วิลล่าหลังคาจีนประยุกต์
หลายปีมานี้เราจะเห็นงานสถาปัตยกรรมยุคใหม่จำนวนไม่น้อย ที่นำเอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเดิมมาประยุกต์ใส่เข้าไปด้วย ทำให้เกิดผลงานอาคารผสมผสานบรรยากาศยุคสมัยเก่าที่เดินไปกับอนาคตได้อย่างลงตัว อย่างที่ Shaoxing (เส้าชิง) เมืองบนชายฝั่งทางตอนใต้ของอ่าวหางโจว ภาคตะวันออกของเจ้อเจียง ประเทศจีน ก็มีโครงการที่รวมเอาบริบทของเมือง ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมโบราณ มาออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่เชื่อมต่อเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกคือ เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกไทยนี่เองครับ
ออกแบบ: T.R.O.P : terrains + open space
ภาพถ่าย: DID STUDIO, Yuan Wei Kang
เนื้อหา: บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เมืองเส้าซิง เป็นเมืองทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีของจีน ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้เดินลัดเลาะในตรอกซอกซอย บ้านเรือน ศาลาเก่า สะพาน และคลอง ทีมงานจึงนำวิถีชีวิตเรียบง่ายของผู้คนในพื้นที่ริมแม่น้ำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ โดยดึงสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เข้ามาปรับประยุกต์ อาทิ โครงสร้างหลังคาแบบโบราณเป็นกระเบื้องแบบโค้งทับซ้อนกัน มาเป็นองค์ประกอบที่ขับเคลื่อนการออกแบบวิลล่าร่วมสมัย แรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งของการออกแบบโครงการ มาจากสภาพแวดล้อมของ Shaoxing มีฝนตกหนักทุกปี จึงมีความสัมพันธ์ระหว่างหลังคาและน้ำที่ไหลบ่า
โครงการนี้สร้างการเล่าเรื่องของที่นี่จะผสมผสานภูมิทัศน์แบบตะวันออกเข้ากับรูปแบบของพื้นที่ สร้างทิวทัศน์ที่ค่อยๆ เปิดออกทีละขั้นตอน เริ่มด้วยคอร์ทยาร์ดที่มีพื้นผิวน้ำต้อนรับการมาถึงด้วยความชุ่มชื่น และเข้าสู่พื้นที่สวนที่เชื่อมต่อกับวิลล่า โดยออกแบบพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนเป็นสโลปขนานไปกับบันได ตกแต่งด้วยหลังคาโบราณสีเทาดำที่ทอดตัวยาวลงมาจรดพื้นดินที่โรยหินสีดำ บนผืนหลังคาเว้นพื้นที่ว่างช่องสี่เหลี่ยมให้ต้นไม้เติบโตทะลุขึ้นมา เหมือนเป็นภูเขาขนาดย่อมที่ถูกย่อส่วนลงในสวน
การจัดภูมิทัศน์ในสวนมีการจำลองปรากฏการณ์ฝนตกระทบชายคาขึ้นมาเอง ด้วยการติดตั้งระบบสูบน้ำให้ไหลลงผ่านหลังคา และเครื่องปล่อยละอองน้ำตามจุดต่างๆ สร้างบรรยากาศให้เหมือนถูกปกคลุมด้วยหมอกบางๆ ในขณะที่ดื่มชา ทานของว่าง พร้อมชมสวน จะได้รับสุนทรียภาพแบบตะวันออกราวกับอยู่ในภาพจิตรกรรมและบทกวี ซึมซับเรื่องราวเสน่ห์อันสง่างามของเมืองริมน้ำทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงที่สั่งสมเป็นมรดกมานับพันปี
ในวิลล่าจะจัดห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารให้มีผนังกระจกขนาดใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อมุมมองโดยตรงออกไปยังลานภายในสวนได้ และด้านหนึ่งเปิดโล่งสู่ภายนอกได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่และธรรมชาติกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
กระเบื้องที่ใช้ในโครงการนี้มีชื่อเรียกว่า imbrex และ tegula เป็นกระเบื้องหลังคาที่ติดตั้งในลักษณะทับซ้อนกัน มักใช้ในสถาปัตยกรรมกรีกโบราณและโรมัน ในประเทศจีนก็ทำมาใช้งานเช่นเดียวกัน เป็นหลังคากันน้ำและทนทาน ส่วนใหญ่ทำมาจากดินเผา
โครงสร้างหลังคาอันละเอียดอ่อนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการจับแก่นแท้ของหลังคาโบราณมานำเสนอใหม่เท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยของเส้าซิงอีกด้วย มาพร้อมกับการนำเสนอสภาพภูมิอากาศประจำถิ่น ด้วยการสร้างเอฟเฟ็กต์เหมือนฝน การจัดวางเชิงศิลปะนี้จึงกลายเป็นความภาคภูมิใจและความพึงพอใจของสถาปัตยกรรม Shaoxing ที่เสมือนการเติมลมหายใจใหม่ๆ ให้มรดกทางวัฒนธรรมยังคงเดินหน้าไปสู่อนาคตได้
แปลนอาคาร