เมนู

เกี๊ยวหนองบัว รีโนเวทใหม่ในจิตวิญญาณเดิม by ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ

เกี๊ยวหนองบัว

รีโนเวทตึกเก่า

เราอาจสังเกตได้ว่าหลาย ๆ ธุรกิจที่สร้างมานานตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่า มักจะรีแบรนด์ (rebranding) ในยุคหลัง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าเตรียมเปิดสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้น ร้านอาหารเก่าแก่เจ้าเก่าที่เราคุ้นตาในตึกแถวจำนวนไม่น้อยก็ปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ เพื่อให้ร้านดูทันสมัยและน่าเข้ามาใช้บริการ ร้านอาหารบางร้านผู้ใหญ่อาจจะชอบที่รสชาติ แต่คนเจเนอเรชันหลังที่ชอบบันทึกภาพบรรยากาศด้วยอาจจะรู้สึกธรรมดา การจะรวมคน 2 กลุ่มเข้าด้วยกันในร้านเดียวจึงค่อนข้างยาก แต่มีอยู่ร้านหนึ่งที่ทลายกำแพงนี้ได้ภายหลังการรีโนเวท เพราะสิ่งที่เห็นไม่ใช่แค่ร้านที่สวยขึ้น แต่เราได้เห็นการมารวมกันแบบครอบครัวใหญ่ที่มาทานพร้อมกันได้อย่างอบอุ่นชวนให้สุขใจ

ออกแบบตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ
เนื้อหาบ้านไอเดีย

เกี๊ยวหนองบัว ตราด

ปลุกตำนานร้านบะหมี่ที่พร้อมสู่อนาคต

ร้านเกี๊ยวหนองบัว เป็นร้านขายบะหมี่เก่าแก่ในจังหวัดตราด ซึ่งเปิดขายมากว่า 50 ปีโดยเจ้าของร้านคือ ลุงดั๊งที่เริ่มต้นทำร้านมาด้วยความหลงใหลและอยากให้คนทานได้รับสิ่งดี ๆ ในทุกชาม ทำให้บะหมี่เกี๊ยวร้านนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภค แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีร้านอาหารรูปแบบอื่น ๆ ผุดขึ้นมากมาย ยอดขายที่ร้านก็ค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เลือกทานอย่างอื่นมากกว่าด้วยเหตุผลหนึ่งคือ ร้านไม่น่าเข้า คนรุ่นลูกที่เห็นความตั้งใจของคุณพ่อมาตลอดและเสียดายหากคนรุ่นหลังจะไม่ได้ลิ้มลอง จึงมีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนร้านใหม่ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันกลับมาลองทาน เป็นการสืบสานตำนานร้านเกี๊ยวหนองบัวต่อจากคุณพ่อให้เป็น “ร้านบะหมี่ของทุกคน” โดยให้งานออกแบบเป็นเครื่องมือ

ภาพเปรียบเทียบร้านเกี๊ยวหนองบัวก่อนและหลังปรับปรุง จะเห็นว่ารูปลักษณ์แม้จะใหม่ขึ้นแต่หน้าตายังดูกลมกลืนกับเมืองและอาคารรอบข้าง ด้วยวิธีการปรับปรุงเปลือกอาคารที่เลือกใช้กระเบื้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สีขาวกรุทับพื้นที่ผนังด้านหน้า แสดงบุคลิกของความเรียบง่ายธรรมดาที่เราคุ้นเคย แต่นำเสนอออกมาให้ทันสมัยได้กลิ่นอายความมินิมอล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการคิดมาอย่างดีให้ร้านยังคงอัตลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุดและยังคงร่วมสมัยแม้บริบทจะเปลี่ยนในอนาคต

ปรับปรุงร้านใหม่


มุม display หน้าร้าน

ลุคใหม่แต่ไม่ทิ้งตัวตนเรียบง่ายแบบเดิม

สำหรับการจัดหน้าร้านใหม่ ก็ยังคงคอนเซ็ปร้านบะหมี่เกี๊ยวที่ต้องมีตู้โชว์เส้นบะหมี่และเครื่องอย่างเป็ดย่างหมูแดงแขวนอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจากตู้กระจกบนเคาน์เตอร์สังกะสีนอกร้านเข้าไปอยู่ด้านในที่มีกรอบตู้เป็นไม้สีน้ำตาล ข้างๆ ตู้เป็นผนังกระจกมีประตูบานกระจกกรอบไม้เช่นเดียวกัน วิธีการจัดวางและตกแต่งทำให้บรรยากาศดูคล้ายร้านขนมปังในญี่ปุ่น ชวนให้เข้ามาชมและชิม

หน้าร้านตกแต่งกระเบื้องสี่เหลี่ยมสีขาว

คุณลุงดั๋งผู้ก่อตั้งร้านเกี๊ยวหนองบัวตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 ถ่ายภาพในเคาน์เตอร์แคชเชียร์ที่อยู่จัดให้ในตำแหน่งเดิมในดีไซน์ใหม่ปี 2563 เกือบ 50 ปีที่อยู่กับร้านมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ร้านกำลังก้าวต่อไปโดยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อ

มุมของฝากหน้าร้าน

เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในจะทักทายผู้มาเยือนผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์ และมุมขายของฝากที่จัดชั้นวางโชว์สินค้าของดีเมืองตราดและบะหมี่ของที่ร้าน ในจุดนี้เดิมทีค่อนข้างมืด เนื่องจากเป็นตึกแถวที่ผนังชิดกับอาคารข้างเคียงจึงแทบไม่มีช่องเปิดด้านข้างให้ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน ทีมงานจึงแก้ปัญหาด้วยการเจาะพื้นเพดานบริเวณหน้าสุดของอาคาร และใส่วัสดุโปร่งแสงด้านบนเพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาเติมความสว่าง และสร้างบรรยากาศโดยรวมของร้านให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

งอบน้ำเชี่ยว หนึ่งในงานหัตถกรรมของดีเมืองตราด ถูกนำมาใช้เป็นโคมไฟตรงโถงทางเข้า เป็นไอเดียการตกแต่งที่หยิบของพื้นๆ มาเพิ่มลุคอบอุ่นแบบบ้าน ๆ แต่มีความเก๋ชวนถ่ายรูปเก็บไว้เป็นภาพที่ระลึก

โซนเคาน์เตอร์ทำบะหมี่

ครัวของร้านเดิมเป็นเคาน์เตอร์ครัวแบบเปิดให้ เห็นทั้งหม้อต้มหม้อลวก ชามเครื่องปรุง และเครื่องทั้งหมดแบบที่เราคุ้นตาตามร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ออกแบบใหม่ให้เป็นห้องกระจกที่สามารถชมเป็นบรรยากาศในการทำบะหมี่ได้ แต่มีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น

ไอเดียรีโนเวทร้าน

ภาพบรรยากาศก่อนและหลังปรับปรุงจะเห็นว่าโครงสร้างยังคงเดิมอยู่มาก แต่ หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าเก้าอี้ยังเป็นเก้าอี้ชุดเดิม แต่นำมาทำสีใหม่ให้เป็นโทนสีน้ำตาลแต้มสีขาวให้เข้ากับธีมในภาพรวมของร้านที่เน้นสีขาว-น้ำตาล แม้จะปรับปรุงให้ดูเหมือนร้านใหม่บรรยากาศแตกต่างไป แต่ยังคงความรู้สึกอุ่นใจทำให้ลูกค้าเก่ายังสบายใจที่จะกลับเข้ามานั่งทานบะหมี่ร้อน ๆ แสนอร่อยในร้านเหมือนเดิม

บรรยากาศภายในร้าน

ตกแต่งร้านด้วยถาดใส่บะหมี่เก่า

ร้านเกี๊ยวหนองบัวที่เปิดมาหลายสิบมีย่อมมี story ที่เก็บเอาไว้เป็นความทรงจำและอยากบอกต่อ ทีมงานจึงนำรูปถ่ายเก่า ๆ มาขยายแล้วบอกเล่าเรื่องราวของร้านผ่านกรอบรูปที่ทำจากถาดไม้ที่ใช้ใส่บะหมี่ทำมือในสมัยก่อน

บรรยากาศร้านหลังรีโนเวท

เจาะโถงสูงกลางร้าน

ทลายทุกข้อจำกัดของการใช้งาน

ข้อจำกัดของตึกแถวเก่าที่ทุกตึกต้องเจอเหมือน ๆ คือ การขาดพื้นที่รับแสงช่วงกลางอาคาร เนื่องจากผนังที่ถูกขนาบทั้งสองด้านและการทำเพดานปิดทึบคั่นระหว่างชั้น ทำให้ภายในมืดและดูเวิ้งว้าง สถาปนิกจึงแก้ไขจุดนี้เหมือนกับด้านหน้าด้วยการรื้อพื้นเพดานบางส่วนออก ทำให้เกิดการเชื่อมต่อพื้นที่ในแนวตั้งทะลุจากชั้นบนลงมาถึงชั้นล่าง กลายเป็นคอร์ทสูงโปร่ง ส่วนหลังคาจากวัสดุโปร่งใสเพื่อรับแสงสว่างลงมาเพิ่มความสว่างให้ร้านและยังช่วยให้ต้นแคนาที่ปลูกเป็นพระเอกใจกลางร้านใช้สังเคราะห์แสงสร้างอาหาร วิธีนี้นอกจากจะลดทอนความเวิ้งว้างของพื้นที่เดิม สร้างความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้านแล้ว ยังเป็นการดึงธรรมชาติเข้าสู่ภายในเหมือนมีพื้นที่สวนกลางแจ้งอยู่ในร้านด้วย

ภาพตัดข้างอาคาร

ภาพตัดข้างอาคารแสดงจุดที่เจาะเพดานเชื่อมพื้นที่แนวตั้งสองจุดคือด้านหน้าร้านและกลางร้าน

มุมทานบะหมี่แบบส่วนตัว

อยากนัดทานบะหมี่กับเพื่อน ๆ แบบส่วนตัวไม่พลุกพล่าน ก็มีโซนด้านหลังที่มีฉากแบ่งเป็นบล็อก ๆ ให้นั่งทานอย่างสบายใจ เหมือนอยู่ในห้างใหญ่ ๆ ที่เลือกระดับความเป็นส่วนตัวได้

โต๊ะใหญ่สำหรับครอบครัวใหญ่

จุดนัดพบใหม่ของคนทุกวัย

ภาพที่ชวนให้อุ่นไปถึงหัวใจกับครอบครัวที่ผู้สูงวัยมาทานข้าวกับลูกหลานได้แบบไม่เคอะเขิน หลังทานบะหมี่เสร็จเด็ก ๆ สามารถเลือกทานของหวานอร่อย ๆ ตบท้ายได้ ส่วนวัยรุ่นที่ชื่นชอบกลิ่นหอมและรสชาติที่ชวนลุ่มหลงของกาแฟก็ขึ้นไปดื่มกาแฟกันต่อที่ชั้นบน จัดพื้นที่ใช้งานโดยคำนึงถึงความรู้สึก รสนิยม ของคนต่างวัยให้ใช้ร่วมกันอย่างสนิทใจในพื้นที่เดียวเหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ เป็นหนึ่งความคาดหวังที่เจ้าของร้านต้องการและทำได้สำเร็จอย่างงดงาม

มุมมองจากชั้นบน

ห้องกระจกลอยตัวเหนือคอร์ท

พื้นที่ชั้นสองเดิมเคยใช้เป็นห้องสำหรับจัดเลี้ยงและสัมมนา กลายเป็นคาเฟ่สุดฮิปชื่อ Second Cafe Trat ที่เพิ่มเติมมาเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานให้เข้ามาใช้พื้นที่ของร้านในช่วงเวลานอกมื้ออาหารหลัก นอกจากจะอิ่มอร่อยกับ ชา กาแฟ เค้กต่างๆ ที่เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้นแล้ว ยังสนุกกับการถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ  โดยเฉพาะห้องกระจกที่สร้างยื่นลอยอยู่ระหว่างคอร์ทกลางร้านอย่างท้าทาย ผนังห้องที่เป็นกระจกรอบด้านช่วยดึงแสงสว่างเข้าสู่ภายในได้โดยรอบ และยังเบลอขอบเขตระหว่างชั้นสองกับบริเวณอื่น ทำให้มองเห็นกันได้หมดรวมถึงต้นแคนาด้านล่างได้ชัดเจน

บรรยากาศคาเฟ่บนชั้น 2

คาเฟ่ที่ชั้นบน

โคมไฟแขวนจากงอบน้ำเชี่ยว

เกี๊ยวหนองบัวหลังรีโนเวท

โปรเจ็คนี้ทำให้เรารู้ว่า การรีโนเวทอาคารเก่าไม่จำเป็นต้องทำใหม่จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม โดยเฉพาะในร้านค้าที่มีประวัติยาวนาน จะมีตัวตนและความภูมิใจซ่อนอยู่ในนั้น บางครั้งการปล่อยให้มีความทรงจำเดิม ๆ ทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้ก็เป็นการให้เกียรติกับเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมา ในขณะที่การจัดการฟังก์ชัน บรรยากาศ ภายนอกภายในต้องตอบรับกับการใช้งานใหม่ ๆ ที่สะดวกมากขึ้นสำหรับคนทุกกลุ่ม พร้อมกับการก้าวต่อไปในอนาคต ซึ่งอาคารนี้ตอบทุกโจทย์ได้อย่างน่าชื่นชม http://www.tb-credit.ru/zaim-online.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด