รีโนเวทบ้านแฝด
ถ้าต้องอยู่ในบ้านเก่าที่อับลมและขาดแสงต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี ผู้อ่านจะรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ถ้าเป็นผ้เขียนหากมีทางเลือกคงไม่ขออาศัยแน่ ๆ เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกอึดอัดแล้ว ในระยะยาวบ้านลักษณะนี้ยังไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย บ้านหลังนี้ในเวียดนามก็เช่นเดียวกัน โครงการนี้เป็นบ้านแฝดขนาดกว่า 130 ตร.ม. ในเมือง Rach Gia จังหวัด Kien Giang ประเทศเวียดนามที่สร้างมานาน แม้จะดูพื้นที่เยอะ แต่ก่อนปรับปรุงสถาปนิกพบว่าบ้านขาดแสงและการระบายอากาศไม่ดี ตามแบบฉบับของบ้านผนังติด ๆ กัน รวมทั้งการตกแต่งฟังก์ชั่นในบ้านก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบทางธรรมชาติ ทำให้เจ้าของบ้านตัดสินใจปรับปรุงใหม่
ออกแบบ : T-H-I-A-architecture
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
เปลี่ยนหน้ากากปรับอารมณ์บ้าน
จุดประสงค์หลักของการปรับปรุงครั้งนี้คือเพื่อให้สมาชิกทั้ง 5 คนจากสามรุ่นได้อยู่บ้านในบรรยากาศใหม่ ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกมีแสงและลมเข้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของพื้นที่ทั้งหมดด้านหน้าของบ้านจะคงไว้ 80% เพิ่มเฉพาะระบบช่องเปิดใหม่ที่เป็นบานระแนงสร้างปราการบังแดดสองชั้นในทิศทางตะวันตก การใช้แผ่นไม้จากด้านในสู่ด้านนอกยังทำให้เกิดความสม่ำเสมอในการออกแบบด้วย
บ้านก่อนการปรับปรุง: ภายนอกค่อนข้างปิดเพื่อบังแสงทางทิศตะวันตก ภายในถูกแบ่งออกเป็นส่วนเล็ก ๆ มีเพดานปิดกั้นระหว่างชั้นทำให้บ้านขาดแสงธรรมชาติ
บ้านหลังปรับปรุง:ฟาซาดที่เปลี่ยนจากซี่กรงเหล็กสีขาวมาเป็นระแนงไม้สีน้ำตาลเข้ม ทำให้บ้านมี “อารมณ์” มากขึ้นและสร้างเอฟเฟกต์แสงที่สวยงามให้กับพื้นที่ สร้างความสวยงามที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากบ้านหลังเดิม
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ผนังโปร่งสบายเห็นทะลุข้างใน
ด้วยข้อกำหนดในการรักษาโครงสร้างที่เป็นกรอบหลักของบ้านเอาไว้ สถาปนิกจึงเสนอวิธี “แบ่ง” พื้นที่ออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองส่วนที่ด้านหน้าและด้านหลังของบ้าน ส่วนภายในทุบรื้อผนังสร้างช่องว่างขนาดใหญ่ ประตูหน้าบ้านเป็นบานเปิดติดกระจก ทำหน้าที่เบลอขอบเขตรวมพื้นที่ภายนอกเข้ากับพื้นที่ใช้ชีวิตภายใน สำหรับชานระเบียงที่มีชายคาคลุมสามารถใช้เป็นที่รับแขกแบบเป็นกันเองและเป็นโซนพักผ่อนของเจ้าของบ้านได้ ความโปร่งใสของบ้านทำให้เมื่อมองเข้ามาภายในสามารถมองเห็นห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องอาหารได้หมด
ลบผนังเชื่อมพื้นที่ชั้นล่าง
ชั้นล่างจัดแปลนแบบ open plan ไม่มีผนังแบ่งกั้นห้อง รวมฟังก์ชันนั่งเล่น ทานอาหาร ครัวเรียงตามกันไปแบบไม่มีอะไรกั้น ทำให้บ้านลื่นไหลเข้าถึงกันได้ทุกจุด แสงกระจายได้ดีลมเดินทางสะดวก ส่วนที่ชวนให้มองคือเพดานที่กรุด้วยไม้ระแนง สร้างความรู้สึกความอบอุ่นและเติมบรรยากาศแบบพื้นถิ่น ทุกห้องยังได้รับวิวธรรมชาติดังนั้นบ้านจึงเต็มไปด้วยแสงสว่างและเย็นสบายอยู่เสมอ
เจาะเพดานต่อเชื่อมพื้นที่แนวตั้ง
ครัวโมเดิร์นเล็ก ๆ รูปตัว L ที่ใช้งานง่าย ๆ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยทำครัวหนักมาก ขยับออกมาเป็นโต๊ะทานอาหารขนาด 6-8 ที่นั่ง เหนือโต๊ะเจาะช่องว่างเชื่อมต่อพื้นที่แนวตั้ง Double Space เพิ่มความโปร่งและยังช่วยให้มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี สามารถดึงแสงธรรมชาติจากด้านบนลงมาเพิ่มความสว่างในบ้าน ลดข้อด้อยของบ้านจัดสรรที่ผนังติด ๆ กัน 2 ด้าน ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องแสงและการระบายอากาศ
บันไดเส้นสายโมเดิร์น
ข้าง ๆ ครัวมีจุดโฟกัสสายตาคือ บันไดโครงสร้างเหล็กตกแต่งด้วยไม้ เส้นสายโมเดิร์นสวยงาม ทีมออกแบบได้จัดสวนเล็ก ๆ เอาไว้ข้างใต้และข้าง ๆ ด้วยวิธีนี้ไม่เพียงแต่พื้นที่นั่งเล่นที่จะได้รับความสดชื่นจากธรรมชาติที่ถูกยกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน แต่ยังรวมถึงห้องนอนชั้นบนที่หันหน้าลงมาทางสวนด้วย พื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ นี้ยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบาย ส่งเสริมให้สมาชิกในบ้านช่วยกันดูแลสวน เป็นการใช้เวลาร่วมกันและเกาะเกี่ยวกันมากขึ้น
ชั้นสองเป็นที่จัดห้องนอนใหญ่สำหรับคู่สามีภรรยาและห้องนอนเด็ก ด้านหน้ามีสเปซที่ไม่ใช่แค่ที่พักผ่อนเท่านั้นยังทำหน้าที่เป็น “สะพาน” ที่เชื่อมระหว่างห้องนอนด้านหน้ากับห้องนอนด้านหลัง จึงเปิดรับแสงแดดลมและต้นไม้ได้เท่า ๆ กัน
ระแนงแฝงฟังก์ชันหลายจุดในบ้าน
ในห้องนอนตกแต่งไม้ทั้งเฟอร์นิเจอร์ พื้น ผนัง รวมไปถึงฉาก ที่ใช้ไม้ในรูปแบบที่ต่างกันไปตามฟังก์ชันการใช้งาน จุดที่สะดุดตาคือ ผนังไม้ระแนงบริเวณผนังข้างเตียงที่ทำหน้าที่เป็นฟาซาดปกป้องสายตาจากบุคคลภายนอก และยังช่วยในการกั้นกรองแสง ในขณะที่บ้านยังได้รับความสว่างอย่างพอดี มีช่องว่างอนุญาตให้ลมไหลเข้ามาระบายอากาศภายใน แม้ว่าผนังภายนอกจะเป็นระแนงโปร่ง ๆ แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องฝุ่นควัน เพราะด้านในยังมีผนังกระจกบานเลื่อนอีกชั้น ทำให้การใช้งานค่อนข้างยืดหยุ่น
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านแฝดหรือทาวน์เฮาส์ที่สูงสองชั้นจะมีข้อจำกัดที่คล้าย ๆ กันอยู่ คือ ผนังที่ถูกขนาบติดกันทั้งสองด้าน (ยกเว้นหลังมุมสุด) ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเปิดช่องแสงและช่องลมจากด้านข้างได้ จะเปิดได้มากที่สุดคือด้านหน้าและด้านหลัง ผลที่ตามมาคือ แสงลอดส่องเข้ามาไม่ถึงช่วงกลางบ้าน บ้านจึงไม่มีแสงธรรมชาติเพียงพอ ประกอบกับช่องเปิดมีน้อยบ้าน เพดานปิดทึบกั้นระหว่างชั้นล่างและชั้นบน จึงค่อนข้างมืดและอับ วิธีการที่สถาปนิกใช้แก้ปัญหา เช่น การเจาะเพดานออกส่วนหนึ่งเชื่อมต่อพื้นที่แนวตั้ง แล้วใส่ skylight รับแสงจากด้านบนเข้ามาช่วงกลางอาคาร จะช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นและระบายออกได้ดี แถมยังมีแสงใช้งานที่เพียงพอด้วย |
แปลนบ้าน