เมนู

บ้านหน้าแคบ เชื่อมพื้นที่ภายในให้แสงและลมเดินทาง

บ้านบนที่ดินหน้าแคบ

บ้านตึกหน้าแคบที่ดูกว้าง

ต้องยอมรับว่าการพัฒนาทำให้ความเป็นเมืองค่อย ๆ รุกคืบขยายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเก่า ๆ เริ่มดูล้าสมัย และไม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ อย่างในประเทศเวียดนามจะมีที่ดินตัดแบ่งขายในลักษณะหน้าแคบลึกมากขึ้น ทำให้การก่อสร้างแบบเดิมซึ่งกินพื้นที่ใช้สอยในบ้าน ไม่มีช่องทางให้บ้านรับแสงและลมเพียงพอ ดูไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและสภาพอากาศเท่าที่ควร การออกแบบบ้านจึงเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการให้คุณค่าของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการสร้างพื้นที่ใหม่ ให้บ้านมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัย ในขณะเดียวกันก็อยู่สบายโดยไม่ขาดธรรมชาติ

ออกแบบ : 23o5studio
ภาพถ่าย : Quang Dam
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านตึกหน้าแคบลึก

บ้านสูงสามชั้นพื้นที่ใช้สอย 100 ตารางเมตร หลังนี้ เป็นผลลัพธ์จากการสนทนากันระหว่างเจ้าของและสถาปนิก ซึ่งเริ่มต้นเรื่องราวด้วยวิธีง่ายๆ โดยมองหาคุณค่าใหม่ๆ ในพื้นที่อยู่อาศัยที่หน้าแคบและลึกยาวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว เจ้าของเป็นชายหนุ่มที่อาศัยอยู่กับคุณแม่ของเขา ซึ่งทั้งคู่มีความคิดที่เปิดกว้างจึงค่อนข้างง่ายต่อการที่สถาปนิกจะปรับเปลี่ยนใส่ดีไซน์ วัสดุ หรือฟังก์ชันใหม่ๆ ที่คนรุ่นเก่าอาจไม่ค่อยคุ้นเคย เริ่มตั้งแต่ด้านนอกที่โชว์เนื้อปูนเปลือยและโครงเหล็กสีดำที่ดูดิบและคมชัดแบบบ้านโมเดิร์น ภายในก็คง concept วัสดุในแบบเดียวกัน

บ้านนห้าแคบลึกไม่มีช่องแสงด้านข้าง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ห้องนั่งเล่นชั้นล่าง

นอกจากลักษณะที่ดินจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายแล้ว ความต้องการของผู้อยู่อาศัยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทีมงานต้องนำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ครอบครัวนี้ต้องการพื้นที่เปิดโล่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่สะดวกสบาย ลูกชายขอห้องที่สามารถเปิดได้กว้างที่สุด พร้อมวิวด้านหน้าที่ชัดเจน ส่วนคุณแม่อยากได้พื้นที่ครัวขนาดใหญ่ เพราะที่บ้านมักจะต้อนรับแขกสม่ำเสมอในช่วงสุดสัปดาห์ ในขณะที่บ้านหน้ากว้างเพียง 4 เมตร สถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะของบ้านมาก โดยจัดแปลนแบบเปิดโล่ง open plan ชั้นล่าง วางห้องนั่งเล่น ห้องครัว โต๊ะอาหารต่อลึกเข้าไป โดยที่ไม่มีผนังกั้นแบ่งซอยเป็นห้องเล็กห้องน้อย สามารถมองและเดินทะลุกันได้หมด

บ้านแบบ open plan

ครัวประกอบไอส์แลน์ตัวใหญ่วางตรงกลางบ้าน บิลท์เตา ซิงค์ล้างและตู้เก็บของชั้นวางเป็นช่อง ๆ ในชิ้นเดียว ซึ่งก็เพียงพอสำหรับกสรใช้งานในครอบครัวเล็ก ๆ ต่อเนื่องกันไปเป็นโต๊ะทานข้าวไม้ตัวยาวที่จัดเก้าอี้คู่กับม้านั่ง วิธีนี้จะทำให้เหลือพื้นที่สัญจรรอบข้างทั้งสองด้าน และรองรับคนได้มากแม้จะมีพื้นที่น้อยก็ตาม

บรรยากาศห้องทานอาหารยามค่ำ

ห้องน้ำบรรยากาศธรรมชาติ

ห้องน้ำที่อยู่ด้านหลังสุดของบ้านหันค่อนข้างเป็นส่วนตัว ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงเลือกวางตำแหน่งโถสุขภัณฑ์หันหลังให้พื้นที่ใช้สอยข้างหน้า แล้วทำสวนขนาดเล็กเอาไว้ เมื่อเปิดประตูบานเลื่อนโปร่งแสงออกก็จะเผชิญหน้ากับความสดชื่นของต้นไม้ได้ทันที ทุกครั้งที่เข้ามาใช้งานจึงเต็มไปด้วยความสุนทรี

บันไดเหล็กบนปูนเปลือย

ความพิเศษที่ชวนโฟกัสสายตา ณ จุดนี้อีกที่หนึ่งคือ การรวมเอากระถางปลูกต้นไม้ขนาดเล็กเอาไว้บนเคาน์เตอร์ครัว เป็นการเชื่อมคนกับธรรมชาติแบบที่เราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

บันไดลอยตัวมีแสงจาก skylight

แสงสว่างจาก skylight

บ้านหน้าแคบแนวตั้งในเวียดนามแทบจะไม่ช่องแสงด้านข้าง เพราะมีกฎหมายกำหนดลักษณะช่องเปิดเช่นกัน ทำให้การรับแสงธรรมชาติไม่เพียงพอ ประกอบกับพื้นอาคารที่มักจะเทให้เป็นแผ่นเต็มพื้นที่มีช่องว่างเพียงโถงบันได ซึ่งไม่เพียงพอให้อากาศถ่ายเท และคนในบ้านยังขาดปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วย จากอุปสรรคนี้สถาปนิกจึงเลือกลดพื้นที่เพดานลง สร้างสเปซที่ต่อเนื่องมากขึ้นในแนวตั้ง เหมือนมีชั้นลอยค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป ทำบันไดแบบลอยตัวโปร่งๆ บ้านจึงมีอากาศไหลเวียนดี นอกจากนี้ยังใส่ช่องแสง skylight ดึงความสว่างเข้าบ้านจากด้านบน โดยไม่กลัวกังวลเรื่องความร้อนเพราะใต้หลังคาจะใส่คานคอนกรีตในลัษณะมุมเอียงช่วยกรองแสงในระดับหนึ่ง

มิติของแสงและเงาส่องลอดคานบนเพดาน

ช่องว่างขนาดใหญ่ในใจกลางบ้านเชื่อมต่อทั้งแสง อากาศ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่จุดไหนก็มองเห็นและสื่อสารกันได้แบบไม่ขาดตอน

ห้องนอนใหญ่ให้ความรู้สึกเปิดกว้างตามที่เจ้าของต้องการด้วยแผ่นกระจกด้านหน้า แต่ออกแบบช่องแสงในรูปแบบใหม่ เพราะสถาปนิกต้องการสร้างมุมมองในพื้นที่ของห้อง จึงตัดสินใจที่จะสร้างช่องว่างโดยตรงจากหลังคา ให้ความสว่างในช่วงกลางวันและสร้างมุมมองที่มองท้องฟ้าได้ในเวลากลางคืน ซึ่งทีมงานแก้โจทย์เรื่องความร้อนใช้คานขวางรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เหมือนในใจกลางบ้าน และให้ด้านข้างเอียงไปในทิศทางตรงกันข้ามของแสง เป็นการ “บิดมุม” ทำให้เกิดการหักเหของแสง นอกจากทำให้บ้านสว่างแบบไม่ร้อนเกินแล้ว ยังสร้างมิติของแสง แงา ที่ตกกระทบบ้านในช่วงเวลาต่างๆ ด้วย

ห้องเพดานสูงช่องหน้าต่างขนาดใหญ่

ผนังห้องใช้กระจกใสเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก เพราะความใสจะช่วยเบลอขอบเขต เชื่อมต่อมุมมองบ้านไปยังส่วนอื่นๆ ได้ง่าย และยังช่วยพรางตาให้บ้านดูโปร่ง โล่ง กว้างกว่าความเป็นจริง

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : อย่างที่เราทราบกันดีว่าบ้านหน้าแคบลึกหรือบ้านตึกหลายชั้นที่ผนังติด ๆ กันจะมีข้อด้อยเรื่องแสง เพราะพื้นที่ที่จะรับได้มากที่สุดอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนพื้นที่ตรงกลางแสงแทบจะส่องเข้าไปไม่ถึง แต่ละชั้นยังมีพื้นเพดานคั่น มีผลให้อากาศภายในบ้านไหลเวียนไม่ดี ภาพรวมบรรยากาศภายในจึงอับ ทึบ และชึ้นในบางจุด สมาชิกในบ้านยังสื่อสารกันได้ยากด้วย วิธีแก้ไขมีหลายวิธี อาทิ การลดพื้นที่เพดานออกสร้างชั้นลอย หรือการทำอาคารแบบเล่นระดับ เจาะที่ว่างแนวตั้งแล้วใส่ช่องแสง skylight ด้านบน ซึ่งจะช่วยให้ข้อจำกัดที่ว่าเหล่านี้ลดลงไปได้มาก สำหรับคนที่กังวลว่าบ้านจะร้อนจากหลังคาโปร่งๆ สามารถเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ป้องกันรังสี UV หรือใส่คาน แผ่นวัสดุฉลุลายให้ช่วยกรองแสงก็ได้

แสงไฟส่องสว่างตกกระทบผนังคอนกรีต

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด