บ้านสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่น
นิยามของบ้านสำหรับหลาย ๆ คน ยังคงเป็นสถานที่ที่รู้สึกได้ว่าเข้าไปแล้วปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อม อบอุ่น และใช้ชีวิตได้แบบที่ชอบ หนึ่งสไตล์บ้านที่โอบรับความรู้สึกนี้ได้อย่างดีในนาทีนี้ก็ต้องมีบ้านสไตล์มินิมอล บ้านอารมณ์คาเฟ่ หรือบ้านสไตล์ญี่ปุ่นอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ไม่เฉพาะบ้านเดี่ยวที่สร้างเองเท่านั้น ในกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มปรับตัวตามกระแสตลาดออกแบบบ้านจัดสรรในสไตล์นี้กันมากขึ้น เช่นเดียวกับบ้าน•ใบ•ไม้ บ้านน่ารักที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในสไตล์ญี่ปุ่น ที่เห็นเพียงครั้งเดียวก็อุ่นไปถึงหัวใจ
ออกแบบ : Bannapasorn
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านชั้นเดียวหลังคาจั่วหลังนี้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดีไซน์บ้านได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านชนบทในญี่ปุ่น สะดุดตาที่หลังคาจั่วองศาไมาสูงมุงคอนกรีตลอนสีเทา ตัดเส้นสายตาด้วยสีไม้ เจ้าของโครงการมีความตั้งใจว่าอยากทำบ้านที่คนทุกๆ วัยได้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนหรือขยายเพิ่มเติม คอนเซปต์หลักสำหรับการออกแบบแปลน คือ เป็นบ้านที่มีดีไซน์เรียบง่ายธรรมดาแต่ดูดี ฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลงตัวในสไตล์ Minimal ที่สบาย โปร่ง โล่ง พื้นภายในบ้านมีระดับเดียวกันทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็น และประตูทุกบานมีขนาดใหญ่พิเศษความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
แค่บ้านสีขาวที่ตัดด้วยงานไม้ก็ให้ความรู้สึกอุ่นใจแบบบ้านในญี่ปุ่นแล้ว ในรายละเอียดปลีกย่อยก็เติมไปด้วยแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตย์แบบญี่ปุ่น อาทิ ชายคาที่ยื่นออกจากตัวบ้านไม่มากนัก (ประมาณ 60 เซนติเมตร) กรอบหน้าต่างไม้ระแนงบานเลื่อน ฝ้าชายคาที่ใช้วัสดุลายไม้ทาทับด้วยสีย้อมไม้ไฟเบอร์ซิเมนต์ สีไม้สัก เพิ่มความเด่นชัดของตัวบ้านขึ้นมาทันที ประตูหน้าต่างไม้ระแนงเลื่อนเปิดและปิดได้ ทำหน้าที่เป็นเสมือนผนังชั้นนอกเมื่อเปิดประตูบานเลื่อนรับลม ช่วยบล็อกเรื่องสายตาบุคคลภายนอกที่รบกวนและยังรับแสงธรรมชาติได้
หน้าต่างออกแบบให้เเหมือนมี 2 ชั้น โดยที่ตัวหน้าต่างจริง ๆ จะเป็นอลูมิเนียมอบสีดำ ซึ่งติดตั้งง่าย ใช้งานได้สะดวก ดูแลรักษาไม่ยาก แต่อลูมิเนียมดูไม่เข้ากันกับบ้านญี่ปุ่น เมื่ออยากได้อารมณ์แบบแจแปนต้องมีความเป็นไม้ จึงทำกรอบไม้เสริมขึ้นมาเป็นซับวงกบครอบทับด้านนอก แล้วใส่บานระแนงไม้อีกชั้น ก็เสกสรรค์บ้านให้กลายเป็น japanese minimalist ขึ้นมาทันที
แน่นอนว่าบ้านญี่ปุ่นย่อมขาด“สวนญี่ปุ่น” ไปไม่ได้ ซึ่งจะขึ้นชื่อในเรื่องของความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสงบ และมีความเป็นศิลปะสูง แม้จะมีส่วนประกอบไม่กี่อย่าง โดยเฉพาะสไตล์ zen ที่จะใช้กรวด หิน ต้นไม้หลัก และอ่างน้ำเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสวนหินกรวดสีขาววาดเป็นรูปคลื่น หรือการเลือกใช้ต้นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัว จึงมีเอกลักษณ์ต่างจากสวนแบบอื่นอย่างชัดเจน สำหรับบ้านนี้ก็จัดง่าย ๆ มีกรวด แผ่นหินปูทางเดิน และต้นไม้ทรงสวย เท่านี้ก็พอนำเสนอบรรยากาศสวนญี่ปุ่นได้แล้ว
เอ็งกาวะ (Engawa) เป็นชื่อเรียกเฉลียงไม้ที่ยื่นออกมาด้านนอกตัวบ้านสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ สมาชิกในบ้านสามารถใช้เวลาวางออกมาใช้เวลาผ่อนคลายไปกับการนั่งอ่านหนังสือ ดื่มกาแฟถ้วยโปรดพร้อมชมสวน หรือเปลี่ยนบรรยากาศออกมาทานข้าวในวันที่อากาศเป็นใจ ชมท้องฟ้ายามค่ำคืนก่อนเข้านอนก็แสนจะโรแมนติก
“สเปซ” คือ หัวใจของบ้านหลังนี้ ซึ่งวางคอนเซ็ป minimalist ภายในจึงต้องดูเปิดโล่งกว้าง คลีนๆ มีพื้นที่ให้หายใจสบายๆ เน้นความเรียบง่าย โดยใช้สีกลางๆ มีช่องแสงขนาดใหญ่รอบด้านเพื่อเผปิดรับแสงจากธรรมชาติ แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อน เพราะบ้านติดตั้ง Glass Green ซึ่งเป็นกระจกตัดแสงประเภทหนึ่ง มีคุณสมบัติยอมให้แสงสว่างส่องผ่านได้ 75 เปอร์เซ็นต์ จึงช่วยให้ได้ทั้งความเย็นและความสว่างปลอดโปร่งไปพร้อมกัน พื้นบ้านปูด้วยวัสดุ SPC ลายไม้เลือกเฉดสีอ่อน ๆ ทำให้ทุกมุมในบ้านมีความละมุน
ห้องโถงกว้างขวางเหมาะสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ อย่างอนเกประสงค์ มีวิวติดสวนหลังบ้าน หากสังเกตดูจะเห็นว่าเฉลียงบ้านและพื้นภายในบ้านจะออกแบบให้มีระดับเดียวกันทั้งหมด เพื่อรองรับสมาชิกในบ้านที่ต้องใช้รถเข็น และประตูทุกบานมีขนาดใหญ่พิเศษรถเข็นเข้าออกได้ง่าย ทุกคนในบ้านจึงมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติได้เท่า ๆ กัน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านสไตล์ญี่ปุ่นยุคใหม่ จะมีจุดเน้นสำคัญ ๆ เป็นหลักไม่กี่อย่าง หากจับจุดได้ถูกก็จะสร้างบรรยากาศแบบแจแปนได้ง่ายๆ อาทิ การเลือกใช้ไม้เป็นส่วนประกอบของตัวบ้าน เช่น พื้นบ้าน ฝ้าเพดาน และเฟอร์นิเจอร์ (หากงบประมาณน้อยอาจใช้ไม้สังเคราะห์ทาสีแทนได้) การเลือกโทนสีของบ้าน เน้นใช้สีเรียบๆ อย่างสีโมโนโทนอ่อนๆ เช่น สีเทา สีขาว ครีม เขียวตุ่นๆ น้ำตาล เป็นโทนสีที่ดูนวลสบายตา ให้ความผ่อนคลาย ภายนอกก็ใช้เส้นสายสะอาด เรียบง่าย ใช้ไม้สร้างกรอบสายตา พื้นที่ภายในพยายามเปิดโล่งให้มากที่สุด สร้างสเปซโล่งกว้าง ส่วนภูมิทัศน์ภายนอกก็จัดสวนแบบเซน ใส่อ่างน้ำหินและไม้ไผ่ก็เพิ่มความเป็นญี่ปุ่นได้ทันที |