ดีไซน์เต็นท์ยอดนิยม
พัฒนากันไปไกลกว่าที่คิดกับ “เต็นท์” สำหรับสายแคมป์ปิ้ง จากการออกทริปทุกปี เห็นได้ชัดเจนกว่าเต็นท์รุ่นใหม่มีความหลากหลายและออกแบบมาให้ตอบโจทย์กับหลาย ๆ สไตล์ มือใหม่หัดแคมป์ปิ้ง อาจจะงงสักหน่อยว่า หากจะเลือกซื้อเต็นท์หลังแรก ต้องเลือกแบบไหน และเต็นท์ที่มีอยู่ในท้องตลาดตอนนี้มีรูปทรงใดบ้าง บ้านไอเดียจึงรวบรวมรูปทรงดีไซน์เต็นท์ที่กำลังนิยมกันมาให้พิจารณา ชอบแบบไหน ลองเลือกกันครับ
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ภาพ: luxecamp
เต็นท์ทรงกระโจม
เต็นท์ทรงกระโจม ให้ความรู้สึกของอารมณ์แบบชนเผ่า มีทั้งขนาดมินิและขนาดใหญ่ไซส์สำหรับครอบครัวที่เส้นผ่านศูนย์กลางถึง 5 ม. เหมือนอยู่ในห้องขนาดใหญ่ห้องหนึ่งเลย ลักษณะด้านบนเป็นทรงสูงขึ้นไปหรือว่ามียอดแหลมสูง เต็นท์แบบนี้จะเหมาะกับคนตัวสูงยืนในเต็นท์ได้ แต่ข้อด้อย คือ ส่วนมากจะต้องมีเสาขวางตรงกลางเต็นท์ และ ต้องดึงสมอบกทุกครั้ง เต็นท์ถึงจะทรงตัวอยู่ได้ และถ้าเป็นผ้าแคนวาสจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักของเต็นท์ ซึ่งไม่เหมาะกับการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์
ภาพ: camp studio
เต็นท์ทรงโดม
เต็นท์ทรงมาตรฐานอีกแบบหนึ่ง ตัวพื้นที่ทั้งแบบรูปสี่เหลี่ยมและรูปวงกลม ไม่มีเสาตรงกลางทำให้มีพื้นที่กว้าง นอนได้หลายคน และยังมีที่ให้วางของด้วย ข้างบนจะมีช่องระบายอากาศ ในบางรุ่นมาพร้อมกับฟลายชีทและกราวนด์ชีทสำหรับกันน้ำค้างและปูเป็นพื้นที่ใช้สอยเพิ่มด้านหน้าด้วย
ภาพ: naturehike_japan
เต็นท์ทรงอุโมงค์
ชื่อนี้มาจากรูปลักษณ์ที่เน้นแนวยาวและส่วนหลังคาเตี้ย ๆ คล้ายอุโมงค์ ด้วยดีไซน์ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมาก นอนกลิ้งไปมาได้สบาย ในรุ่นที่มีเสาแบ่งด้านจะสามารถแยกเป็นห้องนอนได้สองปีก และมีพื้นที่ส่วนรวมตรงกลาง จึงจัดระเบียบความเป็นส่วนตัวได้ แต่ในกระบวนการกลางจะค่อนข้างยุ่งยากต้องใช้ผู้ช่วยหลายคนมาช่วยกันกาง รวมทั้งความสูงที่ค่อนข้างน้อย ลุกขึ้นยืนไม่ได้อาจจะทำให้คนที่ตัวสูงๆ รู้สึกอึดอัด
ภาพ : kodiak canvas th
เต็นท์ทรงเคบิน
รูปทรงมีลักษณะเหมือนบ้านหลังเล็กที่มีชายคายื่นออกมา อีกทั้งค่อนข้างมีความสูง ทำให้ภายในรู้สึกได้ถึงความโปร่งโล่ง ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าแคนวาส ซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติ ระบายความร้อนได้ดี ทนทาน แต่ก็มีข้อเสียที่น้ำหนักของเต็นท์จะมากกว่าเต็นท์ประเภทอื่น ๆ
ภาพ: camp studio
เต็นท์ทรงบ้าน
เต็นท์แบบนี้เป็นเหมือนเต็นท์มาตรฐาน แต่ก็มีหลายรูปแบบ อาจเป็น A-frame ง่ายๆ รูปทรงจะคล้ายกับเต็นท์แบบลูกเสือที่เราคุ้นเคยสมัยเด็ก หรือเป็นทรงที่เหมือนบ้านจริงๆ มีส่วนผนัง ชายคา หลังคาจั่วสูงขึ้นตรงกลาง แต่มักจะเติมหลังคาออกมาคลุมพื้นที่ว่างด้านหน้าเล็กๆ ให้นั่งทานข้าว จิบกาแฟ ผิงไฟ ได้
ภาพ: pinterest
เต็นท์รถ (ต่อท้ายรถ, ติดตั้งเหนือหลังคา)
เต็นท์แบบต่อท้ายรถ หนึ่งรูปแบบเต็นท์ที่เป็นส่วนตัวไม่ปะปนกับใคร สะดวกและสบายกว่าเดิม เพราะไม่ต้องทิ้งรถยนต์ไว้ไกล ๆ ให้เป็นห่วง ไปไหนก็ไปด้วยกัน ตัวเต็นท์สามารถพับเก็บได้และกางได้ไม่ยาก เต็นท์แบบนี้จะมีทั้งที่ติดบนหลังกระบะรถ และแบบครอบไปกับด้านหลังของรถยนต์ไม่มีกระบะ ซึ่งเต็นท์ค่อนข้างสูงยืนสบายๆ จึงใช้เป็นห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ แถมยังเปิดเชื่อมต่อกับกระโปรงหลังรถได้ ทำให้พื้นที่ใช้งานมีมากขึ้นไปอีก
ภาพ: healingofthesevengenerations
ส่วนเต็นท์ที่ใช้กางบนหลังคารถลุคเท่ ดูเหมือนที่พักลอยฟ้ามีบันไดให้ขึ้นได้ง่ายๆ ความสูงของเต็นท์ทำให้รู้สึกอุ่นใจจากสัตว์เลื้อยคลาน เลี่ยงน้ำท่วมขัง และมองเห็นวิวมุมสูงแบบพาโนรามา การเปิดการเต็นท์ใช้งานก็ไม่ยาก แต่จะมีกระบวนการยุ่งยากตรงที่ต้องติดตั้งระบบราวบนหลังคาก่อน ซึ่งต้องใช้มืออาชีพ เนื่องจากต้องกระจายน้ำหนักลงไปที่ล้อให้สมดุล และการวางตำแหน่งติดตั้งเต็นท์ให้เป๊ะ น้ำหนักเต็นท์บางรุ่นหนักกว่า 40 กิโลกรัมหรือมากกว่าจะต้องมีแรงช่วยยกขึ้นบนหลังคา และต้องเลือกขนาดเต็นท์ให้เหมาะกับขนาดรถด้วย
ทั้งนี้ข้อจำกัดที่เหมือนกันของเต็นท์ประเภทนี้ คือ อาจจะไม่ได้เข้าถึงจุดกางเต็นท์ติดวิวธรรมชาติ เนื่องจากบางพื้นที่จะห้ามรถยนต์เข้านั่นเองครับ
ภาพ: ayamaya
เต็นท์กางออโต้ หรือ เต็นท์ POP-UP
เต็นท์แบบนี้สะดวกสบายที่สุด เหมาะสำหรับมือใหม่หรือใครที่ไม่ถนัดกางเต็นท์เอง เพียงแกะออกมาจากถุงแล้วดึงเชือก, ยกโครงหัวเต็นท์ขึ้นมา หรือแค่โยนออกไป (ขึ้นอยู่กับว่าเต็นท์ออกแบบระบบอย่างไร) เพียงไม่กี่วินาทีเต็นท์ก็จะกางออกพร้อมนอนทันที เวลาเก็บก็แค่พับๆ เก็บลงกระเป๋าได้เลย ข้อดีของเต็นท์แบบนี้คือ ใช้งานง่าย น้ำหนักเบาพกพาสะดวก เหมาะสำหรับมือใหม่สายแคมมป์ แต่ข้อเสียคือ เต็นท์แบบนี้จะเบา ไม่ค่อยแข็งแรง จึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานในพื้นที่ที่ลมแรง ๆ
เป็นอย่างไรบ้างครับกับรูปแบบเต็นท์ น่าจะมีรูปแบบที่มองๆ ไว้บ้างแล้วใช่ไหมครับ ลองหาแบบที่ใช่ ราคาที่ชอบ ขนาดที่พอดีกับความต้องการ ตามร้านขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้งกันดู ขอให้การเที่ยวกางเต็นท์ปีนี้และปีต่อ ๆ ไปเป็นประสบการณ์ความสุขที่เต็มไปด้วยความทรงจำสุดประทับใจของคุณนะครับ