
รีโนเวทบ้าน
เติมความโมเดิร์นในบ้านจีนยุคเก่า อยู่ง่าย ๆ แต่สบาย
ในเมืองที่เป็นแหล่งเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ การที่จะสร้างบ้านเรือนใหม่ ๆ ต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างภูมิทัศน์ของเมืองประกอบไปด้วย อย่างบ้านหลังนี้ในจีนที่ตั้งอยู่ในในกรุงปักกิ่งที่เต็มไปด้วยอาคารจีนโบราณ การจะปรับปรุงบ้านก็ต้องคำนึงถึงหลาย ๆ องค์ประกอบ สำหรับคนในท้องถิ่นดูเหมือนจะไม่กังวลกับการหายไปของประสบการณ์ในอดีต หรือความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตประจำวันกับความทรงจำ เพราะจะให้ความสนใจกับบ้านใช้งานได้ดีมากกว่า แต่แนวคิดของนักออกแบบคือ ต้องสร้างการไล่ระดับระหว่างความเป็นส่วนตัวและส่วนที่ใช้งานร่วมกัน การต่อเชื่อมภายนอกและภายในสร้าง นอกจากนี้ยังต้องประสานระหว่างองค์ประกอบใหม่กับโครงสร้างอาคารเดิมเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน โดยไม่หันหลังให้กับของเก่าอย่างสิ้นเชิง
ที่มา : Dezeen
เรียบเรียง : บ้านไอเดีย
สถาปนิกจีน OEU-ChaO ได้ปรับปรุงบ้านหลังหนึ่งสำหรับคู่หนุ่มสาวและลูกชายวัยหกขวบ บ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกรุงปักกิ่ง เป็นห้องขนาด 32 ตารางเมตร ที่เดิมดูทรุดโทรมและอับทึบ เพราะมีหน้าต่างที่หันหน้าไปทางทิศใต้เท่านั้น รอบข้างแวดล้อมด้วยห้องขนาดเล็กที่ทรุดโทรมเหมือน ๆ กันอีก 5 ห้อง สถาปนิกจึงเข้ามาจัดการรีโนเวทให้บ้านดูสว่าง โปร่ง และดูทันสมัยเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยดูเส้นทิศทางของแสงและลมประกอบ กับการดูพื้นที่ภายในให้เหมาะกับการเคลื่อนไหวของผู้อยู่
ภาพบ้านก่อนปรับปรุง
เมื่อชมภาพก่อนการปรับปรุงประกอบกับภาพอาคารที่รีโนเวทแล้ว จะเห็นว่าทีมงานพยายามเติมสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปโดยไม่ให้ทำลายโครงสร้างไม้ที่มีอยู่ โดยทุบกำแพงที่กั้นระหว่างตัวบ้านกับครัวภายนอกออกเปลี่ยนประตูทางเข้าใหม่ ปิดประตูทางเข้าเดิมเติมกรอบเหล็กน้ำหนักสีขาวทำเป็นหน้าต่างบานสไลด์ใหญ่ขนาดใหญ่เข้าไปแทน ผนังอิฐด้านล่างเปลี่ยนเป็นวัสดุโปร่งใส ทำให้กลายเป็นบ้านผนังกระจก เพื่อให้แสงสว่างเข้ามาในบ้านได้มากขึ้น ส่วนของบันไดเก่าด้านซ้ายทุบออกให้เป็นพื้นเรียบ ๆ สร้างการเชื่อมต่อกับลานด้านนอกได้ดีขึ้น
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพในขนาดใหญ่
เนื่องจากภายในที่พื้นที่ค่อนข้างจำกัด ทีมงานช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเปิดการใช้พื้นที่บ้านเป็นแบบ Open Plan คือเปิดบ้านให้โล่ง ใส่ส่วนใช้งานที่แตกต่างกันเข้าไปโดยไม่ต้องใช้ผนังกั้นแต่ใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวแบ่งขอบเขตการใช้งาน อย่างมุมนั่งเล่น มุมครัว ที่ตกแต่งด้วยของแต่งบ้านสไตล์มินิมอล เส้นสายเรียบง่าย สีธรรมชาติดูละมุนตา และใช้ประโยชน์จากพื้นที่แนวตั้งให้มากที่สุด
สถาปนิกจัดสรรพื้นที่อย่างชาญฉลาด โดยแทบจะไม่เหลือพื้นที่ที่ใช้งานไม่ได้ ตัวอย่างเช่น บริเวณผนังหน้าบ้านส่วนที่เป็นบานสไลด์ ทีมงานบิวท์เคาน์เตอร์ครัวอยู่ด้านใน มีอ่างล้าง และพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งใช้งานได้ทั้งสองด้าน ในวันที่อากาศดีฝนไม่ตก หรือพื้นที่รับประทานอาหารในบ้านไม่พอ ก็สามารถเปิดหน้าต่างออกแล้วนั่งทานอาหารจากเคาน์เตอร์ยาวที่สร้างไว้ต่อเชื่อมกับส่วนนี้อยู่นอกบ้านได้ ถัดจากส่วนเตรียมอาหารเป็นครัวที่แบ่งพื้นที่เล็ก ๆ บิวท์กล่องไม้ครอบเครื่องซักผ้าเอาไว้ แล้วใช้ประโยชน์บริเวณท็อปสำหรับประกอบอาหาร
เคาน์เตอร์ครัวยาวท็อปสแตนเลสความลึกไม่มากเพื่อไม่ให้กินพื้นที่เข้าไปภายในบ้าน ด้านนอกหน้าต่างก็มีเคาน์เตอร์ขนาดเดียวกันวางอยู่ เมื่อเปิดหน้าต่างออกก็เชื่อมพื้นที่ใช้งานภายนอก-ภายใน ให้เป็นผืนเดียวกัน
บริเวณห้องนอนพักผ่อนดูเบาสบาย เพราะไม่มีผนังและประตูปิด ใช้เพียงผ้าม่านสีขาวบาง ๆ เลื่อนปิด-เปิดเติมความเป็นส่วนตัว ด้านข้างมีบันไดเชื่อมพื้นที่ขึ้นไปขึ้นบน ซึ่งทำเป็นชั้นลอยทำห้องนอนลอยฟ้าได้อีก 1 ห้อง จากบริเวณนี้จะเห็นเค้าโครงหลังคา เสา และคานของอาคารเดิมที่เป็นไม้ เติมความใกล้ชิดกับธรรมชาติ และคงสภาพเดิมของบ้านเอาไว้ให้ได้กลิ่นอายของบ้านเก่าอยู่บ้าง
บ้านเก่าที่ทึบและอับชื้น ถูกปรับเป็นบ้านสีขาวดูเป็นมิตรและผ่อนคลาย มีช่องแสงรอบบ้านทั้งบริเวณผนังและใต้หลังคา เชิญชวนให้แสงเข้ามาเติมความสว่างภายใน ชุดเฟอร์นิเจอร์ขนาดย่อม พอเหมาะกับขนาดครอบครัว ไม่กินพื้นที่ใช้งานในบ้าน บริเวณผนังใช้เป็นชั้นวางของ มุมเอนเตอร์เทนได้โดยไม่รบกวนพื้นที่สัญจรในบ้าน
ทุกองค์ประกอบในบ้าน ทั้งสัดส่วนการใช้พื้นที่ ช่องแสงแนวนอนยาวตลอดแนวผนังใต้หลังคา ผนังกระจก แสงไฟในบ้าน พื้นปูนขัดมัน เสาไม้ ผนังอิฐ เฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนผสมของไม้และผ้าโทนธรรมชาติ ทำให้บ้านเดิมที่เก่า ทึบ ทรุดโทรม กลายเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น สว่าง และมีชีวิตชีวา
แปลนบ้าน