เมนู

Shimogamo House ยกระดับบ้านหลังคาจั่วอย่างมีชั้นเชิง

บ้านหลังคาจั่ว

บ้านสามชั้นหลังคาจั่วประยุกต์

พลังแห่งโลกาภิวัตน์ ทำให้สถาปัตยกรรมร่วมสมัยส่วนหนึ่งกลายเป็นเหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปตาม ๆ กัน จนมองดูไม่มีความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอย่างนั้น แต่เราก็ยังเห็นสิ่งก่อสร้างแนวคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกที่บนโลก ซึ่งบางครั้งไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นใหม่หมดเสียทีเดียว แต่อาจเป็นการตีความใหม่ ปรับ ประยุกต์ใส่ความคิดตามสายตาของคนปัจจุบัน ให้ผลลัพธ์ของบ้านต่างออกไปจากที่คุ้นเคย ยกตัวอย่างหากพูดถึงบ้านหลังคาจั่ว ก็จะคุ้นกันดีว่าหน้าตาเป็นอย่างไร โครงสร้างทั่วไปก็ธรรมดาไม่น่าตื่นเต้น แต่ “บ้านในชิโมกาโม” หลังนี้จะเข้ามาเปลี่ยนนิยามบ้านหน้าจั่วใหม่ให้รู้ว่า บ้านหลังคาจั่วไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อและเป็นเนื้อเดียวกัน

ออกแบบ :  Hata Archi
ภาพถ่าย : Tomohiro Hata
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านชิโมกาโมะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำ Kamogawa เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทางทิศตะวันออกมองเห็นภูเขา Hiei ล้อมรอบบ้านด้วยส่วนผสมของทาวน์เฮาส์แบบดั้งเดิมและอาคารร่วมสมัย เราจะเห็นหลังคาบ้านที่มีระดับและขนาดต่างๆ ซ้อนทับกัน และผสมผสานเข้ากับภูมิทัศน์ของภูเขาที่อยู่เบื้องหลัง สถาปนิกโทโมฮิโระ ฮาตะ รู้สึกประทับใจกับภูมิทัศน์ของสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก จึงใช้มุมมองนี้เป็นแรงบันดาลใจหลัก ๆ ในการออกแบบบ้าน

บ้านในญี่ปุ่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านไม้สองชั้นหน้าจั่วโมเดิร์นสไตล์ญี่ปุ่น

ด้วยแนวคิดที่ต้องการเชื่อมโยง เน้นย้ำถึงภูมิทัศน์เมืองที่น่าสนใจในเกียวโต และนำภาพหลังคาที่ซ้อนเหลื่อมกันมาตีความใหม่ บทสรุปจึงออกมาเป็นบ้านไม้สีน้ำตาลเข้มหลังคาจั่วที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการแบ่งปริมาตรของชุดโครงสร้างไม้ขนาดเล็กประกอบกันมีหลังคาแยกในแต่ละส่วน แทนที่จะเป็นโครงสร้างเดียวภายใต้หลังคาขนาดใหญ่ บ้านก็ถูกแบ่งเป็นหลายระดับจัดเรียงตำแหน่งอาคารอย่างระมัดระวังบนอีกด้านหนึ่งของตัวบ้าน มีชั้นบนสุดเป็นเหมือนกล่องกระจกยื่นออกไปดูท้าทายสายตา รอบ ๆ ยังจัดให้มีพื้นที่เปิดโล่งมากมาย

โถงทางเข้าบ้าน

หน้าต่างขนาดใหญ่เชื่อมมุมมองสวน

ในชั้นล่างของบ้านจะรวมชุดของพื้นที่กึ่งเปิดโล่งที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด เพื่อทำเป็นโรงรถและที่ว่างอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นห้องที่มีพื้นเป็นดิน (Doma) ส่วนของอาคารหลังคาปั้นหยานั้นจะเป็นห้องสไตล์ญี่ปุ่นสำหรับพิธีชงชาที่มองเห็นสวนญี่ปุ่นข้างนอกได้ ส่วนแื่นๆ จะเป็นห้องสำหรับเด็ก โดยห้องน้ำชาจะเชื่อมต่อกับ Terace บนชั้นสอง ในขณะที่ห้องสำหรับเด็กและโดมะ ก็จะมีบันไดเชื่อมโยงกับห้องอาหารและระเบียงได้เช่นกัน

ช่องว่างโปร่ง ๆ สำหรับชมวิวเมือง

หนึ่งในระเบียงกลางแจ้งที่มีความโล่งเป็นองค์ประกอบ เริ่มต้นทักทายด้วยความสบายก่อนเข้าสู่พื้นที่ใช้งานชั้นสองของบ้าน

เฉลียงขนาดใหญ่ชมวิวโปร่งๆ

ช่องเปิดและช่องแสงขนาดใหญ่

ครัวและห้องทานข้าว

Tomohiro Hata ออกแบบพื้นที่ภายในต่างออกไป เพราะเขามองว่าทิวทัศน์รอบ ๆ ที่ดีขนาดนี้ และด้วยจุดเด่นที่เป็นแปลงหัวมุม ซึ่งใช้งานบ้านได้รอบด้าน จึงควรทำทุกพื้นที่ในบ้านให้เป็นสถานที่สำหรับการสำรวจและการเคลื่อนไหว อาคารต้องไม่ใช่กล่องธรรมดาที่มีพื้น เพดาน และผนังจากบ้านที่เราเคยเห็น โดยเขาเปลี่ยนมาจัดแปลนแบบเล่นระดับ เพื่อเพิ่มพื้นที่และความสนใจในการมองเห็น แต่ละชั้นย่อย ๆ มีโซนใช้งานที่ไม่เหมือนกันแต่เชื่อมต่อถึงกันผ่านช่องว่างและบันได ช่วยให้มีทุกพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในระดับความสูงต่างๆ กัน

บ้านเล่นระดับหลังคาเฉียงสูง

ภายในบ้านเล่นระดับ

บนชั้นสองและสาม ประกอบด้วย ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่นห้อง แบบเปิดที่มีทางออกไปยังพื้นที่กลางแจ้งของบ้านและชั้นบนหลายทาง ช่องว่างระหว่างระดับชั้นยังทำให้แสงและลมไหลเข้ามาได้ง่าย บ้านลักษณะเฉพาะของหลังคาที่กำบัง ชนกัน การละลายพื้นที่ และทับซ้อนกัน โดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มมุมมองที่หลากหลายและความสัมพันธ์ที่สะดวกสบาย บ้านมีความสมดุลระหว่างความเชื่อมโยงและการแยกจากกัน ให้ความเป็นส่วนตัวและความสนุกสนานในการใช้พื้นที่ได้อย่างอิสระ

บ้านเล่นระดับ

บ้านเล่นระดับ

พื้นที่ใต้ชั้นลอยจะเป็นช่องเปิดที่กรุด้วยกระจก ทำให้มองเห็นห้องอื่นๆ และความเขียวขจีภายนอกได้ในหลากหลายระดับ ทั้งระดับสายตา ต่ำกว่า และสูงกว่าระดับสายตา  กระจกเหล่านี้ได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่าง “ภายใน” และ “ภายนอก” ทำให้บ้านและคนสามารถสนทนากับทิวทัศน์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ในขณะที่เหมือนบ้านถูกฉีกออกเเป็นส่วนเล็ก ๆ ภายใน สถาปนิกกลับใช้กลวิธีในการสร้างรวามรู้สึกว่าส่วนต่างๆ ทั้งหมดยังรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการเลือกใช้โทนสีไม้ที่เรียบง่าย ผนังและราวบันไดทาสีขาวหลัก ๆ เพียงแค่สองสีเท่านั้นในทุกจุดของบ้าน

ภายในบ้านเล่นระดับ

ชั้นลอยผนังกระจกมองเห็นวิว

ชั้นบนสุดเป็นส่วนของกล่องหลังคาจั่ว ที่ยื่นออกไปลอยตัวอยู่เหนือลานบ้าน มาพร้อมจุดชมวิวผนังกระจกที่กลายเป็นจอแสดงผลเต็มรูปแบบ เหมือนกล้องส่องทางไกลขนาดใหญ่ เปิดวิสัยทัศน์ให้มองออกไปเห็นภูเขาและท้องฟ้าได้ชัดเจน แล้วใครหล่ะจะไม่อยากมานั่งชิล ๆ ในห้องนี้

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  บ้านหลังนี้จัดแปลนภายในแบบ Split Level Home หรือบ้านเล่นระดับ ทำให้ผลลัพธ์ของพื้นที่ภายในบ้านไม่เหมือนบ้านสองสามชั้นหลังอื่น ๆ ที่มักจะแบ่งพื้นที่แต่ละชั้นด้วยการเทพื้นหรือใส่พื้นสำเร็จรูปปิดทึบ มีช่องว่างเพียงโถงบันได ซึ่งทำให้อากาศ แสง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัด การเปลี่ยนมาใช้วิธีการเล่นระดับค่อย ๆ สูงเหลื่อมขึ้นไป ช่วยพื้นที่ภายในบ้านโปร่งโล่ง และอากาศไหลเวียนได้สะดวก บ้านดูมีลูกเล่นสนุกสนาน ระหว่างส่วนที่ยกระดับยังสามารถแทรกช่องเปิดและช่องลมที่ให้มุมมองที่ต่างจากบ้านทั่วไปเช่นกัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด