เมนู

คืนชีพบ้านโบราณ หลังคาเป็นคลื่นพริ้วล้อทิวเขาและริ้วเมฆ

บ้านจีนโบราณ

รีโนเวทบ้านโบราณเป็นเกสต์เฮาส์

เสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ส่องฉายออกมาในแต่ละองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ทำให้หลาย ๆ ประเทศคงอาคารแบบดั้งเดิมเอาไว้ แล้วเลือกที่จะปรับปรุงตกแต่งองค์ประกอบใหม่ ๆ ใส่เข้าไปอย่างกลมกลืน สตูดิโอ WEI Architects ในกรุงปักกิ่งก็ได้ปรับปรุงอาคารร้างในมณฑลฝูเจี้ยนที่ห่างไกลของจีน ให้เป็นบ้านพักที่สวยงามโดยใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม สถาปนิกสร้างชีวิตใหม่ให้กับที่นี่ โดยติดตั้งวัสดุเหลือใช้ และสร้างชุดหลังคาที่เลียนแบบเค้าโครงของภูมิประเทศที่เป็นภูเขา จุดมุ่งหมายเพื่อคงคุณค่าทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่และพยายามฟื้นฟูหมู่บ้านต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ได้ถูกนำเสนอในรายการทีวีระดับประเทศมีผู้คนให้ความสนใอย่างล้นหลาม

ออกแบบ :  WEI architects/ ELEVATION WORKSHOP
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ปรับปรุงบ้านสไตล์จีนโบราณ

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่

Springstream House เป็นโครงการปรับปรุงบ้านร้างที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Chixi ตั้งอยู่ในหุบเขาชนบทในฝูเจี้ยน ประเทศจีน โครงสร้างที่มีอยู่เป็นบ้านเก่าที่ถูกทิ้งร้างมานานหลายปี สถาปนิกจึงทำงานอย่างระมัดระวังเพื่อให้บ้านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในขณะที่ยังคงรักษาโครงสร้างที่มีอยู่ให้มากที่สุด แผงไม้เก่าของบ้านและวัสดุต่างๆ ถูกนำมาใช้ในโครงสร้างใหม่ ในขณะที่ฐานหินและวัสดุอื่นๆ มาจากแหล่งในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังใช้แรงงานท้องถิ่นในการฟื้นฟูอาคารเก่าด้วยวิธีการดั้งเดิม เช่น โครงสร้างแบบร่องและเดือย และกรอบประตูหน้าต่างที่เป็นเอกลักษณ์

ปรับปรุงบ้านสไตล์จีนโบราณ

แนวคิดการออกแบบ คือ  “คำนึงถึงภูมิทัศน์เป็นอันดับแรก” แนวทางของโครงการทั้งหมดจึงเน้นการหมุนเวียนของผู้คนและสายตาที่มีความสัมพันธ์ของภูเขาระยะไกล ภูมิทัศน์ระยะสั้น และสถาปัตยกรรม ตัวบ้านตั้งอยู่ริมลำธารที่ตัดผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขา สถาปนิกจึงนำแรงบันดาลใจจากทิวทัศน์ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใส่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เช่น หลังคากันสาดโครงสร้างไม้ไผ่มุงกระเบื้องแบบโบราณแต่ออกแบบให้มีความโค้งเหมือนลูกคลื่น คล้ายกับทิวทัศน์ภูเขาที่โค้งซ้อนกันอยู่เป็นฉากหลัง วัสดุหลักทำจากไม้และหินในท้องถิ่น ระหว่างอาคารปูเส้นทางเดินแบบชนบทที่เชื่อมระหว่างโครงสร้างทั้งสองด้วยแผ่นหินให้ความเป็นธรรมชาติ

บ้านโครงสร้างไม้

หลังการปรับปรุงใหม่ บ้านไม้ 2 ชั้นเดิมที่พังยับเยินและมีคอกแกะอยู่ด้านข้าง กลายเป็นเกสต์เฮาส์หลังใหม่ขนาดกว้าง 275 ตร.ม. อาคารที่สร้างเสร็จแล้วจะทำหน้าที่เป็นที่พักพร้อมอาหารเช้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ดังนั้นการออกแบบภายในจึงต้องผสมผสานประเพณีกับความสะดวกสบายที่ทันสมัยสำหรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนด้วย

หลังคาโครงสร้างไม้ไผ่โค้งๆ

มุมนั่งเล่นทานข้าวนอกบ้าน

กำแพงอิฐสองชั้นทางด้านตะวันออกได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้มีความสูงและรูปร่างเท่าเดิม ผู้มาเยือนจะได้รับบรรยากาศแบบเดิม ๆ ที่ผ่านการอยู่อาศัยจริงในอดีต แม้จะซึมซับในขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เกสต์เฮาส์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ก็มีสัมผัสที่ทันสมัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะการจัดการแปลนและฟังก์ชันให้ครบพร้อมบริการ อาทิ พื้นที่เลานจ์นั่งเล่นสบาย ๆ แล้วต่อด้วยเฉลียงกลางแจ้งที่มีหลังคาคลุมทำหน้าที่เป็นห้องชงชา

ครัวปรับปรุงใหม่ในบ้านจีนโบราณ

มุมนั่งเล่นปรับปรุงใหม่ในบ้านจีนโบราณ

เมื่อก้าวเข้าไปในตัวบ้าน จะสัมผัสกับพื้นคอนกรีตอัดรีดที่มีเส้นทองเหลืองโค้ง ๆ ฝังอยู่ นำสายตาผู้คนจากทางเข้าไปสู่ห้องครัวและห้องน้ำชาทางด้านขวา ตรงกันข้ามครัวแบบเปิดเป็นห้องนั่งเล่น การจัดวางภายในเป็นไปตามประเพณีท้องถิ่นที่ เตาไฟถือเป็น “หัวใจ” ของบ้าน ดังนั้นสถาปนิกจึงตัดสินใจรักษาแนวคิดเดิมโดยมีครัวไฟในบ้าน โดยสร้างใหม่ตามวิธีการดั้งเดิมของท้องถิ่น ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของห้องครัวจะติดตั้งเครื่องใช้ที่ทันสมัย ​​เช่น เตาแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องดูดควัน และเตาอบเอาไว้ให้ใช้งานได้เหมือนอยู่บ้าน

มุมนั่งเล่นปรับปรุงใหม่ในบ้านจีนโบราณปรับปรุงบ้านจีนโบราณ

ในมุมนั่งเล่นก่อนถึงบันไดขึ้นชั้นสองเป็นโถงสูง มีหน้าต่างรอบด้านเหมือนส่วนอื่น ๆ ของบ้านที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางลมตามฤดูกาลในท้องถิ่น และยังช่วยเพิ่มแสงภายในลดความชื้นในบ้านได้ดี ผนังโชว์อิฐเปลือยที่ถูกกระเทาะให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุข้างใน เสาไม้ ช่องแสง และเฟอร์นิเจอร์แบบดั้งเดิมยังคงเก็บไว้ในบางส่วนที่ไม่เสียหายมาก เป็นการแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์ของบ้านอีกด้วย

รีโนเวทห้องนอนในบ้านจีนโบราณ

ชั้นสองของโครงสร้างประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้องซึ่งมีหน้าต่างบานใหญ่พร้อมแผงบานไม้ที่เคลื่อนย้ายได้ ทำให้สามารถการระบายอากาศตามธรรมชาติได้ดีและรับทิวทัศน์ที่สวยงามตระการตาได้เต็มที่

ห้องนอนประตูบานเฟี้ยม

ปรับปรุงบ้านจีนโบราณ

ห้องนั่งเล่นพักผ่อนอ่านหนังสือ ชมวิว ที่แอบเห็นช่องแสง Skylight ใหม่ ๆ แนบเนียนอยู่ข้างโครงหลังคาไม้เก่าที่เต็มไปด้วยร่องรอยของกาลเวลา

ปรับปรุงบ้านจีนโบราณ

หลังคากันสาดโค้งเหมือนคลื่น

ภาพรวมของบ้านโครงสร้างไม้ใส่ส่วนโค้งธรรมชาติกลายเป็นจุดเด่นของการออกแบบตลอดทั้งโครงการ เป็นการใช้หลังคาลาดเอียงแบบดั้งเดิมในจีนตอนใต้มาประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ เส้นโค้งของหลังคาเหล่านี้ถูกรวมเข้ากับสวนชาที่อยู่ใกล้เคียง ภูเขาที่ห่างไกล และเมฆที่ลอยอยู่ระหว่างยอดเขาดูงดงามราวกับสวรรค์

 

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สถาปัตยกรรมโบราณ ที่ถูกนำมาปรับปรุงเป็นสถานที่พักตากอากาศ ให้ผู้เข้าพักเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไปด้วยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้แต่ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์ของงานก่อสร้างต่างกันทั้งเทคนิควิธีการก่อสร้าง วัสดุท้องถิ่นที่ใช้ การตกแต่ง ซึ่งนอกจากต้องให้สถาปนิกหรือวิศกรผู้มีความเชี่ยวชาญเข้ามาประเมินคุณภาพโครงสร้างอย่างรอบคอบว่ามีจุดใดที่ต้องซ่อมแซมหรือแก้ไขเพิ่มเติม ยังควรทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้น ๆ ด้วย เพื่อไม่ให้การปรับปรุงไปลดทอนคุณค่าเดิมลงอย่างน่าเสียดาย

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด