เมนู

เหมือนดิน แต่ไม่ใช่ดิน หลังคาปลูกหญ้า กลืนหายไปกับทุ่งนา

ปลูกต้นข้าวบนหลังคา

บ้านริมนา

Alarine Earth Home เป็นการรวมตัวกันของชีวิตการทำงานและพื้นที่ส่วนตัวของสถาปนิก Zarine Jamshedji และ Cornelis Alan Beuke ผู้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้าง ซึ่งสถาปนิกมองหาไซต์กลางธรรมชาติสร้างบ้านที่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งทั้งคู่ได้ตั้งคำถามไว้กับตัวเองว่า “เราต้องการอยู่อย่างไรและอยู่ที่ไหน”  ด้วยมุมมองของคนรักธรรมชาติจึงคิดว่า บ้านที่ดีควร ‘ผสมผสาน’ ความหมายที่แท้จริงของคำว่าที่ดินและภูมิทัศน์เข้าด้วยกัน โดยไม่โดดเด่น ก้าวก่าย หรือปิดกั้น จึงเป็นที่มาของบ้านที่กลืนหายไปกลางทุ่งนาอันกว้างใหญ่

ออกแบบ : Zarine Jamshedji Architects
ภาพถ่าย : Syam Photographer
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านเอิร์ธโทนกลางธรรมชาติ

ที่ตั้งของบ้านอยู่ใน โกจจิ หรือรู้จักในชื่อ โกชิ  เป็นเมืองท่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ที่มีพื้นที่ตามธรรมชาติไม่ราบเรียบมีทั้งที่ลุ่มและที่เนิน รายล้อมด้วยทุ่งนา สถาปนิกจึงเลือกเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ Stereogram (ระบบการก่อสร้างอาคารแบบ 3D Schnell) โดยบางส่วนเป็นแผงอาคารสำเร็จรูปมาวางในไซต์แล้วใช้วิธี Shotcrete หรืองานพ่นมอร์ต้าด้วยแรงลมความเร็วสูง ให้คุณสมบัติ ความแข็งแรงของโครงสร้าง ความเร็วในการก่อสร้าง และการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างรูปแบบสำเร็จรูปและการสร้างในไซต์ ระยะเวลาในการก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และจัดภูมิทัศน์ทั้งหมดเพียง 6 เดือน ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนเสร็จสิ้น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

จัดสวนหลังคา

จากถนนที่เป็นเนินสูงที่ดินจะไหลลงไปสู่นาข้าว ซึ่งตรงจุดนี้สถาปนิกได้นั่งมองและศึกษามุมมองของบ้านอย่างดี จึงได้ตัดสินใจวางตัวบ้านให้อยู่ในระดับที่ลุ่มต่ำลงไป โดยกำหนดให้ส่วนสูงของหลังคามีระดับใกล้เคียงกับนาข้าว เมื่อปลูกหญ้าลงบนหลังคาแล้วมองจากหน้าบ้านเข้ามา จะเห็นว่าหลังคากลืนไปกับทุ่งนาเหมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน สีของผนังที่คล้านสีอิฐยังผสานตัวบ้านไปกับดินด้วย


ครัวและห้องทานข้าวเปิดกว้างมองเห็นวิว

จากประตูรั้วบ้านจะมีบันไดหินนำทางลงมาสู่พื้นที่ส่วนกลางของบ้านพอดี ซึ่งจุดนี้จะเป็นประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่เปิดได้กว้างทั้งหน้าหลัง เหมือนเป็น Breezway รับลมและแสงทะลุตัวบ้าน จึงไม่มีประตูหลักต่างจากบ้านทั่วไป เมื่อเข้ามาแล้วจะพบกับห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัวส่วนกลางที่จัดในแปลนแบบ open plan ไร้รอยต่อ ผนังที่เปิดได้กว้างทำให้มุมมองภูมิทัศน์และนาข้าวไม่มีสะดุด

ห้องนั่งเล่นบรรยากาศและโทนสีธรรมชาติ

โทนสีภายในบ้าน เน้นสีเอิร์ธโทนสีน้ำตาลเทาเหมือนดินดิบๆ สีน้ำตาลอมส้มของดินเผา สีเทาปูนขัดมันธรรมชาติ และงานไม้ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์หลายชิ้นทำจากวัสดุอิเล็กทรอนิคส์รีไซเคิล รากต้นไม้ที่พบในไซต์งานก็ถูกทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ ฐานของโรงสูบน้ำเก่าก็ถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่นั่งเล่นกลางแจ้ง บ้านนี้จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศของความเรียบง่ายและชิดใกล้ธรรมชาติทั้งในมิติของพื้นที่และสายตา

ห้องนอนประตูกระจกเชื่อมต่อสวนและครัว

ห้องนอนผนังฉาบดินสีธรรมชาติ

ห้องนอนยังคงคอนเซ็ปการใช้วัสดุและโทนสีที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย ในขณะที่อยู่ในห้องพักผ่อนก็ยังมีมุมมองเปิดออกไปเห็นวิวผ่านประตูกระจกขนาดใหญ่ที่ปลายเตียง ในด้านข้างก็มีประตูกระจกเชื่อมต่อกับห้องน้ำ ทำให้รู้สึกว่าทุกพื้นที่ในบ้านมีความต่อเนื่องถึงกันได้ง่าย

ห้องน้ำและห้องอาบน้ำ

ส่วนกลางของบ้านเปิดได้โล่งกว้าง

ภาพรวมของตัวบ้านเป็นการการผสมผสานวัสดุไฮเทคเพื่อประสิทธิภาพ และวัสดุธรรมชาติเทคโนโลยีต่ำ เพื่อให้ความรู้สึกที่เหมือนดินตามธรรมชาติ แต่แข็งแรง บำรุงรักษาง่าย และสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ รวมถึงการใช้งานที่ยาวนานกว่า นอกจากนั้นยังได้มีการขยายคูน้ำเก่าให้กลายเป็นสระน้ำสำหรับกักน้ำจากนาข้าว เพื่อการชลประทานและให้น้ำที่สวนบนหลังคา พร้อมถังบำบัดน้ำเสียชีวภาพ ให้แน่ใจว่ามีการย่อยสิ่งปฏิกูลอย่างเหมาะสมและนำกลับมาใช้ใหม่

สระว่ายน้ำ

บางส่วนของกำแพงและผนังบ้าน ใช้หินที่มีอยู่ในทิ้งถิ่นและศิลาแลง เพื่อสร้างกำแพงกันดินขนาดใหญ่แบบไม่มีซีเมนต์เชื่อมต่อ เพราะทั้งคู่ขอให้โรงงานรวบรวมเศษศิลาแลงที่เหลือจากการตัดตามพื้นโรงงานมาดัดแปลงเป็นปูนฉาบผนัง บนหลังคาปลูกด้วยหญ้าแฝก (คูส, หญ้ามหัศจรรย์) เพื่อให้ทั้งคุณสมบัติที่ช่วยกักเก็บความชื้น ลดทอนความร้อนจากหลังคาลงสู่ตัวบ้าน และให้ความสวยงามกลมกลืนกับนาข้าวที่อยู่ข้างหน้า ต้นสักต้นเดียวที่กำลังจะตายบนที่ดินฟื้นคืนชีพขึ้นมา นำหลักการของ Permaculture  มาสู่ภูมิทัศน์

ผนังอิฐศิลาแลงและหิน

บรรยากาศบ้านยามค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : Permaculture อาจจะเป็นศัพท์ที่เราไม่คุ้นกันนัก เพราะจริงๆ แล้วคำนี้ใช้อธิบาย วิถีการเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงยุค 70 เป็นการทำการเกษตรและวิถีชีวิตแบบยั่งยืน ให้เหมือนกับรูปแบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่สร้างบ้านได้ โดยยึดการปรับใช้วิถีชีวิตให้เกื้อกูลกับสภาพแวดล้อม  เช่น อาจแบ่งพื้นที่เป็น พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่สวนครัว พื้นที่ปลูกพืชหมุนเวียนเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล  ไม้ผลหรือขาย พื้นที่กึ่งป่า และพื้นที่ป่า ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะแบ่งสัดส่วนและเพาะปลูกไม่เหมือนกันตามบริบทที่ต่างกันไป

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด