
Renovate ทาวน์เฮาส์
บ้านโครงการทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวที่ผนังติด ๆ กัน มักจะมีปัญหาคล้าย ๆ กันคือ ภายในบ้านค่อนข้างมืดตามสไตล์บ้านจัดสรรที่แปลนบ้านเป็นแบบสำเร็จรูป ทำให้นอกจากหน้าตาจะเหมือนกันหมดแล้ว ช่องแสงช่องลมยังอยู่ในตำแหน่งเดียวกันหมด ฟังก์ชันของบ้านไม่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมและที่ตั้งที่แตกต่าง เมื่อผ่านการใช้งานหลาย ๆ ปีผ่านไปจะก่อให้เกิดปัญหาความชื้นสะสมและความร้อนในฤดูร้อนได้ บ้านหลังนี้ในบันดุง ประเทศอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน เจ้าของบ้านจึงทำการรีโนเวทปรับเปลี่ยนทั้งหน้าตาและภายในให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตและสภาพอากาศมากขึ้น
ออกแบบ : Ismail Solehudin
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
แปลงร่างบ้านเก่าให้เราอยู่สบาย
โครงการปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ เริ่มต้นด้วยการสำรวจโครงสร้าง ซึ่งสถาปนิกพบว่าประมาณ 50% ของบ้านเก่ายังคงดีอยู่ จึงยังคงไว้และปรับเปลี่ยนทุบรื้อแก้ไขเพิ่มเติมในบางจุด หน้าบ้านเปลี่ยนรั้วใหม่ให้ดูโปร่ง ขยายประตูทางเข้าให้กว้างขึ้น ปูทางเดินรถใหม่ให้เข้าออกสะดวกขึ้น ผนังด้านหน้ารื้อส่วนที่ไม่ต้องการใช้ออกแล้วเปลี่ยนเป็นผนังอิฐช่องลม ช่วยให้บ้านรับแสงและลมได้มากขึ้น โทนสีเปลี่ยนมาใช้ขาวตัดดำ ทำให้บ้านดูทันสมัยขึ้น แบบแปลนได้รับการออกแบบใหม่ โดยมีรูปแบบที่น่าสนใจกว่าบ้านจัดสรรแบบสำเร็จรูปทั่วไป รวมทั้งคำนึงถึงผนังที่มีอยู่บางส่วนที่ได้รับการดูแลและแทบจะไม่ถอดโครงสร้างหลักเช่นเดียวกับส่วนหน้า
สภาพบ้านเก่าเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวค่อนข้างทรุดโทรม หลังคาทรงมะนิลามีจั่วและหน้ามุขขื้นราดำ โครงสร้างเดิมยังดีอยู่จึงเก็บเอาไว้ในบางส่วนและรื้อส่วนที่ไม่จำเป็นออก
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
หลังคาถูกเปลี่ยนเป็นทรงหลังคาจั่วธรรมดา กระเบื้องหลังคาใช้ของเก่า 50% ของเฟรมที่มีอยู่และเติมใหม่อีก 50% กระเบื้องหลังคาทาสีดำเพื่อใช้โทนสีกลบระหว่างของเก่ากับใหม่ให้แนบเนียนเป็นผืนเดียว ใส่วัสดุโปร่งแสงสร้าง Skylight ในหลาย ๆ จุด เพื่อแก้ปัญหาบ้านขาดแสงจากด้านบน ซึ่งจะทำงานควบคู่กับผนังอิฐช่องลมที่รับแสงและลมจากผนังด้านข้าง
พื้นที่ใหม่ที่โปร่งและสว่าง
สำหรับบ้านที่ขาดช่องแสงและช่องลม แน่นอนว่าไฟท์บังคับสำหรับนักออกแบบต้องเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้บ้านสว่างขึ้น โล่ง และโปร่งขึ้น สิ่งแรกที่นักออกแบบทำคือการรื้อผนังแบ่งห้องเล็กห้องน้อยเดิมออก แล้วปรับพื้นที่สำหรับใช้งานสาธารณะตรงกลางบ้านเป็นห้องโถงเดียวขนาดใหญ่แบบ open plan มีห้องนั่งเล่น ครัว อยู่ด้วยกัน ส่วนผนังทำเป็นบานสไลด์ใส่กระจกตลอดแนวอาคาร เชื่อมต่อออกมาที่เฉลียงที่ต่อเติมเพิ่มมาหลังบ้าน วิธีนี้ทำให้บ้านกว้าง โปร่งโล่ง เปิดรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้เต็มที่สอดรับกับสภาพอากาศร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี
จากห้องครัวจะมีช่องเปิดเป็นหน้าต่างบานเลื่อน เปิดออกมาส่งอาหารที่โต๊ะทานข้าวบริเวณเฉลียงนอกบ้าน เป็นการลดพื้นที่ใช้งานในอาคารในส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งตรงนี้สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากความชอบและพฤติกรรมการใช้งาน ที่อยากทานอาหารในบรรยากาศธรรมชาติมากกว่า
หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าผนังและการตกแต่งบ้านทั่วบริเวณไม่ได้เรียบกริบ ซึ่งเป็นความตั้งใจของนักออกแบบที่จะสร้าง Texture ที่แตกต่างลงไป ทำให้เกิดความรู้สึกแบบบ้าน Rustic Style ที่เป็นสน่ห์ของความไม่เนี๊ยบ
เฉลียงกว้างชวนให้ออกมานั่งเล่น
ข้อดีของบ้านนี้คือมีพื้นที่ว่างข้างหลังค่อนข้างมาก จึงทำให้นักออกแบบสามารถใช้ประโยชน์ได้มาก นอกจากการจัดภูมิทัศน์สนามหญ้าให้ความสดชื่นแบบเป็นส่วนตัวแล้ว ยังขยับขยายพื้นที่ใช้งานออกมาตรงเฉลียงยื่นยาวออกมาหลายเมตร เป็นพื้นที่นั่งเล่น ทานอาหารกึ่งกลางแจ้ง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนใช้งานได้หลายรูปแบบ
ในขณะที่ความกว้างของเฉลียงช่วยปกป้องความแรงของแสงที่จะสาดเข้าไปภายในมากเกินความต้องการ แต่ก็ยังควรให้มีแสงเพียงพอสำหรับใช้งาน จึงแทรกด้วยวัสดโปร่งแสงเป็น skylight เป็นระยะ
ห้องนอนบรรยากาศเอาท์ดอร์
ส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุดของบ้านนี้ต้องยกให้ “ห้องนอน” ไม่ใช่เพราะความหรูหรา สวยงาม แต่เป็นวิธีคิดในการตกแต่งโดยนำธรรมชาติ ต้นไม้ หิน แสง ลม เข้ามามีส่วนร่วมกับสมาชิกในบ้านทั้งยามหลับถึงยามตื่น
จากห้องนอนแคบ ๆ ธรรมดาถูกทำให้กว้างขึ้นด้วยการทุบผนังออก เชื่อมต่อพื้นที่ออกไปสร้างคอร์ทเล็ก ๆ ที่ปลูกต้นไม้ขนาดกระทัดรัดเอาไว้ให้ความสดชื่น เหนือคอร์ทเจาะเพดานขึ้นไปใส่ช่องแสงสกายไลท์ ผนังอิฐช่องลมรับแสงและลมเข้ามาภายใน ในขณะที่คนในห้องรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้น ก็ยังรับรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวของภายนอกได้ เป็นจำลองบรรยากาศเอาท์ดอร์เข้ามาเก็บไว้ข้างในอย่างชาญฉลาด
โชว์ Texture อารมณ์บ้าน ๆ แต่เท่
วัสดุที่ใช้ในการปรับปรุงและตกแต่งบ้าน เลือกใช้สิ่งที่มีอยู่เดิมในบ้านและท้องถิ่น ไม่ได้ซื้อหาสิ่งที่ราคาแพง แล้วนำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ ให้น่าสนใจขึ้น อย่างเช่น ปูนเปลือย ผนังอิฐที่กระเทาะเปลือกปูนที่ฉาบออกเผยให้เห็นแนวอิฐเก่าที่เรียงข้างในอย่างคลาสสิคแต่เท่ บางจุดนำอิฐมาก่อเป็นแพทเทิร์นใหม่ ๆ ใช้ทำหน้าที่เป็นช่องลมทาสีดำดูทันสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่าเพียงแค่ใส่มุมมองที่แตกต่าง เติิมความคิดสร้างสรรค์ลงไปสิ่งที่มีอยู่เดิมก็กลับมีคุณค่าใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การสร้างบรรยากาศให้บ้านมีความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน ทำได้ด้วยการจัดแต่งไฟในบ้านและสวนที่มีส่วนช่วยให้บ้านมีมิติและน่าสนใจมากขึ้น การจัดแสงในสวนมีหลักการง่าย ๆ คือ ติดไฟส่องสว่างในพื้นที่กว้าง ๆ เพื่อให้ความสว่างเพื่อการมองเห็น อาจจะติดโคมไฟเสาสูง โคมไฟบนผนังที่ให้แสงกระจายในวงกว้าง หรือไฟสองทางตามแนวกำแพง และอีกแบบคือ ไฟส่องสว่างที่เน้นความสวยงามสร้างบรรยากาศเฉพาะจุด อาทิ โคมไฟทางเดิน (Bollard Light) ไฟส่องต้นไม้ แสงก็สีก็สำคัญเช่นกัน หากต้องการโทนอบอุ่นก็เป็น Warm white แต่ถ้าต้องการความรู้สึกโมเดิร์นและสว่างขึ้นก็ใช้ Cool white |