เตรียมบ้านอยู่อาศัยวัยเกษียณ
บ้านแบบไหนที่ผู้อ่านให้ความสนใจมากที่สุด จากการสังเกตของผู้เขียนที่ผ่าน ๆ มา เมื่อนำแบบบ้านวัยเกษียณมาให้ชม จะได้รับการตอบกลับมากเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแค่การเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงวันเกษียณ หลายท่านชมเพื่อวางแผนไว้เป็นบ้านของพ่อแม่ที่อายุมากขึ้นทุก ๆ วัน และแน่นอนว่า “บ้านวัยเกษียณ” ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ตามไลฟ์สไตล์และบริบทความเหมาะสม บางท่านอยากใช้ชีวิตวัยเกษียณนอกเมือง ในขณะที่บางคนอยากใช้ชีวิตหลังเกษียณในเมือง
บทความนี้ “บ้านไอเดีย” นำจุดสำคัญในการเตรียมบ้านวัยเกษียณสไตล์คนเมือง มาให้ได้อ่านกัน โดยทั้ง 15 ข้อนี้สถาปนิกจากเพจปันแปลน ได้ทำการรวมรวบจากประสบการณ์ออกแบบบ้านวัยเกษียณให้กับเจ้าของบ้านหลาย ๆ หลัง สรุปมาให้ 15 สิ่งสำคัญสำหรับบ้านวัยเกษียณครับ
ติดตามผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
สนับสนุนโดย : ปันแปลน
คำบอกเล่าจากสถาปนิก เมื่อเอ่ยถึง “บ้านวัยเกษียณ” เรามักจินตนาการไปถึงบ้านชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ ที่มีทางลาดสำหรับรถเข็น อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบทห่างไกลตัวเมืองหรือบ้านสวนที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ แต่ความจริงบ้านวัยเกษียณของแต่ละคน “ย่อมแตกต่างกัน” บางท่านชอบอยู่ชนในบท ในขณะที่บางท่านชอบวิถีชีวิตในเมือง บางท่านชอบพื้นที่เยอะ ๆ แต่บางท่านชอบพื้นที่เล็ก ๆ ดูแลง่าย บางท่านชอบความสันโดษอยู่อาศัยบ้านหลังเล็ก ในขณะที่บางท่านมีเพื่อนมาเยี่ยมบ่อย มีลูกหลานมาอยู่ร่วมเยอะ บ้านย่อมต้องใหญ่ตาม
.
“ตัวอย่างล่าสุดปันแปลนออกแบบบ้านวัยเกษียณให้เจ้าของบ้านอายุกว่า 70 ปีแล้ว แต่ต้องการได้บ้าน 2 ชั้น สร้างไว้บนที่ดินแปลงเล็ก ๆ ในตัวเมืองระยอง เหตุผลที่เลือกที่ดินแปลงเล็ก เนื่องด้วยบ้านเดิมปัจจุบันที่ กทม. บริเวณบ้านมีที่ดินกว้างเป็นไร่ซึ่งเจอปัญหาการดูแลที่ยาก เมื่อต้องออกแบบบ้านวัยเกษียณจึงพบคำตอบว่า ที่ดินแปลงเล็ก ๆ น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์มากกว่า ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบไปกับการซื้อที่ดินผืนใหญ่ ไม่ต้องเหนื่อยกับการดูแลมากและเลือกที่จะนำงบประมาณมาเต็มที่กับการสร้างบ้านให้อยู่สบายแทน” บทความนี้จึงนำข้อมูลการออกแบบบ้าน เพื่อให้ท่านที่กำลังเตรียมบ้านในวัยเกษียณได้ทราบจุดสำคัญต่าง ๆ ของบ้านกันครับ”
1. ทำเลที่ตั้งของบ้านวัยเกษียณ
บ้านวัยเกษียณที่ดีไม่ควรอยู่ห่างไกลเมืองมากเกินไป เพราะหากห่างไกลเมือง ไกลความเจริญ เมื่อจำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยหรือมีธุระจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลหรือหมอนัดตรวจอาการบ่อย ๆ จะส่งผลถึงความสะดวกสบายด้านการเดินทาง แม้ผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงขับรถเองได้ หากการขับขี่นั้นไกลเกินไปก็ย่อมส่งผลถึงความเหนื่อยล้าได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว การหาที่อยู่ห่างเมืองไม่เกิน 30 กิโลเมตร จึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัวกว่า หรือหากงบประมาณการซื้อที่ดินมีมาก ปัจจุบันมีโครงการจัดสรรแบ่งขายที่ดินหลายแห่งได้สร้างบรรยากาศธรรมชาติไว้ภายในหมู่บ้าน มีต้นไม้ ทะเลสาบ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครันไว้ให้ บางหมู่บ้านแม้จะอยู่ใจกลางเมืองแต่หลังจากขับรถเข้าไปแล้วเราจะลืมความเป็นเมืองได้โดยทันที กรณีเลือกอยู่อาศัยชนบทไกลเมือง จึงเหมาะกับผู้มีที่ดินเดิม มีญาติที่ช่วยเหลือกันมากกว่าการไปหาซื้อที่ดินใหม่เพื่อสร้างบ้านวัยเกษียณ
2. ผังบ้านไม่ควรอยู่ใกล้ถนนมากเกินไป
บ้านที่ใกล้หรือติดถนนเกินไป จะได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวนและมลพิษจากฝุ่นควันรถมาก ซึ่งผู้สูงวัยเป็นวัยที่ต้องอยู่บ้านตลอดทั้งวัน การสร้างบรรยากาศให้เงียบสงบย่อมเอื้อต่อการพักอาศัยที่ดีกว่า โดยระยะร่นที่เหมาะสมควรให้ตัวบ้านห่างจากถนนอย่างประมาณ 8 เมตรขึ้นไป และควรมีต้นไม้สูงใหญ่คอยกักฝุ่นกันเสียงไว้อีกชั้น ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศให้ร่มเย็นอีกด้วยครับ
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของบ้านแต่ละหลังย่อมแตกต่างกัน บางท่านมีที่ดินในเมืองพื้นที่ไม่ถึง 100 ตร.ว. หากต้องเว้นระยะร่นมากเป็นพิเศษก็อาจจะเหลือพื้นที่ใช้สอยของบ้านลดน้อยลงไปมาก หากเป็นเช่นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางผังห้องที่อยู่ประจำให้เหมาะสม อย่างห้องนั่งเล่น ห้องนอน ควรเลือกโซนด้านในเพื่อให้ห้องอื่น ๆ ด้านหน้าช่วยกันเสียงกันฝุ่นให้อีกชั้น ส่วนสวนสามารถจัดวางผังย้ายมาอยู่หลังบ้านหรือออกแบบลักษณะคอร์ทสวน นับเป็นตัวเลือกบ้านสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงได้ดีครับ
3. ทางลาดจำเป็นไหม กับบ้านวัยเกษียณ
เมื่อเอ่ยถึงบ้านสำหรับผู้สูงวัยคนส่วนใหญ่มักคิดถึง “ทางลาด” ความจริงแล้วทางลาดอาจไม่จำเป็นเสมอไปครับ เพราะหากบ้านหลังดังกล่าวออกแบบให้พื้นบ้านกับพื้นดินแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยทางลาดก็อาจไม่จำเป็น
สำหรับบ้านสร้างใหม่ควรวางแผนออกแบบให้เหมาะสมตั้งแต่ทางเข้า โดยทางเดินภายในสวนจะต้องไม่มีทางต่างระดับมากเกินไป แต่หากจำเป็นต้องออกแบบพื้นบ้านสูงกว่าระดับพื้นดินมาก ให้ออกแบบพื้นที่สำหรับทำลาดเผื่อไว้ตั้งแต่ต้น โดยปกติการวางผังของ Punplan กรณีจำเป็นต้องใช้รถเข็นจะออกแบบทางลาดไว้ให้เลยครับ แต่หากยังไม่จำเป็นก็จะเว้นพื้นที่เผื่อไว้ให้ วันใด วันหนึ่ง ร่างกายจำเป็นต้องใช้รถเข็น เจ้าของบ้านสามารถต่อเติมเพิ่มใหม่ได้อย่างลงตัว
4. ออกแบบทางลาดให้บ้านเกษียณ
ทางลาดตามกฎหมายกำหนดจะต้องมีความลาดชันอย่างน้อยไม่เกิน 1:12 ตัวอย่างเช่น หากพื้นบ้านสูงกว่าพื้นดิน 1 เมตร ทางลาดจะต้องยาว 12 เมตร ซึ่งการทำทางลาดยาว 12 เมตรเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก จำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมลงตัว ไม่ดูกีดขวางหรือเทอะทะบริเวณหน้าบ้าน การออกแบบพื้นที่เผื่อไว้ตั้งแต่ต้นจึงช่วยให้เกิดความเหมาะสมด้านพื้นที่และดีไซน์ครับ
5. เว้นพื้นที่ไว้เพื่อลิฟท์
นอกจากทางลาดแล้ว ผู้สูงวัยบางท่านชอบอยู่อาศัยชั้นบนมากกว่าชั้นล่าง การออกแบบบ้านจึงควรมีพื้นที่ของโถงลิฟท์รองรับไว้ด้วย ปัจจุบันลิฟท์สำหรับใช้ภายในบ้านราคาเข้าถึงได้ไม่ยากแล้วครับ จุดสำคัญคือเรื่องพื้นที่ หากมีเป้าหมายที่จะติดตั้งลิฟท์ ควรออกแบบให้มีพื้นที่ว่างประมาณ 1.5×1.5 เมตร เพื่อใช้เป็นโถงลิฟท์ในอนาคตครับ
6. ความกว้างของประตู
ประตูบ้านและประตูห้องต่าง ๆ ควรมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร ซึ่งจะรองรับกับขนาดของรถเข็นได้และหากให้ดีบางห้องที่ใช้บ่อยอาจเลือกใช้ฟังก์ชันประตูบานเลื่อนจะช่วยอำนวยความสะดวกกรณีใช้รถเข็นและลดพื้นที่การใช้งานได้มากขึ้นครับ โดยวัสดุประตูควรเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา อุปกรณ์ฟิตติ้งเป็นสิ่งสำคัญมาก จำเป็นต้องเลือกวัสดุเกรดคุณภาพดี เพื่อการใช้งานที่ลื่นไหลปลอดภัยในระยะยาว
7. ความสูงของหน้าต่าง
ระดับความสูงของหน้าต่าง ไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร ซึ่งจะอยู่ในระดับสายตาขณะนั่งบนรถเข็นหรือนั่งบนเก้าอี้พักผ่อนครับ ผู้อยู่อาศัยจะสามารถมองเห็นวิวสวนได้ขณะนั่งบนรถเข็น หากสามารถออกแบบให้มองเห็นพื้นที่ภายนอก พื้นที่สวนได้ชัดเจน จะส่งผลให้การอยู่อาศัยภายในบ้านไม่รู้สึกหดหู่ใจหรือน่าเบื่อมากเกินไป พื้นที่สีเขียวจะช่วยเติมชีวิตชีวาและพลังชีวิตได้เป็นอย่างดี
8. ทิศไหนเหมาะกับห้องนอนและห้องนั่งเล่น
ตำแหน่งห้องนอนและห้องนั่งเล่น ควรอยู่ฝั่งทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ เพื่อให้การอยู่อาศัยช่วงกลางวันได้รับผลกระทบกับแสงอาทิตย์น้อยลง อย่างไรก็ตามการวางตำแหน่งห้องนอนทิศตะวันตกหรือทิศใต้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป ทั้งยังมีข้อดีด้านการรับลมธรรมชาติอีกด้วยครับ โดยปกติผู้สูงวัยจะมีความรู้สึกหนาวเย็นมากกว่าวัยอื่น ๆ ห้องที่อบอุ่นได้รับแสงธรรมชาติ ได้รับลมย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพียงแค่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับทิศนั้น ๆ เพื่อให้ได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสมไม่ร้อนจนเกินไป
9. เกษียณปลอดภัย ด้วยพื้นบ้านกันกระแทกได้
พื้นห้องนอนและห้องที่ใช้พักผ่อนบ่อย ๆ ควรใช้พื้นที่มีผิวสัมผัสนุ่มนวล หรือหากเป็นพื้นลามิเนตแบบกันกระแทกได้ยิ่งดีครับ พื้นลักษณะนี้จะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการหกล้มได้ดี เนื่องด้วยกระดูกของผู้สูงวัยจะมีความเปราะบางกว่ากระดูกของวัยหนุ่มสาว หากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ แม้จะเป็นเพียงการหกล้มเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นพิการได้เลย จึงควรป้องกันไว้ก่อนเกิดเหตุ
10. ขนาดห้องนอนที่เหมาะกับวัยเกษียณ
ขนาดห้องนอนควรมีความกว้างอย่างน้อย 4 เมตร เพื่อให้ข้างเตียงนอนด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านมีพื้นที่ว่างรองรับรถเข็นได้ ระยะลึกจากผนังหัวเตียงไปสู่ผนังชั้นวางทีวีควรมีความลึก 4-4.5 เมตร เพื่อให้ห้องดูโปร่งและสามารถทำกิจกรรมเบา ๆ อย่างการยืดเส้นยืดสายหลังจากตื่นนอนได้อย่างสะดวก ผนังหัวเตียงควรเป็นผนังทึบ มีเต้าเสียบปลั๊กไฟรองรับการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมกับติดตั้งไฟอัตโนมัติจับความเคลื่อนไหวบริเวณพื้นห้อง ข้างเตียงนอน เพื่ออำนวยความสะดวกในยามค่ำคืน
11. กล้องวรจรปิดควรมี
กรณีภายในบ้านมีผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ควรมีกล้องวงจรปิดแบบ IP Camera ที่สามารถดูออนไลน์ได้ติดไว้ในห้อง เพื่อให้ผู้ดูแลหรือสมาชิกภายในบ้าน สามารถช่วยกันสอดส่องและดูอาการขณะที่ท่านกำลังพักผ่อน ประตูห้องต่าง ๆ ควรเลือกใช้ระบบล็อคที่สามารถเปิดได้สองทางหรือแบบกลอนสับ ผู้อยู่ภายนอกจะสามารถช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที
12. ห้องน้ำต้องรับแสง
ตำแหน่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าห้องนอน คือ ห้องน้ำ ผู้สูงวัยจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำบ่อยครั้ง ห้องน้ำที่ดีควรอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดเยอะเป็นพิเศษ เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรคและช่วยขจัดความชื้นสะสม โดยทิศที่ได้รับแสงแดดดีคือทิศตะวันตกและทิศใต้ มุ่งเน้นออกแบบให้มีช่องเปิดเยอะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะห้องน้ำสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้ลำบาก อาจทำความสะอาดห้องได้ไม่สะอาดพอ การมีช่องเปิดมาก ๆ จะช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ดีครับ
13. เว้นพื้นที่ห้องน้ำให้รองรับวีลแชร์
ห้องน้ำแม้ปัจจุบันจะยังไม่จำเป็นต้องใช้ฟังก์ชันเพื่อผู้สูงอายุ แต่จุดไหนที่ปรับแก้ได้ยากอย่างพื้นที่ความกว้างที่รองรับการหมุนตัวของรถเข็น หรือรองรับกรณีมีพยาบาลผู้ช่วย จึงควรออกแบบให้มีพื้นที่ว่างประมาณ 1.5 เมตร เพื่อให้รถเข็นหมุนตัวกลับได้ ส่วนอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น ราวจับ ราวยึด เก้าอี้อาบน้ำ เป็นอุปกรณ์เสริมที่ติดตั้งภายหลังได้ และไม่เพียงแค่ภายในห้องน้ำเท่านั้น หากต้องการออกแบบพื้นที่ใด ๆ ภายในบ้านให้รองรับการหมุนตัวของรถวีลแชร์ ให้เว้นพื้นที่ว่างไว้ 1.5 เมตรเสมอครับ
14. ควบคุมคุณภาพอากาศภายใน
ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ผลิตมาเพื่อรองรับการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นมากครับ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงวัยมีให้เลือกอย่างครบครัน และหากงบประมาณไม่จำกัด แนะนำให้เสริมระบบที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดี อย่างระบบการหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน ที่ช่วยกันฝุ่น PM2.5 กันเสียง ในขณะเดียวกันผู้อยู่อาศัยได้รับลมธรรมชาติที่บริสุทธิ์โดยไม่ต้องเปิดหน้าต่างเลย
15. บ้านวัยเกษียณที่ดี ต้องอยู่สบาย
จุดสำคัญที่สุดคือ “สภาวะอยู่สบาย” ทั้งสบายกายและสบายใจ ความสบายกายเกิดขึ้นได้จากองค์ประกอบที่แปรผันไปตามความชื้น อุณหภูมิห้อง ลม และการระบายอากาศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบให้ทุกองค์ประกอบสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ส่วนความสบายใจในด้านการออกแบบสามารถจัดสรรพื้นที่ให้เอื้อต่อจิตใจที่เบิกบานได้ เช่น เมื่อเดินไปจุดนี้ผู้อยู่อาศัยจะพบเจออะไร เมื่อนั่งมุมนี้เจอต้นไม้ที่เขียวขจี องค์ประกอบทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน ก่อให้เกิดสภาวะอยู่สบาย
แนวทางการออกแบบบ้านวัยเกษียณทั้ง 15 ข้อ ไม่เพียงแค่นำไปใช้ในการออกแบบบ้านใหม่ บางข้อยังสามารถนำไปใช้กับบ้านที่อยู่ในปัจจุบันได้เช่นกันครับ เพื่อให้รองรับกับสรีระร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา และนอกจากจะเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัยแล้ว อย่าลืมเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจด้วยนะครับ ออกกำลังกายอย่างเสมอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และปล่อยวางภาระทางใจ เพื่อให้ชีวิตในบั้นปลายมีคุณภาพที่ดีที่สุดครับ
ปันแปลน รับออกแบบบ้านตามโจทย์ความต้องการ
บ้านคุณแอน ประจวบ สร้างรองรับวัยเกษียณ
แบบบ้านหน้าแคบ ฟังก์ชัน Double Space เชียงใหม่
บ้านคุณฝน ดอนเมือง ออกแบบในพื้นที่ขนาดเล็ก
ปรึกษางานออกแบบบ้านได้ที่ : facebook.com/punplan | Line ID : @Punplan http://www.tb-credit.ru/zaimy-na-kartu.html