เมนู

รีโนเวทภายในบ้าน 35 ปี ทลายความเก่าให้หายไปกับตา

ปรับปรุงบ้านเก่า

เปลี่ยนบ้านเก่าให้ดูดีอยู่สบาย

เราเชื่อว่ายังมีผู้คนไม่น้อยที่ตั้งปณิธานที่จะ “ใช้ชีวิตช้าๆ” หลีกหนีจากความวุ่นวายในเมืองและความกดดันของชีวิตสมัยใหม่ๆ เจ้าของบ้านนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้มาเจอไซต์ที่ล้อมรอบด้วยภูเขา และเห็นทิวทัศน์โดยรอบที่สัมผัสได้ถึงความผ่อนคลาย เงียบสงบ อีกทั้งเด็กๆ ในบ้านยังแสดงออกถึงความรักธรรมชาติเป็นพิเศษอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าของตัดสินใจย้ายทั้งครอบครัวมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ทันที แม้ว่าแต่ละคนจะใช้เวลาไปทำงานเพิ่มขึ้นคนละ 15 นาที ซึ่งคิดแล้วก็คุ้มที่จะแลกกับการเสียเวลา แต่ปัญหาอีกอย่างที่ต้องเผชิญคือ บ้านเดิมมีบรรยากาศที่ค่อนข้างทึม และการจัดสรรสดส่วนใช้งานไม่ค่อยตรงกับโจทย์การใช้ชีวิต จึงมอบหมายให้สถาปนิกรังสรรค์บ้านใหม่ให้สว่าง สบายตา และใช้งานได้อย่างที่ต้องการ

ออกแบบ : Green Grass Design
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

ห้องนั่งเล่นก่อนรีโนเวท

Before : บ้านหลังเก่าพื้นที่ประมาณ 145 ตารางเมตรในไทเป ประเทศไต้หวันมีอายุถึง 35 ปี แม้จะกว้างขวางแต่ก็ค่อนข้างมืดและรก สำหรับสถาปนิกแล้วไม่ใช่งานยาก เพราะทราบดีอยูแล้วว่าการออกแบบที่ดีจะช่วยเติมชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ การสำรวจความต้องการของเจ้าของบ้านตลอดจนลักษณะของบ้านอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่แสง วัสดุ รูปทรง พื้นผิว พื้นผิว เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตที่สะดวกสบายที่สุด

มุมห้องนัางเล่นหลังรีโนเวท

After: กระบวนการรีโนเวท เริ่มต้นจากการรื้อส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น ตู้ไม้สีน้ำตาลเข้มที่ใช้กั้นพื้นที่ตรงโซนนั่งเล่นถูกรื้อออกเพื่อระบายอากาศ สร้างพื้นที่โปร่งโล่งหลังปรับปรุงใหม่ การรื้อฝ้าเดิมออกเพิ่มความสูงของเพดาน ลดความหนาของผนัง พื้นไม้สีน้ำตาลเข้มเปลี่ยนเป็นพื้นสีอ่อนๆ เจ้าของชอบความเป็นลอฟท์เล็กๆ จึงมีบางส่วนของผนังเป็นปูนเปลือย เข้ากันกับโซฟาหนังสีส้มอิฐและชุดโต๊ะเก้าอี้ขาเหล็กสีดำ เมื่อพื้นที่ภายในสานประสานกันกับแสงอาทิตย์ผ่านกระจกจะสร้างฉากที่สวยงาม ให้ความรู้สึกอบอุ่น และเป็นอิสระ

ห้องนั่งเล่น ครัว และห้องทานข้าว

ห้องนั่งเล่นและบันไดขึ้นชั้นสองด้านหลัง

ใส่ความโปร่งเบาและสร้างพื้นที่รับแสงใหม่ๆ ด้วยกระจกใสในบริเวณกว้าง และยังสร้างการเชื่อมต่อทางสายตากับทิวทัศน์ธรรมชาติภายนอกได้มากกว่าที่บ้านเดิมเคยมี

การพูดคุยและเสียงหัวเราะในบ้านมักจะอยู่รอบ ๆ โต๊ะอาหาร เจ้าของบ้านชายและหญิงก็มีอัธยาศัยดีจึงมักมีญาติและเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนทุก ๆ วันหยุดสุดสัปดาห์ ดังนั้นจึงใช้โต๊ะไม้ยาว เป็นพื้นที่รับประทานอาหารท็อปยาว ๆ อยู่หลังมุมนั่งเล่น ซึ่งอยู่ตรงกลางของเส้นทางเคลื่อนที่ไปยังครัวและมุมนั่งทำงานในอีกด้านที่มีประตูกระจกกั้นอยู่ ซึ่งตรงนี้ทำให้มีพื้นที่นั่งสนทนากันได้ยาวๆ ไม่รบกวนจุดอื่นๆ แต่ก็สามารถเปิดเชื่อมพื้นที่ได้หมดถ้าต้องการ

มุมนั่งทำงานริมหน้าต่าง

ห้องครัวก่อนและหลังรีโนเวท

ในอดีต จะมีคนคนหนึ่งที่ยุ่งอยู่ในครัว โดยที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกมาพูดคุยพบปะกับคนอื่นๆ ทีมงานออกแบบเพิ่มโอกาสที่จะให้คนในครัวมีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยการเปลี่ยนบานประตูเดิมที่เป็นไม้ทึบๆ มาเป็นประตูบานเลื่อนกระจก และย้ายตำแหน่งการเปิดประตูบางส่วน ไม่เพียงเพื่อให้เข้าออกสะดวกเท่านั้น แต่ยังต้องวางตู้เย็นสองประตูขนาดใหญ่ได้ด้วย การตกแต่งภายในครัวแทนที่จะไม้ที่อบอุ่นและนุ่มนวล สถาปนิกกลับใช้เครื่องครัวสีฟ้าอมเทาและลวดลายหินอ่อน มาพร้อมกับพื้นหินขัด Terrazzo หลากสีสัน ให้สัมผัสพื้นผิวที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา ให้คนทำอาหารอารมณ์ดี = ทำอาหารอร่อย

ก่อนและหลังปรับปรุงบันได

ห้องนอนมีเบย์วินโดว์

ตกแต่งห้องนอนด้วยงานไม้สีอ่อนๆ

ห้องเด็กชายบนชั้นสอง ใส่มุมมองกรอบไม้ตรงหน้าต่างให้บรรยากาศโลกที่เงียบสงบและผ่อนคลาย เตียงแสนสบายเชื่อมต่อตรงหัวเตียงไปสู่เบย์วินโดว์ริมหน้าต่างนี้กลายเป็นฐานทัพอ่านหนังสือส่วนตัวของเขา ด้านข้างของกรอบไม้ทำชั้นวางสีอ่อน ๆ ประดับด้วยต้นไม้ใบเขียวเพิ่มจังหวะที่มีชีวิตชีวา ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นตู้เสื้อผ้าบิลท์อินที่มีตู้ชั้นจัดเก็บของอย่างเป็นระเบียบ ความน่าสนใจอยู่ที่การออกแบบให้โต๊ะทำงานเป็นส่วนหนึ่งของตู้ ทำให้ประหยัดพื้นที่ห้องจึงดูกว้างขึ้น

ห้องนอนเด็ก

ห้องนอนใหญ่บนชั้นสอง ติดตั้งประตูกระจกบานสไลด๋ขนาดใหญ่เชื่อมต่อออกไปตรงระเบียงที่เปิดโล่งและสว่าง จะชมทิวทัศน์ภูเขาที่อยู่ไกลออกไปอยู่ในห้องหรือออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ข้างนอกก็ได้ สำหรับห้องนี้ตกแต่งง่ายๆ ด้วยโทนสีอ่อนๆ เป็นหลัก ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ดั้งเดิมของเจ้าของ ซึ่งก็ดูเข้ากันได้ในภาพรวม

ห้องน้ำแยกโซนแห้งโซนเปียก

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การซื้อบ้านเก่ามารีโนเวทเพื่อการอยู่อาศัย เป็นทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับคนที่มองหาบ้านในงบที่น้อยลงกว่าบ้านสร้างใหม่ หรือได้บ้านในทำเลที่ชอบพอดี แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านเก่ามาทำใหม่ต้องพิจารณาองค์ประกอบหลาย ๆ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างภายในอาคาร อาทิ ฐานราก เสา เพดาน ผนัง โครงสร้างหลังคา ฯลฯ ที่ควรให้วิศวกรตรวจสภาพอย่างละเอียด เนื่องจากบางโครงการเก่า ๆ อาจไม่ได้คำนวณและควบคุมโดยวิศวกรหรือสถาปนิก การรับน้ำหนักเพิ่มหรือการลดเสาในบางจุดอาจไม่สามารถทำได้ หากไม่ตรวจเช็คให้ดีอาจได้บ้านที่ไม่คุ้มกับการเสียเงินปรับปรุง

แปลนบ้าน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ตกแต่งบ้าน


โพสต์ล่าสุด