เมนู

บ้านไม้ชายคายาวผสม ฟังก์ชันแบบญี่ปุ่นที่ไม่เก่าไม่เชย

บ้านหลังคาเพิงหมาแหงน

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น

ถ้าพูดถึงลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์บนโลกใบนี้ ต้องมีชื่อของประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้วยแน่ๆ นั่นอาจจะเป็นเพราะการยึดมั่นที่จะใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ ฟังก์ชันที่เน้นความเรียบง่าย กว้าง โล่ง รับแสงและลมได้ดี ในขณะที่ประตู Fusuma (บานเลื่อน) สามารถปิดเป็นส่วนตัวและเปิดเชื่อมต่อพื้นที่ได้ เป็นวิธีการใช้งานที่เลือกได้ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย คล้ายกับการจัดแปลนบ้าน open plan หรือบ้านประตูบานเลื่อนกระจกในปัจจุบัน แต่ที่นี่มีมาแล้วนับร้อยปีและยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะเจาะในบ้านยุคใหม่ ใครที่นึกภาพไม่ออก “บ้านไอเดีย” จะพาไปชมกันในบ้านหลังนี้ครับ

ออกแบบ :  Archipatch
ภาพถ่าย : Yousuke Harigane
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านไม้หลังคาใหญ่สไตล์โมเดิร์น

สตูดิโอสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น Archipatch ได้ออกแบบบ้านชื่อโปรเจ็ค Tsumugu อยู่ในเมืองชายทะเล Kagoshima  เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้สร้างบ้านที่ต้องการใช้ไม้สร้างเป็นวัสดุหลัก ประกอบกับวัสดุอื่นๆ และการผสมผสานการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพลังงานธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญ ภาพรวมภายนอกและภายในของบ้านจึงยังคงได้กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ในบ้านเส้นสายเรียบๆ ทันสมัย ส่วนที่โดดเด่นท้าทายสายตาอยู่ที่หลังคาไม้ขนาดใหญ่ยื่นยาวออกไป ทำหน้าที่ปกป้องบ้านจากแสงแดดและสายฝน แม้จะเป็นกระจกสูงจากพื้นถึงเพดานก็ไม่ร้อนอย่างที่คิด

คอร์ทเชื่อมต่อกับบ้าน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านผนังกระจกมองเห็นสวน

จากทางเดินหินขัดที่ไล่สเต็ปเข้ามาสู่ประตูบ้าน เปิดเข้ามาจะพบว่าเฉลียงและห้องนั่งเล่นเชื่อมต่อกันด้วยช่องเปิดขนาดใหญ่ ภายในมีพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์จากวัสดุธรรมชาติ ต้อนรับการมาถึงด้วยความรู้สึกสงบจากสีของไม้ซีดาร์ ไซปรัสที่ปลูกในภูมิภาคนี้ และหินธรรมชาติ เพื่อให้สัมผัสถึงพื้นผิวที่มีเพียงวัสดุธรรมชาติเท่านั้นที่สามารถให้ได้

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่นมี skylight

ตัวบ้านประกอบด้วยสามปริมาตรที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งมีความโดดเด่นภายนอกและภายใน ด้วยความสูงของหลังคาที่แตกต่างกัน 3 ระดับ แม้ภายนอกจะรับรู้ได้ถึงความเรียบ ง่าย สื่อถึงความทันสมัย แต่ภายในกลับอบอวลด้วยบรรยากาศผสมผสานความเป็นญี่ปุ่น ตั้งแต่บานประตูโชจิที่แยกห้องนั่งเล่นปูเสื่อทาทามิสไตล์ญี่ปุ่นออกจากส่วนอื่นๆ  สามารถใช้เป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับรองแขกแบบเรียบง่าย หรือเป็นพื้นที่สำหรับทำงานบ้านได้ จะต่างกับบ้านแบบโบราณตรงที่ ห้องนี้มีช่องแสง skylight รับแสงสว่างเข้าสู่ตัวบ้านพร้อมวิวก้อนเมฆในตอนกลางวัน และมองเห็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับในตอนกลางคืน

ครัวและห้องทานอาหารมองเห็นภูมิทัศน์สวน

“บ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อกับธรรมชาติ และเพื่อให้ชีวิตที่สะดวกสบายสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” คำกล่าวของสถาปนิกเป็นที่มาของเหตุผลที่ว่า ทำไมมองไปทางไหนก็มีงานไม้ ผนังและพื้นกระเบื้องหินขัด โคมไฟกระดาษ และผนังบ้านที่แทรกด้วยกระจกตามจุดต่างๆ ทำให้สมาชิกในบ้านสังเกตเห็นแสง สวน ท้องฟ้า ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของวัน ไม่ว่าจะอยู่ในครัว ห้องทานข้าว ห้องนั่งเล่น  พร้อมกับเปิดรับลมให้เข้ามาวิ่งเล่นในบ้านอย่างเต็มที่

มุมนั่งเล่นต่างระดับ

ลูกเล่นบ้านต่างระดับ

เนื่องจากช่วงที่ออกแบบและก่อสร้างบ้านนี้อยู่ในช่วงโรคระบาด สถาปนิกจึงเพิ่มฟังก์ชันของบ้านเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จึงเตรียมพื้นที่ที่โปร่ง โล่ง ยืดหยุ่น ใช้งานได้หลากหลาย เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถทำงานและสังสรรค์ที่บ้านได้ และยังใส่ลูกเล่นความต่างระดับในบ้าน โดยจัดให้พื้นที่นั่งเล่นต่ำลงไปเหมือนอยู่ในหลุมก็ดูอบอุ่นดี

ห้องน้ำที่เชื่อมต่อสวน

ห้องน้ำหลังห้องครัวมีประตูกระจกที่ผนังด้านหลัง ซึ่งเปิดได้เพื่อเชื่อมต่อกับสวนและให้ระบายอากาศผ่านภายในบ้านได้ บ้านได้รับการออกแบบให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด และการระบายอากาศตามธรรมชาติที่เอื้อต่อประสิทธิภาพการใช้งานที่ยั่งยืน

ห้องนอนเตียงเตี้ยๆ แบบ floor bed

ตกแต่งไฟซ่อนฝ้าในห้องอาบน้ำ

ตอนกลางวันบ้านใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลักในการสร้างความสว่างภายใน โดยผ่านเข้ามาทางช่องเปิดและช่องแสง บ้านที่มีแสงเพียงพอจะรู้สึกได้ถึงความมีชีวิตชีวา ไม่อับ ไม่ทึบ ส่วนกลางคืนจะใช้ลูกเล่นของแสงสร้างบรรยากาศ เช่น ไฟซ่อนตามจุดต่าง ๆ ที่ให้แสงนวลดูสบายตา

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : วัสดุธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้น การบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะวัสดุไม้ที่จะเปื่อย ผุ พัง ได้ง่ายหากได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม แสงแดด ลม ฝน ไม้บางชนิดยังถูกปลวกมอดกัดกินเซลลูโลสจนทำให้บ้านเสียหายทั้งหลังได้ การนำไม้มาใช้งานภายนอก (หรือแม้กระทั่งภายใน) จึงควรผ่านกระบวนการอบแห้ง เคลือบน้ำยาต่างๆ  ป้องกันรักษาเนื้อไม้ หรือเลือกใช้ชนิดของไม้ที่ทนทานสภาพอากาศ ปลวกมอดไม่กิน เช่น ไม้สัก ไม้ซีดาร์ ไม้ฮิโนกิ ไม้สนไซปรัส เป็นต้น

 

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด