เมนู

โรงเรียนบ้านคลองบอน สถาปัตยกรรมที่เน้นพื้นที่การเรียนรู้

ออกแบบโรงเรียน

โรงเรียนดีไซน์ใหม่

“พลังของสถาปัตยกรรมเพิ่มคุณภาพให้กับชีวิตของผู้คนได้” แนวคิดนี้ไม่ใช่เพียงบ้านเท่านั้น แต่ยังใช้กับโรงเรียนได้ด้วย ลองนึกภาพอาคารเรียนในบ้านเราจะเห็น Pattern ตึกที่หน้าตาคล้ายกัน ใช้งานในรูปแบบเหมือนกันในทุกสภาพอากาศและที่ตั้ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาคารเรียนควรจะมีฟังก์ชันที่สอดคล้องกับบริบทและการใช้งานที่แตกต่างของแต่ละโรงเรียน ส่วนของการออกแบบและใช้พื้นที่การเรียนการสอนควรจะเหมาะสมกับความสนใจและความต้องการหลักสูตรของพวกเขา เนื้อหานี้บ้านไอเดียมีโรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ ที่ฉีกกฎของการออกแบบอาคารเรียนแบบที่เราคุ้นตา วัสดุเรียบง่ายไม่แพงแต่มีความน่าสนใจและการจัดฟังก์ชันกระตุ้นความสนุกสนานให้เด็กๆ อยากไปเรียน

ออกแบบVin Varavarn Architects
ภาพถ่ายKetsiree Wongwan
เนื้อหาบ้านไอเดีย

อาคารเรียนดีไซน์โมเดิร์น

โรงเรียนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้

Vin Varavarn Architect ได้ออกแบบอาคารเรียนใหม่ของโรงเรียนบ้านคลองบอน เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา แทนอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ทีมงานทำการบ้านอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจออกแบบอาคารเรียน โดยทราบว่าโรงเรียนโดดเด่นด้านการส่งเสริมทักษะทางศิลปะ จึงใช้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างอาคารที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และแสดงงานศิลปะได้มากกว่าห้องทั่วไป เปลี่ยนห้องเรียนเปล่า ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ใส่ชุดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ห้องเรียนพื้นที่เชิงรุกสำหรับการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ

ปรับปรุงโรงเรียนใหม่ในพังงา

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

โรงเรียนดีไซน์ใหม่

อาคารที่เราเห็นทั่วไปจะก่อสร้างก่ออิฐฉาบปูนแบ่งเป็นห้อง ๆ ติดกันทั้งหมด ซึ่งนักออกแบบเห็นว่าลักษณะการจัดห้องเรียนแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าผนังทึบกับห้องเรียนที่ติดกันทำให้รู้สึกอุดอู้ ไม่ตอบสนองต่อการเติบโตของจินตนาการและพัฒนาการ จึงสร้างพื้นที่ว่างระหว่างห้อในชั้นบนค่อนข้างมาก หากมองจากด้านหน้าจะเป็นช่องว่างโปร่งสลับห้องเรียนทึบ และสังเกตว่าห้องเรียนบนชั้น 2 จะยื่นออกมาด้านหน้าเล็กน้อย กลางอาคารถูกเจาะให้เป็นโถงบันไดสูงสองชั้นขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่ระหว่างชั้น 1 กับชั้น 2 มีความต่อเนื่องในแนวตั้งหลายๆ จุด

ผนังไม้ไผ่และวัสดุโปร่งแสง

ผนังวัสดุโปร่งแสง

ผนังวัสดุโปร่งแสง

วัสดุใหม่ๆ ผสานวัสดุท้องถิ่น

ผนังบางส่วนใช้วัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นมาช่วยตกแต่งให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ผสมผสานกับวัสดุใหม่ ๆ อย่างเช่น แผ่นโพลีคาร์บอเนต ที่เป็นวัสดุโปร่งแสงจึงปล่อยให้แสงเข้าสู่ในอาคารได้บ้าง แผ่นโปร่งแสงนี้มีความแข็งแรงพอสมควรนักออกแบบจึงนำมาใช้งานร่วมกับกรอบเหล็กทำเป็นบานประตูและผนังขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดออกได้กว้าง ๆ ผนังจึงมีอิสระ ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและสภาพอากาศริ้อนชื้นที่ต้องการพื้นที่ระบายอากาศค่อนข้างมาก

ปลูกต้นไม้ในอาคารเรียน

อาคารเรียนเพดานสูงโปร่ง ๆ

ลืมภาพอาคารเรียนสองชั้นที่ปิดเพดานทึบมีระเบียงให้นั่งเล่นข้างหน้าและบันไดอยู่ด้านข้างไปได้เลย เพราะอาคารนี้นอกจากโถงบันไดที่เราเห็นด้านนอกแล้วภายในอาคารเจาะเพดานที่ปิดทึบแบ่งระหว่างชั้นออกด้วย วิธีนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อพื้นที่ในแนวตั้งเป็นดับเบิ้ลสเปซ ทำให้คนที่ทำกิจกรรมอยู่คนละชั้นสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวระหว่างกันได้ ที่ว่างใจกลางอาคารนี้ยังทำหน้าที่กระจายแสงธรรมชาติเข้ามาได้มากขึ้น เอื้อให้การไหลเวียนอากาศภายในทำได้ดี

บรรยากาศห้องเรียนที่น่าเรียน

ห้องเรียนดีไซน์ใหม่

ยืดหยุ่น ลื่นไหล เป็นธรรมชาติ

นอกจากพื้นที่แนวตั้งแล้ว สถาปนิกยังสร้างความยืดหยุ่นลื่นไหลให้พื้นที่ในแนวนอน ด้วยการจัดแปลนแบบเปิดไม่มีผนังกั้นให้ชั้นล่างเป็นเหมือนโถงขนาดใหญ่ดูโล่งกว้าง สามารถวางโต๊ะทำงานตัวยาวได้หลายชุด และใช้จัดบอร์ดศิลปะขนาดใหญ่ได้สบาย เปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ภายในยังวางกระถางซีเมนต์ปลูกต้นไม้ให้เติบโตอยู่เป็นระยะ ทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตร สดชื่น เหมาะกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ

ผนังใช้โชว์งานศิลปะ

บริเวณกึ่งกลางของพื้นที่สร้างอาคารเรียนเป็นพื้นที่ต่างระดับ เป็นจุดด้อยที่สร้างอุปสรรคในการจัดการ แต่สถาปนิกสามารถเปลี่ยนจุดด้อยให้กลายเป็นจุดเด่น ด้วยการสร้างสเต็ปให้เหมือนเป็นอัฒจันทร์คอนกรีตไล่ระดับแทนการปรับระดับดินที่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ครูและเด็ก ๆ จะใช้พื้นที่ตรงนี้ได้แบบอเนกประสงค์ อาทิ ประชุม นำเสนองาน หรือเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดมินิให้นั่งชมสื่อศิลปะที่จากการฉายโปรเจคเตอร์ ทุก ๆ มุมในโรงเรียนจึงใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สอดคล้องและรองรับกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

บรรยากาศอาคารช่วงค่ำ

แปลนโรงเรียน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด