเต็ปบันไดต้อนรับการเข้าสู่บ้านที่แยกจากออกจากกันตรงชั้นหนึ่ง
จากมุมมองนี้จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อเดินตามบันไดที่ปูด้วยหิน Jaisalmer Stone โทนสีเหลืองเข้มตามธรรมชาติเข้ามา จะแยกเข้าสู่พื้นที่หลักของบ้านของแต่ละครอบครัวที่อยู่คนละด้าน โดยมีหน้าต่างใสๆ วางตำแหน่งให้ตรงกัน จึงมองเห็นกันได้เหมือนเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน
แต่ละชั้นจะมีพื้นที่ประมาณ 77 ตารางเมตร ที่หน้าตาและแปลนภายในเหมือนกันเป๊ะ บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ครัว เชื่อมต่อภายในกับห้องโถง ระเบียง และโซนความบันเทิงที่อยู่ติดกับสวน ที่ซึ่งสมาชิกครอบครัวทั้งหมดสามารถรวมตัวกันเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยพื้นที่บ้านจะมีช่องว่างที่สร้างขึ้นให้บ้านรู้สึกถึงความลึก ความโปร่ง ความกว้างต่างกัน และยังลำดับชั้นที่น่าสนใจของพื้นที่เปิด กึ่งเปิด และพื้นที่ปิดทางทิศใต้ได้สร้างขึ้นสำหรับให้ใช้งานได้ทั้งสองครอบครัว
การตกแต่งห้องนั่งเล่นที่มีความสูงแบบ Double Volume ใช้สีสันสดใส โดยเน้นสีเหลืองเข้มเฉดใกล้เคียงกับพื้นหินสีเหลือง ทำให้ผนังด้านนั้นเด่นชัดออกมากลายเป็นจุดโฟกัสสายตาจากส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังผสมผสานสีฟ้าน้ำทะเล สีน้ำตาลของงานไม้ และเส้นสายโค้งมน ที่ทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวาและนุ่มนวล แสงอ่อนๆ ที่ส่องผ่านบล็อกแก้วและผ้าม่าน ทำให้มุมอ่านหนังสือหรือเพลิดเพลินกับบรรยากาศยามเช้า
ห้องครัวและพื้นที่ทานอาหารเหมือนถูกวางอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยม แพลตฟอร์ม Open Island เพิ่มความสะดวกสบายเพื่อความเพลิดเพลินขณะทำอาหาร เนื่องจากสามารถมองเห็นและโต้ตอบกับสมาชิกในครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้โดยไม่มีอุปสรรค สถาปนิกเลือกใช้โทนสีฟ้าอ่อนๆ ตัดด้วยกระเบื้อง backsplash โทนสีเอิร์ธโทน ทำให้บ้านมีกลิ่นอายความเป็นเรโทรเล็ก ๆ
การแทรกบันไดสี Yellow Marble ให้อยู่ตรงใจกลางกลางบ้านจากระดับชั้นล่างสุดเชื่อมโยงไปยังชั้นบน ซึ่งเปิดไปยังห้องโถงที่มีความสูงสองเท่าตรงกลาง ช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงของพื้นที่บ้านระหว่างชั้น และเอื้อให้จังหวะของแสงแดดและลมภายนอกเข้าสู่ตัวบ้านได้ดี ส่วนการวางแปลนเชิงเส้นของผู้พักอาศัยจะอยู่รอบบันได วนจากกลางส่วนกลางนำไปสู่พื้นที่ห้องนอนส่วนตัวของแต่ละคน
ห้องนอนพ่อแม่ของทั้งสองบ้านจะอยู่ที่ชั้นสอง โดยห้องของพ่อแม่มีคอนเซ็ปต์กระเบื้องผสมกับรายละเอียดของไม้ นำเสนอรูปแบบสไตล์แบบคลาสสิคเหมาะกับวัยผู้ใหญ่
ชั้นบนสุดจะเป็นห้องนอนของลูก ๆ ซึ่งจะตกแต่งฉากหลังตรงหัวเตียงต่างจากห้องของพ่อแม่ โดยได้รับการออกแบบด้วยกระเบื้องลายไม้แทรกด้วยแผ่นดินเผาโทนสีส้มแดงธรรมชาติที่ใช้ทั่วทั้งบริเวณที่อยู่อาศัย ใส่เบาะรองศีรษะแบบแขวนดีไซน์มุมมนเข้าไป เพื่มความรู้สึกทันสมัยสไตล์มินิมอลลงไป
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สีที่ใช้ในบ้านนั้น มีผลต่อการสร้างบรรยากาศ ความรู้สึก ที่ต่างกันออกไป อย่าง สีเหลือง จะให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา ความความสดใสรื่นเริงเบิกบานใจ พลัง การมองโลกในแง่ดี แสงสว่าง เป็นตัวแทนของฤดูร้อน เป็นต้น ซึ่งหากใช้สีเหลือมเข้มๆ หรือเหลืองสดในบริเวณที่กว้างเกินไป อาจทำให้รู้สึกไม่มีสมาธิ รู้สึกอยากใช้พลังงานมากเกินไป และไม่สบายตา การตัดด้วยสีกลางๆ อย่างสีครีม น้ำตาล หรือใช้คู่ตรงข้ามอย่างสีฟ้า สีน้ำเงินจะช่วยเพิ่มความรู้สึกสงบ เย็น สบายตา ให้บ้านดูสมดุลขึ้น |
แปลนบ้าน