เมนู

บ้านสาบ (กลิ่นอาย) เมือง ความโมเดิร์นที่ซ่อนแทรกวิถีพื้นถิ่น

บ้านสาบเมือง ณ เชียงใหม่

บ้านโมเดิร์น ผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น

เชียงใหม่ เป็นเมืองที่เจ้าบ้านจะทักทายผู้มาเยือนด้วยการอู้กำเมืองม่วน ๆ หรือพูดภาษากลางที่อาจติดความ “สาบเมือง” เล็ก ๆ ดูน่ารักเป็นเอกลักษณ์ ไม่เฉพาะคนเมืองหรือภาษาเมืองเท่านั้นที่ชวนให้หลงเสน่ห์ ที่นี่ยังมีนิเวศสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่และสถาปัตยกรรมเท่ ๆ ซ่อนอยู่ทุกซอกซอยให้เก็บไว้เป็นไอเดียด้วย ถ้าใครได้แวะไปเที่ยวแถว ๆ ต.สุเทพ ก็จะเห็นบ้านคอนกรีตภายใต้รูปลักษณ์สุดโมเดิร์น เป็นโฮมออฟฟิศของสถาปนิกที่ตั้งใจสร้างขึ้นเป็นบ้านผสมผสานพื้นที่ทำงานเอาไว้ด้วยกัน แต่มีความเป็นส่วนตัวออกจากกัน ความสวยงามของสถาปัตยกรรมผ่านวัสดุไม้เผาแบบญี่ปุ่น สเปซภายในที่แบ่งฟังก์ชันอย่างชัดเจนแต่ลื่นไหลต่อเนื่อง ทุกองค์ประกอบสถาปนิก Studio Sifah ร่วมกันมองหาสิ่งที่สื่อสาร “ตัวตน” ของผู้อยู่ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนเกิดเป็น BAAN SAB MUANG หรือ บ้าน สาบ (กลิ่นอาย) เมืองที่เด่นกว่าใครในซอยหลังนี้

ออกแบบ : Studio Sifah
ภาพถ่าย :  Rungkit Charoenwat
เนื้อหาบ้านไอเดีย

โฮมออฟฟิศโมเดิร์นผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ตัวอาคารตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 70 ตร.วา ในตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก ประกอบกับอยู่บริเวณหัวมุมถนนที่เต็มไปแนวสายไฟรายเรียงพาดผ่าน ด้วยเงื่อนไขของลักษณะที่ดินนี้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้สถาปนิกต้องแก้ปัญหาว่า “จะมีวิธีการออกแบบอาคารอย่างไร ให้สามารถสร้างความรู้สึกว่าพื้นที่อาคารมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่จริง โดยผสมเทคนิคการลวง perspective ให้เกิดการมองเห็นระยะที่ยืดยาวออกไป และเทคนิคการสร้างลำดับการเปลี่ยนถ่ายระหว่างที่ว่างทางแนวราบ (vertical) และแนวตั้ง (horizontal) ด้วยแนวเฉียง (diagonal)”

โฮมออฟฟิศโมเดิร์นผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น

รูปทรงภายนอกของอาคาร ซึ่งมีลักษณะเรียบง่ายแบบสถาปัตยกรรมสากลสไตล์โมเดิร์น และวางตัวขนานไปกับแนวเขตที่ดิน ผนังชั้นบนยื่นออกมาเป็นมุมสามเหลี่ยมนำสายให้คนเข้าไปที่มุมแหลมที่สุด ชั้นล่างมีเสารับน้ำหนักปล่อยบ้านให้มีที่ว่างเหมือนใต้ถุน ผนังชั้นบนที่มีการเจาะช่องเปิดให้พอเหมาะกับพื้นที่สีเขียวของสวนภายใน โดยนอกจากจะสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ชั้น 2 ที่เป็นส่วนพักอาศัยแล้ว ยังช่วยควบคุมปริมาณแสงธรรมชาติให้เข้ามาอย่างพอดีกับช่วงเวลาของการอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้

ผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น

ใครที่ได้เห็นผนังบนชั้นสองมักจะเกิดความสงสัยว่าทำจากวัสดุอะไร เพราะดูเผินๆ จะเป็นคอนกรีตก็ไม่ใช่ไม้ก็ไม่เชิง คำตอบคือ เป็นผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น ที่เรียกว่า  “YAKISUGI” หรือ  “SHOU SUGI BAN” ซึ่งเป็นเทคนิคการผลิตแบบโบราณของญี่ปุ่น ด้วยการเผาเปลือกไม้ให้ได้สีดำเหมือนถ่าน นอกจากสร้างพื้นผิวอาคารที่แตกต่างแล้ว ยังเป็นหนึ่งวิธีในการรักษาคุณภาพไม้ตามธรรมชาติด้วยเพิ่มความทนทานสภาพอากาศและมอดปลวก

เพดานคอนกรีตโชว์แม่แบบ

แล้วตรงไหนบ้านที่สาบ (กลิ่นอาย) เมือง สถาปนิกเฉลยผ่านวัสดุที่ประกอบเป็นตัวอาคาร คอนกรีต งานไม้ งานฉาบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดบริเวณฝ้าเพดานเหนือโรงรถของบ้าน ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณท้องถิ่นที่คุ้นเคย ด้วยการทำฝ้าเพดานคอนกรีตเปลือยผิว ที่มีลวดลายของฝาลายอำพิมพ์ไปบนผิวคอนกรีต ซึ่งฝาลายอำนี้เป็นหนึ่งงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ยังมีอยู่ในบ้านร้อยจันทร์ ต.หนองควาย อ.หางดง เชียงใหม่ และชุมชนอื่น ๆ ที่นำเสนอรากของวัฒนธรรมตามวิถีของ “คนเมือง” ที่แฝงอยู่กับเมืองร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน

เนินสวนใจกลางบ้าน

ที่ว่างล้อมด้วยเนินสวนเขียวๆ

สวนที่ถูกยกตัวขึ้นในแนวเฉียงเหมือนเนินเล็ก ๆ ในใจกลางอาคารนี้ นอกจากเป็นพื้นที่สีเขียวช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของอาคารแล้ว สถาปนิกยังตั้งใจให้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม (transition space) ระหว่างบ้านชั้นที่ 2 กับพื้นที่ชานชั้นล่าง และช่วยบังสายตาให้กับส่วนของบ้านกับสตูดิโออีกด้วย รอบ ๆ สวนจะมีสเปซที่ว่างขนาดใหญ่ และอาคารที่เต็มไปด้วยกระจก ทำให้รู้สึกเหมือนการซ้อนทับระหว่างพื้นที่ภายนอก/ ภายใน/ สวน/ ลาน จนเกิดเป็นที่ว่างที่มีพลวัตรไหลเวียน และสร้างการรับรู้ได้กว้างกว่าพื้นที่จริง

โซนออฟฟิศผนังกระจก

ภายในของอาคาร สถาปนิกเน้นแนวคิดการตกแต่งด้วยการ “ผสานประสบการณ์ความงามคู่ตรงข้าม” ให้ความรู้สึก contrast ไม่ว่าจะเป็นความทึบหนักกับความโปร่งเบา ความหยาบกับความประณีต ความดิบแข็งและความอบอุ่น ซึ่งสะท้อนในการใช้ผ่านวัสดุที่หลากหลาย โทนสี และลักษณะการนำเสนอ เช่น บางส่วนเป็นงาน built in ที่ดูเรียบง่ายสะอาดตา เฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่แสดงระดับฝีมือของช่างท้องถิ่น แต่บางจุดจะโชว์สัมผัสความงามแบบธรรมชาติ ที่แสดงผ่านเนื้อแท้ของวัสดุที่ทิ้งร่องรอยแห่งความไม่สมบูรณ์แบบอย่างซื่อตรง เกิดเป็นประสบการณ์วิถีความขัดแย้งที่ผสานกันอย่างกลมกลืนและลงตัว

ผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น

โฮมออฟฟิศ

พื้นที่ชั้น 1 เป็นส่วนสตูดิโอออกแบบ “Studio Sifah” ซึ่งสถาปนิกอธิบายแนวคิดว่า “จัดให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายและรู้สึกเป็นกันเอง โดยดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารด้วยกระจกบานใหญ่ ทำให้มองเห็นสวนกลางบ้านที่ยกตัวขึ้น รวมถึงคอสองกระจกด้านบนที่ไร้เฟรมชนไปกับท้องพื้น Flat slab เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างที่ว่างภายในและภายนอกจนดูเป็นส่วนเดียวกัน”  จากจุดนี้จะสามารถเปิดปล่อยสายตาผ่านทะลุผนังกระจกออกไปยังสวน ทำให้ได้พักสายตาและยังสามารถออกไปนั่งพักเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจในการออกแบบได้ง่ายๆ

บ้านผนังกระจกมีเสารับน้ำหนัก

เสารับน้ำหนักทำให้ผนังเปิดได้กว้าง

ตกแต่งไฟซ่อนเพดานในห้องนั่งเล่น

พื้นที่ชั้น 2 ที่เป็นส่วนพักอาศัยแยกออกจากพื้นที่ทำงาน ชั้นที่สูงขึ้นมีส่วนช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวจากสายตาของผู้คนและรถราที่แล่นผ่าน ผนังโดยรอบมีทั้งส่วนที่ปิดเป็นส่วนตัวและผนังกระจกใส ให้เจ้าของบ้านได้เชื่อมต่อมุมมองไปยังสวนในใจกลางบ้าน และยังมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น

ห้องนอน

การตกแต่งไฟในบ้านและสวนยามค่ำ

อาคารหลังนี้ก็เหมือนบ้านหลังอื่นๆ ที่ตีความภายใต้ความเป็นตัวตนของผู้อยู่อาศัย สำหรับอาคารนี้มีจุดเน้นย้ำในการทำให้ตัวอาคารมีภาษาที่ซ่อนกลิ่นอายที่หลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาษสถาปัตยกรรมสากล ภูมิปัญญาญี่ปุ่น รวมเข้ากับรากวัฒนธรรมตามวิถีคนท้องถิ่นเมืองเหนือจึงไม่ต่างอะไรกับผู้คน-คนเมือง ที่ได้เสพวัฒนธรรมที่หลากหลาย แล้วหลอมรวมจนเกิดเป็นตัวตนอีกแบบที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด