เมนู

บ้านที่มองเห็นท้องฟ้า สร้างบนที่ดินหน้าแคบเพียง 8×17 เมตร

บ้านตึกสูงที่เชื่อมต่อได้ทุกชั้น

ในสมัยที่ยังเด็กผู้เขียนมักจะต้องเข้าไปซื้อของที่ตึกแถวหลาย ๆ ครั้ง แต่ละครั้งที่เข้าไปรู้สึกได้ถึงความทึบอึดอัดจากเพดานที่ปิดจนเกือบหมด จะมีช่องว่างเหลือก็เพียงแค่โถงบันได เวลาจะสื่อสารระหว่างกันก็ใช้ระบบโทรศัพท์ภายใน ซึ่งเป็นหนึ่งข้อด้อยของบ้านที่มีหลายชั้น เพราะเท่ากับปิดช่องทางในการติดต่อกัน ทำให้คนที่อยู่ต่างชั้นแทบจะไม่รับรู้ความเคลื่อนไหวของสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ และยังทำให้พื้นที่ในการรับและกระจายแสงไม่เพียงพอ  ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากอยู่ในตึกหลายชั้นแบบนี้ อย่างไรก็ตามนักออกแบบยุคใหม่ ๆ เข้าใจดีถึงจุดอ่อนของรูปแบบอาคารสูงดี จึงพยายามแก้ไขเพื่อให้การอยู่อาศัยมีคุณภาพที่ดีขึ้น เหมือนเช่นโปรเจ็คนี้ในเวียดนามครับ

ออกแบบKHUÔN Studio
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านฟาซาดช่องลม

บ้านตึกเชื่อมพื้นที่เชื่อมสัมพันธ์

บ้านนี้สร้างในโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 8 x 17 ตารางเมตร สิ่งสำคัญอันดับแรกที่เจ้าของต้องการคือ แสงธรรมชาติ พื้นที่ภายในที่ไม่ขาดการติดต่อ และความเขียวขจีสูงสุดภายใน ซึ่งเป็นความท้าทายและแปลกใหม่ที่สถาปนิก KHUON Studio ต้องทำการบ้านมากเป็นพิเศษ เนื่องจากทีมงานเชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ต้องใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกตารางเมตรมากกว่า จากผลงานก่อสร้างที่สำเร็จเรียบร้อย เราจะเห็นอาคารที่เต็มไปด้วยช่องว่างเล็ก ๆ ด้านหน้าเป็นฟาซาดสีเทาและมีต้นไม้ห้อยย้อยลงมา ทำให้อยากเข้าไปสัมผัสดูว่านักออกแบบจะตีโจทย์ภายในเป็นอย่างไร



ห้องนั่งเล่นชั้นล่าง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ช่องแสง skylight

ใส่ที่ว่างกลางบ้านปลูกต้นไม้และรับแสง

เมื่อเปิดประตูเข้ามา ต้องบอกว่าบรรยากาศและสิ่งที่เห็นลบภาพความทรงจำของตึก 3 ชั้นที่เคยเห็นลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะนักออกแบบแก้ปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นจากรูปแบบบ้านหลายชั้นเดิม ๆ ที่มักปิดเพดานแบ่งสัดส่วนการใช้งานระหว่างชั้น ทำให้เกิดปัญหาบ้านขาดแสงช่วงกลางอาคารและการปฏิสัมพันธ์ที่ถูกตัดขาด ด้วยการตัดเพดานคั่นระหว่างชั้นออก แล้วแบ่งอาคารออกเป็น 2 ซีก เว้นที่ว่างจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน เติมช่องว่างทางสถาปัตยกรรมภายในบ้านให้ทะลุถึงกันได้หมด ทำให้ชั้นสองและสามดูเหมือนระเบียงที่ลอยตัวอยู่กลางอากาศ

ภายในออกแบบมาให้มีส่วนใช้งานหลัก ๆ 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่ด้านหลังสำหรับหญิงสาวที่อาศัยอยู่ที่นี่ทุกวัน และโซนด้านหน้าสำหรับครอบครัวของเธอที่จะแวะมาเยี่ยมบ่อย ๆ ประกอบด้วยห้องนอนของพ่อแม่และพี่ชาย

ตกแต่งครัว

ในชั้นล่างมีพื้นที่เปิดโล่งสำหรับทำอาหาร รับประทานอาหาร และรวมตัวกันทำกิจกรรมครอบครัว ที่ตกแต่งด้วยต้นไม้เขียวขจี ชั้นนี้จะถูกเชื่อมโยงทั้งมิติของพื้นที่และสายตากับชั้นอื่น ๆ โดยบันไดที่ทำหน้าที่เป็น “สะพาน” และหน้าต่าง พื้นที่ส่วนกลางที่โปร่งและต่อเนื่องถึงกันได้เหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเมื่อออกมาจากห้องส่วนตัว

พื้นที่โถงสูงกลางบ้าน

เพดานโล่งมองเห็นจากชั้นล่างสู่ชั้นบน

ผนังคอนกรีตโค้งรองรับกรอบสี่เหลี่ยมล้อมช่องว่างกลางบ้าน ซึ่งตรงกันกับ skylight บนหลังคาสร้างเอฟเฟกต์แสงและเงาที่เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน  ในใจกลางบ้านจึงไม่ขาดแสงธรรมชาติอย่างที่เข้าของบ้านต้องการ และแม้ว่าบริเวณบ้านจะอยู่ติดกับเพื่อบ้านทั้งสองข้าง ทำให้ไม่มีพื้นที่ดินปลูกพืช ก็เติมความเขียวขจีได้ตามจุดต่าง ๆ ของบ้านทั้งตกแต่งด้วยไม้กระถาง ไม้รากอากาศ และปลูกต้นไม้ให้เติบโตในโถงสูง

ระเบียงนั่งเล่น

บนชั้นสองมีห้องนั่งเล่น อ่านหนังสือ ที่เป็นระเบียงลอยตัวโล่งๆ ล้อมรอบด้วยแนวกระถางที่โค้งโอบอยู่ มีมุมที่แสงแดดสาดส่องเข้ามาตกกระทบในปริมาณที่พอดีกับความต้องการใช้งาน ให้ความรู้สึกราวกับอยู่กลางสวน จากจุดนี้ก็จะมองเห็นสมาชิกในอีกฟากของบ้านได้ด้วย

มุมมองท้องฟ้าจากสกายไลท์

skylight ให้แสงสว่างจากหลังคา

เมื่อมองจากชั้นล่างขึ้นไปในมุมเงย จะเห็นทะลุไปถึงหลังคาที่ประกอบด้วยช่องแสง skylight เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเล็กบ้างใหญ่บ้าง นอกจากจะช่วยดึงแสงเข้าสู่ตัวอาคารแล้ว ยังให้วิวท้องฟ้าที่สร้างบรรยากาศให้บ้านยิ่งชิดใกล้ธรรมชาติแบบที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยในบ้านหลังอื่น ๆ

ช่องแสงสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ

บันไดเชื่อมต่อแต่ละชั้น

ผนังบ้านเต็มไปด้วยช่องเปิด เป็นประตูหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ ที่มีไว้เพื่อรับแสงให้เข้าไปเติมความสว่างภายใน และเปิดมุมมองเชื่อมต่อกับสวนที่อยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหนก็รับความสดชื่นจากสีเขียวได้เหมือน ๆ กัน

มุมนั่งเล่น

บันไดวน

บันไดวนสไตล์โมเดิร์น

จากห้องนั่งเล่นจะเห็นว่าช่องเปิดที่จัดวางตำแหน่งเอาไว้ ไม่ได้ออกแบบอย่างไร้ทิศทาง เพราะช่องหน้าต่างประตูแต่ละจุดจะมีมุมมองสอดรับกับอาคารอีกด้าน จึงไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาดออกจากกันแม้จะใช้ชีวิตอยู่คนละส่วนของบ้าน

ตกแต่งผนังด้วยกระเบื้องลายโบราณ

ตกแต่งห้องนอนด้วยกระเบื้องลายโบราณ

การตกแต่งภายในบ้านใส่ความเรียบง่ายแบบโมเดิร์นมินิมอล ผ่านวัสดุไม้ คอนกรีต ตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติที่ยังให้ความรู้สึกถึงความเป็นพื้นถิ่น แต่เพิ่มสีสันที่น่าสนใจด้วยกระเบื้องลายกราฟฟิกบนพื้นและผนังบางส่วน ขับเน้นจุดที่ต้องการโฟกัสให้เด่นออกมา

ห้องนอนมีระเบียงส่วนตัว

ห้องนอนมีฟาซาดกรองแสง

ฟาซาดช่องลมกรองแสงกั้นเป็นส่วนตัว

ด้านหน้าของอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากการแผ่รังสีแสงอาทิตย์จำนวนมากในระหว่างวัน ทำให้ภายในบ้านร้อน นักออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้อิฐช่องลมมาทำฟาซาดกั้นบังด้านหน้า วิธีนี้เป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพเพราะนอกจากจะช่วยบังแดดแล้ว ยังสามารถรับลมผ่านช่องว่างเหล่านั้นได้และให้ความเป็นส่วนตัวออกจากสายตาผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา

ช่องแสงสกายไลท์ส่องทางเดิน

ในช่วงกลางวันที่แสงอาทิตย์สาดส่องผ่านสกายไลท์ ทำให้บ้านแทบไม่ต้องเปิดไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วยประหยัดไฟไปได้ค่อนข้างมาก บ้านหลังนี้จึงไม่เพียงแต่สอดรับกับการใช้งานในชีวิตประจำวันตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยเท่านั้น ยังคำนึงถึงการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืนด้วย

ห้องนอนตกแต่งไม้และกระเบื้อง

มุมมองท้องฟ้าจาก skylight

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  การหาช่องทางเพิ่มแสง เป็นอีกหนึ่งจุดหลักที่ทำให้บ้านนี้แตกต่างจากบ้านตึกหลายชั้นทั่ว ๆ ไป อย่างที่ทราบกันดีว่าลักษณะของบ้านตึกจะมีผนังติดกัน บางหลังอยู่ห้องมุมก็ติดด้านเดียว บางหลังถูกขนาบติดทั้งสองด้าน ช่องทางรับแสงด้านข้างจึงมีน้อยทำให้ช่วงกลางบ้านขาดแสง ถึงจะเปิดด้านหน้าหรือด้านหลังก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มพื้นที่รับแสงในตำแหน่งอื่น ๆ ที่นิยมกันมากในช่วงนี้คือการทำ skylight หรือการเจาะช่องแสงใส่วัสดุโปร่งแสงจากด้านบนหลังคา เพื่อดึงแสงให้ส่องเข้ามาในตรง ๆ แบบไร้อุปสรรค

http://credit-n.ru/offers-zaim/ekapusta-besplatniy-zaim.html http://www.tb-credit.ru/microkredit.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด