
รีโนเวททาวน์เฮาส์
หากใครเคยอยู่โครงการจัดสรรอย่างทาวน์เฮาส์ จะทราบดีว่าอาคารมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวเนื่องจากมีผนังติด ๆ กันและช่องทางการรับแสงระบายอากาศที่น้อยกว่าบ้านที่เปิดด้านข้างได้ด้วย ยังไม่รวมถึงหน้าตาบ้านที่คล้ายกันไปหมด แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของทาวน์เฮาส์เก่าอยู่ที่ “ราคา” ที่พอจับต้องได้ ในยุคหลัง ๆ นี้เราจะเห็นว่ามีผู้คนนิยมซื้อเอาไว้รีโนเวทกันมากขึ้น โครงการนี้ก็เป็นอีกโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ใน Tangerang อินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิอากาศแบบเขตร้อนที่ค่อนข้างร้อนและชื้น ในขณะที่อาคารเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ทั้งในแง่ของพื้นที่ สภาพอากาศ และดีไซน์
ออกแบบ : STUDIÉ
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
การสร้างบ้านในฝันที่สมบูรณ์แบบนั้นต้องคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้อยู่อาศัยมากพอๆ กับสภาพอากาศ และภูมิประเทศในท้องถิ่น สถาปนิกจึงเริ่มปรับปรุงจากด้านหน้าอาคารที่หันไปทางทิศตะวันตก ซึ่งจะเผชิญหน้ากับแสงแดดโดยตรงตลอดทั้งวันทำให้ภายในอาคารร้อนมาก ทีมงานแก้ไขโดยเพิ่มฟาซาดด้านหน้าเป็นแผงอิฐก่อเว้นสลับให้เกิดช่องว่าง เพื่อกรองแสงที่เข้าสู่ตัวบ้านให้ห้องบริเวณด้านหน้ามีอุณหภูมิลดลงและสามารถระบายอากาศได้ และเนื่องจากชื่อเจ้าของเป็น DJ สถาปนิกจึงดีไซน์ฟาซาดเหมือนเป็นแผ่นผนังแยกออกจากกันเป็นสองส่วนเหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียงของดีเจ เป็นการปรับเปลี่ยนลุคบ้านให้ล้อไปกับตัวตนอย่างน่าสนใจและไม่ต้องใช้งบประมาณสูง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
นักออกแบบเลือกใช้วัสดุเปลือยที่ไม่จำเป็นต้องตกแต่งเพิ่มจำนวนมากทั้งภายนอกและภายใน อย่างเช่น ปูนเปลือย อิฐประสาน อิฐตกแต่ง เพื่อให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากอาคารที่มีอยู่และให้ลุคธรรมชาติที่มีความเท่ วัสดุที่เป็นไฮไลท์ในโครงการนี้คืออิฐ โดยเฉพาะที่ด้านหน้าอาคารที่เทคนิคการติดตั้งอิฐประสานโดยการเพิ่มเหล็กเสริมเป็นตัวประสานระหว่างอิฐ เพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้นด้วยรูปทรงของอิฐที่จัดวางแบบเว้นระยะเพื่อสร้างระนาบที่มีรูพรุน โครงสร้างใหม่นี้ให้ความรู้สึกหรูหราและทนทาน และทำให้บ้านดูมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร
ด้านในตกแต่งด้วยวัสดุที่คัดสรรมาอย่างดี ตั้งแต่อิฐ คอนกรีต ไปจนถึงไม้ และพื้นผิวขัดเงาร่วมสมัย ภายในห้องนั่งเล่นตกแต่งพื้นผิวผนังด้วยปูนเปลือยสีเทาเรียบ ๆ วางชุดโต๊ะโซฟาไม้บุผ้าโทนสีเทาใกล้เคียงกับผนัง ทำให้ดูสบายตาแบบมินิมอลสไตล์ นอกจากนี้ยังเพิ่มการไหลเวียนของอากาศที่ชาญฉลาด ด้วยการลดพื้นที่ผนังบางจุดเพื่อเพิ่มความต่อเนื่องของสเปซ สร้างลานภายในอาคารและการจัดเรียงพื้นที่ใหม่ ใส่ประตูบานเลื่อนกระจกเพิ่มเข้ามาทำให้บ้านเต็มไปด้วยความโปร่งสบาย
ครัวขนาดเล็กและพื้นที่รับประทานอาหารถูกนำมารวมเข้าไว้ด้วยกันดูเป็นสัดส่วน แต่ไม่ถูกตัดขาดจากพื้นที่อื่นของบ้าน เพราะมีประตูกระจกเชื่อมต่อสวนด้านหนึ่ง อีกด้านเจาะผนังออกเป็นทางเดินไปห้องนั่งเล่นได้ ภายในตกแต่งให้รู้สึกอบอุ่นน่ารักด้วยผนังอิฐโชว์ คอนกรีตสำเร็จรูป และงานไม้
ลานภายในของบ้านบนชั้นสองห่อล้อมด้วยผนังอิฐช่องลมเหมือนมีที่หลบภัยส่วนตัว
ความยากที่นักออกแบบเผชิญคือ กระบวนการอธิบายวิธีการออกแบบให้ผู้รับเหมาฟัง เพราะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผู้รับเหมาสร้างอาคารด้วยโมเดลแบบนี้ อุปสรรคต่อไปคือ โครงการนี้จะดำเนินการท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ทำให้การก่อสร้างล่าช้า การปรับปรุงครั้งนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนักเนื่องจากทีมงานพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและผนังของอาคารที่มีอยู่ให้น้อยที่สุด เจ้าของบ้านจึงพอใจกับผลลัพธ์สุดท้ายมาก นอกจากจะเปลี่ยนรูปลักษณ์โดยรวมของอาคารแบบหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว ภายในยังสวยงามและอยู่สบายขึ้นด้วย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านร้อนชื้นจำเป็นต้องมีช่องแสงและช่องลมในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อให้บ้านลดความชื้นได้ดีในขณะที่ไม่ร้อน เช่น ในทิศตะวันตกที่แสงแดดร้อนทั้งวัน หากติดช่องเปิดเป็นประตูกระจกขนาดใหญ่จะรับความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้มาก หากใช้วิธีก่อผนังทึบใส่ช่องแสงเล็ก ๆ ก็อาจทำให้บ้านได้รับแสงไม่เพียงพอ การแก้ปัญหานี้อาจทำด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การปลูกต้นไม้เป็นแนวช่วยกรองแสง หรือการใส่ฟาซาดหรือผนังบ้านเป็นช่องลม รูพรุนจะช่วยดึงลมให้พัดเข้าสู่ตัวบ้านได้ดีขึ้น ในขณะที่บ้านยังได้รับแสงสว่างบางส่วนเข้ามาอย่างเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตประจำวัน |
แปลนบ้าน