เมนู

รีโนเวทตึกอายุ 30 ปี เปลี่ยนเปลือก ปรับภายในสำหรับ 3 ครอบครัว

รีโนเวทตึกแถว

รีโนเวทตึกเก่า 

เป็นเรื่องปกติที่ “บ้าน” หรืออาคารที่เคยความสวยงามในยุคหนึ่ง จะค่อยๆ ทรุดโทรมไปตามเวลา เมื่อมาถึงวันหนึ่งที่บ้านเริ่มไม่ตอบโจทย์ทั้งการใช้ชีวิตและดีไซน์ มองเข้ามาแล้วรู้สึกว่าถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่าง ถ้าไม่เลือกรื้อหมดสร้างใหม่ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น ทางแยกที่ต้องเลือกนี้มีปัจจัยรายละเอียดให้ต้องขบคิดมากมายว่าสิ่งไหนจะคุ้ม หรือเหมาะสมมากกว่ากัน สำหรับอาคารหลังนี้เจ้าของบ้านเลือกที่จะปรับเปลี่ยนทั้งภายนอกภายใน จนเหมือนได้บ้านใหม่ที่ลบภาพจำอาคารเก่าลงไปอย่างสิ้นเชิงครับ

ออกแบบ : One and a Half Architects
ภาพถ่าย : Rungkit Charoenwat
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

รีโนเวทใส่ฟาซาดเหล็กโปร่งๆ สีขาว

บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวเก่า ย่านสาทร กรุงเทพมหานคร จุดเริ่มต้นมาจากการที่เจ้าของต้องการสร้างบ้านใหม่สำหรับ 3 ครอบครัวในบริเวณเดียวกัน แต่ด้วยปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นมาก จึงตัดสินใจรีโนเวทตึกแถวเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งโครงสร้างอาคารยังอยู่ในสภาพดีให้เป็นบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดิม ทั้งนี้ด้วยลักษณะพื้นที่อยู่ระหว่างอาคารสูงขนาบสองด้าน ซึ่งทำให้บ้านถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ค่อยมีช่องทางรับแสง ดังนั้นการปรับปรุงใหม่จึงมีจุดมุ่งหมาย เพื่อขยายพื้นที่ให้สามารถรองรับสมาชิกครอบครัวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

รีโนเวทใส่ฟาซาดเหล็กโปร่งๆ สีขาว

Façade ถูกออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็กเจาะรูพรุนสีขาวดูทันสมัยและสะอาดตา ซ่อนฟังก์ชันหน้าต่างเปิด-ปิดได้ ลักษณะดีไซน์เป็นจั่วแหลมสูงด้านบน มองดูเหมือนเป็นบ้าน 3 หลังที่ต่างระดับกัน เพียงแค่เปลือกที่เปลี่ยนหน้าตาของบ้านก็ให้บรรยากาศที่ต่างออกไปในทันที

ห้องนั่งเล่น Double Space

การออกแบบภายในเน้นย้ำแนวทางการออกแบบบ้านเพื่อประหยัดพื้นที่ ขยายมุมมอง และปรับให้เข้ากับความแตกต่างระหว่างรุ่นของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคน โดยยังคงรักษาโครงสร้างเดิมของอาคารเอาไว้ แต่องค์ประกอบโครงสร้างผนังหลายพื้นที่ถูกถอดออก เพื่อสร้างสเปซกว้างขึ้น เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ครัวที่เปิดออกเชื่อมต่อในแนวนอนกลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ บางจุดก็รื้อเพดานเชื่อมต่อขึ้นไปในแนวตั้ง ใส่กระจกเป็นตัวช่วยเชื่อมต่อสายตาและรับแสง ทำให้บ้านโปร่ง สว่าง และกว้างขึ้น

ครัวสไตล์โมเดิร์นโทนสีขาว-ไม้

ในส่วนฟังก์ชันของบ้านจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ พื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนได้ทำกิจกรรมประจำวันร่วมกันชั้น 1 ส่วนพื้นที่ครอบครัวของลูกชายอยู่บนชั้น 2 และพื้นที่ครอบครัวของลูกสาวชั้น 3 แต่ละส่วนจะมี Double space ภายในเพิ่มความโอ่โถงโปร่งตา ทั้นี้ยังมีจัดการเปลี่ยนตำแหน่งบันได เพื่อขยายพื้นที่ใช้งานภายในให้กว้างขึ้น และทำช่องแสง skylight เหนือบันไดทำให้พื้นที่ภายในบ้านเต็มไปด้วยความสว่าง ลดข้อจำกัดเรื่องการไหลเวียนอากาศ ความทึบมืดแบบตึกแถวเก่าลงได้หมด

บันไดเหล็กสีขาวท็อปไม้

ผนังกระจกกั้นภายในภายนอก

สถาปนิกใช้แผงกระจกหนาสองชั้นขนาดใหญ่สำหรับด้านหน้าอาคาร เพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติและอากาศเข้ามาในห้องได้ในทุกชั้น ความใสในบริเวณกว้างของผนังกระจกสูงหลายเมตร ทำให้เกิดความรู้สึกกว้างขวางและเป็นอิสระมากขึ้น ทีมงานยังเพิ่มศักยภาพของพื้นที่พร้อมความชิดใกล้ธรรมชาติให้มากขึ้น บ้านแนวตั้งหลังนี้จึงมีระเบียงด้านหน้าและด้านหลัง และดาดฟ้าเป็นพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ที่ปลูกเลือกที่มีความสูงเหมาะสมให้มองเห็นได้จากทั้งสองระดับ ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเชื่อมต่อกับสวนโดยรอบได้แม้แทบไม่มีพื้นที่ว่างเลยก็ตาม

บ้านโถงสูงหน้าต่างกระจก

มิติของแสงเงาผ่านฟาซาดเหล็กโปร่งๆ

แต่แน่นอนว่าความใสของกระจกก็มาคู่กับการมองเห็นได้ทะลุและความร้อน นี่คือที่มาของการใส่ Facade ด้านนอกอีกชั้น ทำหน้าที่กรองแสงในช่วงกลางวันและยังรักษาความเป็นส่วนตัวให้ภายในจากพื้นที่ที่ติดถนนได้อีกระดับ ในขณะที่ยังรับแสง รับลม และมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้ไม่ขาดการเชื่อมต่อ แสงที่ส่องผ่านรูพรุนเล็ก ๆ นี้ยังสร้างมิติของแสงเงาที่สวยงามในแต่ละช่วงเวลาของวันด้วย

ห้องทำงานโถงสูง Double Space

ห้องนอนตกแต่งไฟซ่อน

ห้องน้ำตกแต่งกระจกและกรวดสีขาว

โทนสีที่ใช้ใน ST13 House นั้นโดดเด่นด้วยสีขาวทั่วทุกชั้น เพิ่มมิติทางสายตาด้วยการตกแต่งด้วยสีเทาและไม้เพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นแบบบ้าน เสริมทัพความงามทางสายตาด้วยไฟที่ใช้ภายใน ซึ่งเน้นไฟแสงสีเหลืองอ่อนที่ให้ความอบอุ่นและนุ่มนวล และไฟซ่อนที่ทำให้บ้านดูมีมิติน่าสนใจมากขึ้นในช่วงกลางคืน

ห้องน้ำตกแต่งกระจกและไฟซ่อน

 

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ฟาซาดหรือเปลือกนอกบ้าน ทำได้จากหลายวัสดุ แต่เนื่องจากเป็นโซนที่ใช้งานกลางแจ้งภายนอกที่ต้องเผชิญกับทั้งความร้อนจากแสงแดด และความชื้นจากฝน จึงต้องเลือกใช้วัสดุที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ไม่บิดงอเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ไม่เป็นสนิมได้ง่าย สถาปนิกส่วนหนึ่งเลือกใช้พลาสวูด แผ่นโพลีคาร์บอเนต วัสดุสังเคราะห์ลายไม้ หรือเลือกวัสดุอะลูมิเนียมแทนเหล็ก เพราะนำความร้อนได้ต่ำกว่าเหล็กและอะลูมิเนียมยังไม่เป็นสนิม ดังนั้นจึงมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า แต่ราคาก็สูงกว่าเช่นกัน

 

แปลนบ้าน

plan

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด