เลือกโถสุขภัณฑ์ให้เหมาะ เติมสุขทุกครั้งที่ใช้งาน
ห้องไหน ๆ ในบ้านก็อาจจะมีที่เว้นว่างไม่ได้เข้าใช้งาน แต่ “ห้องน้ำ” เป็นจุดที่สมาชิกในบ้านต้องหมุนเวียนมาใช้งานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เพียงเท่านั้นอาจจะได้ใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนในบางโอกาส ห้องน้ำจึงเป็นห้องเล็ก ๆ ในบ้านที่มีความสําคัญและสะท้อนถึงบุคลิกของผู้เป็นเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี
จุดสำคัญในการออกแบบห้องน้ำคือฟังก์ชันการใช้งานที่ง่าย ถูกสุขลักษณะอนามัย และหนึ่งในกระบวนการออกแบบนั้นคือการเลือกสุขภัณฑ์ห้องน้ำแต่ละชิ้น ซึ่งปัจจุบันสุขภัณฑ์ห้องน้ำได้พัฒนาทั้งด้านดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้งานและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างความสุข ความผ่อนคลายให้กับผู้อยู่อาศัย สำหรับเนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” พาคุณผู้อ่านไปเจาะลึกกับสุขภัณฑ์ชิ้นที่สำคัญที่สุดนั่นคือ โถสุขภัณฑ์ หรือที่นิยมเรียกว่า ชักโครก จะมีวิธีการเลือกซื้ออย่างไร ถึงจะเหมาะสมกับบ้านของเรา เนื้อหานี้มีคำตอบครับ
สนับสนุนโดย : HomePro
รู้จักโถสุขภัณฑ์กันเบื้องต้น
โถสุขภัณฑ์ หรือ โถชักโครก อาจเรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่จำเป็นที่สุดภายในห้องน้ำก็ว่าได้ ในอดีตโถสุขภัณฑ์ห้องน้ำของไทยนิยมใช้แบบนั่งยอง แต่แบบนั่งยองมีข้อเสียส่งผลให้ผู้ใช้ข้อเข่าเสื่อมไว โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและผู้สูงอายุ จะไม่สะดวกต่อการนั่งยอง ปัจจุบันโถสุขภัณฑ์แบบนั่งยองจึงแทบจะหาใช้ตามบ้านเรือนได้ยากแล้ว ยังคงมีเพียงเฉพาะสถานที่สาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน วัด โรงเรียน เป็นต้น ในเนื้อหานี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะที่นิยมใช้ภายในบ้านเรือนยุคปัจจุบัน โดยเป็นโถสุขภัณฑ์ในรูปแบบชักโครกนั่งราบ ซึ่งจะมีให้เลือกหลายแบบ หลายระบบ แบบไหนจะมีคุณสมบัติเด่นด้อยอย่างไรบ้าง อ่านรายละเอียดกันครับ
รูปแบบการติดตั้งโถสุขภัณฑ์ ชักโครก
โถสุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น
เป็นโถสุขภัณฑ์ที่นิยมใช้มากที่สุดในยุคปัจจุบันก็ว่าได้ มีรุ่นให้เลือกมากมาย ทั้งขนาดทั่วไป ขนาดสำหรับเด็ก สำหรับผู้สูงอายุ และโถสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก การติดตั้งไม่ยุ่งยาก หากต้องการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่บางชิ้นส่วน ก็สามารถหาทดแทนได้ง่าย และที่สำคัญราคาประหยัด มีให้เลือกตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นครับ
โถสุขภัณฑ์แบบวางพื้น ด้วยลักษณะการออกแบบที่ราบไปกับพื้น ระบบท่อจึงออกแบบในลักษณะ S-trap โดยการเจาะพื้นห้องน้ำเพื่อเดินระบบท่อ ระบบเดินท่อลงพื้น S-trap นิยมใช้ในบ้านพักอาศัย ช่วยให้ประหยัดต้นทุนในงานก่อสร้าง แต่ข้อพึงระวังคือ การรั่วซึมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการติดตั้งได้
โถสุขภัณฑ์แบบแขวนผนัง (ลอยตัว)
เป็นโถสุขภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการออกแบบให้ดูหรูหรา ทันสมัย ด้วยลักษณะการติดตั้งที่ลอยตัวทำให้การดูแลพื้นห้องน้ำทำได้ง่าย สะอาดอยู่เสมอ ปัจจุบันโถสุขภัณฑ์ลอยตัวได้รับความนิยมในกลุ่มบ้านหรู Luxury เนื่องด้วยราคาโถสุขภัณฑ์และการติดตั้งมีต้นทุนที่สูงกว่าแบบตั้งพื้นมาก อีกทั้งผนังห้องน้ำจำเป็นต้องให้วิศวกรออกแบบมาเพื่อการรับน้ำหนักโถสุขภัณฑ์โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องวางแผนการติดตั้ง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบและก่อสร้าง หากโครงสร้างผนังไม่รองรับ จะไม่สามารถติดตั้งภายหลังได้ครับ
นอกจากความสวยงามและความสะอาดแล้ว โถสุขภัณฑ์แบบลอยตัวยังมีข้อดีด้านการจัดการกับระบบท่อโดยไม่จำเป็นต้องเจาะพื้น แต่ใช้การเดินระบบท่อออกจากผนัง T-trap ระบบดังกล่าวจึงเหมาะกับการใช้งานร่วมกับคอนโดมิเนียม โรงแรม เพื่อเลี่ยงปัญหารั่วซึมลงไปห้องด้านล่าง สำหรับบ้านเรือนทั่วไปหากต้องการความสวยงามก็สามารถติดตั้งได้เช่นกัน
ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์แขวนผนัง แบบลอยตัว
ระบบการชำระล้างโถสุขภัณฑ์มี 4 ระบบ คือ
- ระบบ Wash-Down ใช้หลักการน้ำใหม่แทนน้ำเก่า ข้อดีคือ ปริมาณใช้น้ำต่อครั้งที่น้อยกว่าระบบอื่น บางรุ่นจะมี 2 ฟังก์ชันให้เลือก แบบ Single Flush และ Dual Flush โดยแบบ Single Flush จะปล่อยน้ำน้อย ประมาณ 3 ลิตร เหมาะกับการถ่ายเบา ส่วนฟังก์ชัน Dual Flush จะปล่อยน้ำ 4.5 ลิตร เหมาะกับการถ่ายหนัก ซึ่งแต่ละรุ่นอาจออกแบบแตกต่างกัน เช่น มี 2 ปุ่ม หรือ กดเบา กดค้าง เป็นต้น
- ระบบ Siphonic Wash-Down ใช้หลักการของกาลักน้ำ การทำงานคล้ายกับระบบ Wash-Down แต่มีรูปร่างของคอห่านที่โค้งกลับ ทำให้เกิดกาลักน้ำ ช่วยดึงดูดสิ่งปฏิกูลได้อีกทางหนึ่ง
- ระบบ Siphon-Jet เป็นระบบที่เน้นความรวดเร็วในการชำระล้างและแรงกว่าระบบอื่น ๆ เพราะมีหัวฉีด (Jet Hole) ช่วยส่งน้ำให้เกิดเพิ่มแรงดึงดูดในการชำระสิ่งปฏิกูลได้รวดเร็วขึ้น ใช้น้ำเพียง 6 ลิตร
- ระบบ Siphon Vortex เป็นระบบการชำระล้างที่ดีที่สุด อุปกรณ์ภายในหม้อน้ำเป็นทองเหลืองที่ทนทาน เมื่อกดชำระภายในโถจะเกิดการหมุนวนของน้ำทำให้ดูดสิ่งปฏิกูลได้รวดเร็ว เป็นโถสุขภัณฑ์ประเภทชิ้นเดียวที่มีถังพักน้ำต่ำกว่าระบบอื่นๆ ทำให้เสียงเงียบ แต่ใช้น้ำมากที่สุดคือ 9 ลิตร
นอกจากระบบการชำระล้างใน 4 แบบนี้แล้ว ปัจจุบันโถสุขภัณฑ์บางรุ่นอาจไม่ได้ใช้เพียงระบบใด ระบบหนึ่ง แต่เลือกผสมผสานระบบเข้าด้วยกัน เช่น สุขภัณฑ์ห้องน้ำ Mogen ในภาพประกอบด้านล่างนี้ นำฟังก์ชัน Single Flush ในระบบ Wash Down มาใช้ร่วมกับระบบ Siphon Jet
ตัวอย่างสินค้าหมวดสุขภัณฑ์ห้องน้ำ : Homepro.co.th
โถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว VS โถสุขภัณฑ์แบบแยกชิ้น
นอกจากระบบการชำระล้าง ระบบการติดตั้ง โถสุขภัณฑ์ยังสามารถจำแนกชนิดได้อีก 2 ลักษณะ นั่นคือ แบบชิ้นเดียวทั้งโถและแบบแยกชิ้น โดยส่วนที่เป็นตัวแยกชนิด คือ ถังเก็บน้ำนั่นเองครับ สำหรับโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว จะผลิตโถด้วยวัสดุเซรามิกเป็นชิ้นเดียวกันทั้งชิ้น ซึ่งข้อดีของชิ้นเดียวคือการไม่มีรอยต่อ จึงช่วยแก้ปัญหาการรั่วซึมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดคราบสกปรกที่อาจเกาะติดระหว่างรอยต่อได้ดีอีกด้วย การติดตั้งยังสามารถทำได้ง่าย โดยช่างติดตั้งไม่จำเป็นต้องประกอบใหม่ เพียงแกะกล่องก็สามารถติดตั้งได้ทันที แต่ก็มีข้อเสียเรื่องน้ำหนัก หากหน้างานติดตั้งอยู่ชั้นบนและต้องขึ้นบันได โถชักโครกแบบชิ้นเดียวจะมีน้ำหนักสูงมาก จึงอาจยากต่อการขนย้าย และราคาโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียวมีราคาสูง โดยเฉลี่ยราคาเริ่มต้นประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป จึงเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับแบบแยกชิ้นครับ
โถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว
แน่นอนว่าภาพรวมของโถสุขภัณฑ์ทั้งสองแบบนี้ แบบชิ้นเดียวย่อมมีดีกว่าเกือบทุกด้าน แต่ก็ใช่ว่าแบบแยกชิ้นจะไม่มีดีนะครับ ข้อดีอย่างแรกคือเรื่องราคาที่มีให้เลือกตั้งแต่ 2-3 พันสำหรับรุ่นทั่วไป และด้วยการแยกชิ้นจึงช่วยให้น้ำหนักต่อชิ้นลดลง ช่างจึงสามารถยกมาได้อย่างสะดวก แต่ต้องระมัดระวังการประกอบให้ดี ๆ มิเช่นนั้นอาจเกิดการรั่วซึมได้
ฝาปิดรองนั่ง องค์ประกอบเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
การใช้โถสุขภัณฑ์ที่ดี เมื่อใช้เสร็จแล้วควรปิดฝาชักโครกให้เรียบร้อยทุก ๆ ครั้ง จะช่วยให้ห้องน้ำที่สวยงามดูเป็นระเบียบอยู่เสมอ การเลือกฝาปิดแบบ Soft Close จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ใช้มือสะกิดเบา ๆ ฝาปิดรองนั่งก็จะค่อย ๆ ปิดตัวลงอย่างนุ่มนวล ไม่ส่งเสียงดังกระแทก อีกทั้งยังช่วยให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น ในทางกลับกันหากเลือกใช้ฝาปิดแบบธรรมดา จะก่อให้เกิดเสียงดังและหากรุ่นดังกล่าวเลือกใช้วัสดุเกรดต่ำ อาจทำให้ฝาปิดแตกหักได้ง่าย
หรือหากท่านใดชื่นชอบนวัตกรรมการแต่งบ้าน ปัจจุบันโถสุขภัณฑ์ยังมีรุ่นที่มาพร้อมกับระบบเซ็นเซอร์ เปิดฝาให้อัตโนมัติเมื่อมีผู้ใช้งาน และปิดให้อัตโนมัติเมื่อใช้งานเสร็จ นับเป็นอีกนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการใช้งานที่ดียิ่งขึ้น
โถสุขภัณฑ์ Moya มีระบบเซนเซอร์ เปิด ปิด อัตโนมัติ
อ่านมาถึงจุดนี้ หากยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะเลือกซื้อโถสุขภัณฑ์แบบไหนดี ลำดับแรกให้ผู้อ่านตั้งงบประมาณไว้ก่อนครับ เช่น หากมีงบประมาณสำหรับชักโครก 5,000 บาท จะเหลือตัวเลือกชักโครกแบบตั้งพื้น ชนิดถังน้ำแยกชิ้น ส่วนระบบการชำระล้างให้เลือกตามโจทย์ความต้องการ เช่น อยากประหยัดน้ำ หรือต้องการความเงียบ แต่หากงบประมาณมีมากกว่า 10,000 บาทขึ้นไป แนะนำให้มองหาโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว แล้วค่อย ๆ เปรียบเทียบรุ่น ฟังก์ชันการทำงาน ดีไซน์ และราคาของแต่ละยี่ห้อครับ
อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินซื้อสุขภัณฑ์ ควรเช็คด้วยว่ามีขนาดท่อตรงกันกับขนาดท่อประปาภายในบ้านที่จะทำการเชื่อมต่อ และระยะทางในการวางท่อน้ำทิ้งที่เหมาะสม สภาพภายนอกของสุขภัณฑ์ทุกชิ้นต้องไม่มีร่องรอยแตกร้าว บิ่น หรือเป็นสนิม ส่วนของโถสุขภัณฑ์ต้องให้ช่างสาธิตการทำงาน เช่น ลองใส่เศษทิชชู่ลงไปแล้วสังเกตการชำระล้าง เช็คจุดรั่วซึมโดยหยดสีผสมอาหารลงในถังพักน้ำ หากมีสีลงมาที่คอห่านโดยที่ไม่ได้กดชักโครก แสดงว่ามีการรั่วซึม เป็นต้น ทั้งนี้อย่าลืมสอบถามอะไหล่สำรอง และบริการหลังการขายด้วยนะครับ
สำหรับท่านที่ต้องการติดตั้งหรือซ่อมแซม เปลี่ยนสุขภัณฑ์ห้องน้ำใหม่ แต่ไม่รู้จะเรียกช่างหรือหาซื้อสุขภัณฑ์คุณภาพดี ราคาเป็นมิตรจากที่ไหน แนะนำเลือกชมสุขภัณฑ์ห้องน้ำจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำ พร้อมทีมงานมืออาชีพที่คอยให้บริการติดตั้งถึงบ้าน สามารถแวะเข้าไปติดต่อสอบถามได้ที่ Home Service ใน HomePro ทุกสาขา นอกจากบริการที่เชื่อมั่นได้ในฝีมือแล้ว ยังมีการรับประกันคุณภาพงานติดตั้ง 180 วัน อุ่นใจหายห่วงครับ
พิเศษ !! เฉพาะผู้อ่านบ้านไอเดีย รับส่วนลด 5 % สำหรับบริการติดตั้งหรือเปลี่ยนสุขภัณฑ์ เพียงติดต่อที่หน้าเคาน์เตอร์ Home Service ภายในโฮมโปรสาขาที่ให้บริการ แล้วแจ้งว่า เว็บไซต์บ้านไอเดียแนะนำมา เท่านี้ก็รับส่วนลดไปทันทีครับ !! |
รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่
เว็บไซต์ : Homepro.co.th |แฟนเพจ : Home Service by HomePro
Line : @homeproservice | Call Center : 1284 http://www.tb-credit.ru/our-company.html