เมนู

“เขียง” ใช้นาน ดูแลผิด เป็นอันตรายกว่าที่คิด

ใช้เขียงแบบผิดผิด

อันตรายจากเขียง

เขียง อุปกรณ์ในครัวที่มีใช้กันทุกบ้าน ซึ่งจะเป็นส่วนที่สัมผัสอาหารสดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเขียงประเภทไหน เราก็มักใช้งานเหมือนกันคือ ใช้แล้วล้าง เก็บพิงผนังหรือแขวนห้อยไว้ บางคนที่เขียงขนาดใหญ่ก็ใช้แล้วล้างวางไว้กับที่ แต่ทราบหรือไม่ หากเราดูแลเขียงไม่ถูกวิธีสิ่งนี้จะกลายเป็นเหมือนแหล่งสะสมเชื้อโรคทำให้เราป่วยได้แบบไม่คาดคิด เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” จะมาแชร์เกี่ยวกับเขียง วิธีการใช้ และดูแลเขียงที่ถูกวิธี เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีกันค่ะ

เนื้อหา : บ้านไอเดีย

การดูแลเขียงผิดๆ

ภาพถ่าย: thedailymeal

เขียงพลาสติกหรือไม้แบบไหนดีกว่ากัน

เขียงทำได้จากหลายวัสดุ ที่เราคุ้นชิน ได้แก่ เขียงไม้ อาจเป็นไม้มะขาม ไม้ไผ่อัด ไม้ตะพรุน และวัสดุพลาสติก PE เขียงพลาสติกโพลีโพรพิลีน  ซึ่งจริง ๆ แล้วแต่ละชนิดก็มีข้อดีต่างกัน แต่ส่วนข้อเสียมักเกิดการลักษณะการใช้งานและการทำความสะอาดคล้ายกัน

เขียงพลาสติก จะสุขอนามัยที่ดีกว่า (ในกรณีไม่มีร่องรอยของคมมีดเป็นร่องลึก) พลาสติกจะน้ำหนักเบากว่าไม้ จึงยกไปล้างทำความสะอาดง่าย สามารถใช้น้ำยาล้างจานหรือการลวกด้วยน้ำร้อน ทั้งนี้ถ้าหน้าเขียงพลาสติกเป็นรอยมีดลึกหรือสึกกร่อน อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อราเชื้อโรคอื่น ๆ และเกิดการปนเปื้อนของพลาสติกลงไปในอาหารก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน

เขียงไม้ ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความหนาจะไม่เปื่อยยุ่ยง่าย มีความทนทานต่อรอยมีดและไม่ทำร้ายคมมีด เมื่อใช้งานหั่นหรือสับวัตถุดิบอาหารอาจมีเศษไม้ปนผสมแต่ไม่เป็นอันตราย สามารถทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน เกลือ น้ำมะนาว หรือการใช้มีดขูดหน้าเขียงที่สกปรกออกง่าย แต่เขียงไม้ จะมีรูพรุนค่อนข้างมาก เขียงขนาดใหญ่ยังยกไปทำความสะอาดยาก และผู้ใช้มักไม่แขวนหรือเช็ดให้แห้ง ในขณะเดียวกันไม้มีการหดขยายตัวตามธรรมชาติเกิดรอยแตก ทำให้สะสมความชื้นและสะสมจุลินทรีย์ได้ง่ายกว่าเขียงพลาสติก
การใช้งานเขียงให้ถูกวิธี

ภาพถ่าย : designingidea

แบบไหนคือการใช้และเก็บเขียงแบบผิด ๆ

ชนิดของเขียงนั้นอาจมีผลต่อการสะสมเชื้อโรคก็จริง แต่กลับน้อยกว่าการใช้เขียงด้วยวิธีการผิดๆ อาทิ

  • การเรียงลำดับในการหั่น โดยใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์ก่อนแล้วต่อด้วยการหั่นผักผลไม้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการถ่ายทอดเชื้อโรคจากเนื้อสัตว์มาสู่ผักหรือผลไม้ได้ ยิ่งเขียงไม่ได้ล้างให้สะอาด แถมผักผลไม้ยังทานสด ๆ ไม่ผ่านกระบวนการความร้อน จะกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนของจุลินทรีย์และเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมาก
  • ใช้โดยไม่แยกเขียงในการหั่นเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ซึ่งข้อนี้จะเกี่ยวเนื่องกับข้อข้างบน ทางที่ดีเราจึงควรแยกเขียงตามประเภทใช้งาน อย่างน้อยที่สุดควรมี 2 ชิ้น หรือ 1 ชิ้นที่ใช้ได้ 2 ด้าน
  • การใช้เขียงเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำความสะอาดเลยก็มีโอกาสเสี่ยงในการเพิ่มเชื้อโรคสะสม เนื่องจากจุลินทรีย์บนเขียงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างวัน
  • การเก็บเขียงไว้ในที่ชื้นและมืดนาน ๆ เขียงมีความชื้น ก็อาจจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย เชื้อราเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร (ท้องเสีย ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน) หากสังเกตว่าเขียงเริ่มมีกลุ่มจุดดำเล็กๆ ให้เปลี่ยนใหม่
  • เขียงที่ใช้งานมานานจนมีรอยแตกหรือรอยมีดลึก ๆ ร่อยรอยเหล่านี้คือแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี หากเขียงมีรอยแตกก็ไม่ควรเสียดาย ควรเปลี่ยนใหม่เพื่อความปลอดภัย

วิธีการทำความสะอาดและดูแลเขียง

เขียงไม้หั่นขนมปัง

ภาพถ่าย: food4less

1. หากใช้เขียงหั่นของแห้งที่ไม่เลอะไม่เปียก เช่น ขนมปัง ใช้เพียงกระดาษทิชชูเช็ดปัดขนมปัง หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดก็พอ

ขัดเขียงไม้ด้วยมะนาว เกลือ เบกกิ้งโซดา

ภาพถ่าย: nytimes

2. ทำความสะอาดเขียงง่ายๆ ด้วยกรดจากน้ำส้มสายชูแบบเจือจางหรือมะนาว (ไม่ควรใช้กรดแบบเข้มข้น) จะสามารถฆ่าจุลินทรีย์ได้บางประเภทได้ หรือว่าการใช้เบกกิ้งโซดาในการล้างก็ดี เพราะเบกกิ้งโซดาจะเพิ่มความเป็นด่างให้กับน้ำ ซึ่งอาจฆ่าจุลินทรีย์บางประเภทได้เช่นกัน รวมถึงตัวเบกกิ้งโซดาเองก็จะช่วยกำจัดคราบของอาหารที่ปนเปื้อนอยู่ในเขียงได้ด้วย

ภาพถ่าย: thekitchn

3. เขียงพลาสติก เมื่อใช้เขียงเสร็จแล้วต้องล้างให้สะอาด โดยใช้น้ำยาล้างจานคู่กับสก๊อตช์ไบรต์ ไม่ควรใช้ฝอยขัดหม้อ เนื่องจากความหยาบและคมของฝอยขัดจะทำให้เกิดร่องลึกบนเขียงได้ สิ่งที่ใช้ทำความสะอาดเขียงพลาสติกก็จะคล้ายๆ กับเขียงไม้ โดยใช้น้ำยาล้างจาน เกลือป่น น้ำมะนาว น้ำส้มเจือจาง เบกกิ้งโซดา ทำความสะอาดได้ และเช็ดให้แห้ง

4. ต้องล้างเขียงทั้งสองด้าน แม้ว่าคุณจะสับหรือหั่นเพียงด้านเดียวก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เขียงชื้นและแห้งแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจทำให้เขียงไม้บิดตัวได้

ภาพถ่าย : bonappetit

5. หลังจากใช้งานเขียงไม้ ควรตากให้แห้ง จากนั้นเคลือบและขัดเขียงไม้ด้วยน้ำมันจากธรรมชาติ mineral oil แบบ Food grade  หรือใช้น้ำมันมะพร้าวเคลือบบางๆ วางให้ขอบเขียงตั้งขึ้น ทิ้งไว้เป็นเวลาอย่างน้อยสามชั่วโมง ก่อนจะนำมาใช้ให้นำผ้าสะอาดมาเช็ดวน ๆ ให้ไม้แวววาว ทาทุก ๆ สองสัปดาห์หรือบ่อยกว่านั้นได้ตามใจชอบ วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม้จากการงอและแตกหักได้ และยังเคลือบพื้นผิวไม่ให้คราบและกลิ่นอาหารซึมเข้าเนื้อไม้ด้วย

6. การเก็บเขียงไม้ขนาดเล็ก โดยวางขอบเขียงตั้งขึ้นหรือแขวน วิธีนี้จะช่วยให้เขียงแห้งง่ายและป้องกันการบิดงอแตกร้าว ส่วนเขียงที่ใช้สับหั่นเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่และหนาหนักยกยาก ให้เช็ดล้างผิวหน้าเขียงให้ปราศจากความชื้นหรือเศษอาหารที่ตกค้างแล้ววางตั้งให้สองด้านของเขียงโดนลม แต่ถ้าเป็นเขียงไม้กลมก็พิงไว้

กระดาษทรายปรับหน้าเขียงไม้

ภาพถ่าย: nytimes

7. สำหรับเขียงไม้ที่พื้นผิวหน้าเป็นรอยมีดสับ หากยังไม่ลึกมาก ไม่มีรอยแตก สามารถใช้กระดาษทรายขัดปรับผิวหน้าให้เรียบได้

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด