เมนู

ส่องตัวตนคนเขียนเพลง บ้านเขียนไขและวานิช @แม่ออน

บ้านไม้มีใต้ถุน เชียงใหม่

บ้านไม้สไตล์ล้านนาประยุกต์

‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร’  เพลงนี้เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วคงคุ้นหูกันมาก ๆ เลยนะครับ หลังจากเพลงนี้โด่งดังขึ้นมาชีวิตของ ‘เขียนไขและวานิช’ หรือ คุณโจ้-สาโรจน์ ยอดยิ่ง ก็เปลี่ยนไปแบบฉับพลัน กลายเป็นศิลปินคิวทองที่มีตารางเล่นดนตรียาวเหยียด และต้องเดินทางไปแสดงจนเกือบครบทุกจังหวัด แน่นอนว่าการเดินทางที่เหนื่อยขนาดนี้หลังจากกลับมาถึงเชียงใหม่ก็ต้องการ “บ้าน” ที่เป็นบ้านจริงๆ คือ ต้องพร้อมรับสภาวะทิ้งตัวที่ทำให้ผ่อนคลาย และที่สำคัญคือ ต้องเป็นเหมือนแหล่งพลังงานที่เอื้อให้จินตนาการในการทำเพลงเติบโตไปพร้อมกันด้วย เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” จะพาไปค้นตัวตนอีกด้านหนึ่งของศิลปินในดวงใจของใครหลาย ๆ คนในบ้านของเขาว่าจะรู้สึกเบาสบายล่องลอยเหมือนเนื้อเพลงหรือเปล่าครับ

ออกแบบ : Sher Maker
ภาพถ่าย : Rungkit Charoenwat
เนื้อหาบ้านไอเดีย

พื้นที่โปร่งโล่งในบ้าน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านกลางทุ่งนา

บ้านกี่งปูนกึ่งไม้ที่ตั้งอยู่ในทิวทัศน์ชนบทแถว ๆ แม่ออน จ.เชียงใหม่นี้ ออกแบบโดยสถาปนิก sher maker ที่กล่าวถึงรายละเอียดและแนวคิดของบ้านหลังนี้ว่า “เป็นบ้านขนาดเล็ก 2 ชั้น พื้นที่ 260 ตารางเมตร ตัวบ้านมีลักษณะกระจายตัวออกตามแนวยาวตามแนวที่ดิน ด้านหน้าติดถนนหมู่บ้าน ด้านหลังติดทุ่งนา มีต้นไม้เดิมอยู่พอสมควรทั้งต้นกระพี้เขาควาย ข่อย ทองกวาว บวกกับต้นพะยอมใหญ่ที่เจ้าของบ้านหามาก่อนที่จะปลูกบ้าน ทำให้ต้นไม้กลายเป็นสภาพแวดล้อมหลักที่มีความสำคัญของบ้านหลังนี้”

บ้านโครงสร้างไม้ร่วมสมัย

บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้

เนื่องจากการวางบ้านบนเนินดิน โครงสร้างชั้นหนึ่งจึงเป็นคสล. เพราะต้องขุดแนบฝังพื้นที่ใช้งานให้อยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินเดิมเพื่อไม่ให้ตัวบ้านสูงจนขาดจากร่มเงาของต้นไม้ แต่ตั้งใจทิ้งแนวชายคาและรูปด้านบ้านชั้นบนให้ล้อกับเนินดินด้านข้าง” มองจากมุมสูงด้านหน้า บ้านและห้องสตูดิโอดูเหมือนจะจมลงไปในดินลาดเอียงครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นการปรับให้เข้ากับภูมิประเทศของไซต์ได้อย่างน่าทึ่ง

บันไดและเสาไม้มีโซ่รางน้ำฝน

สถาปนิกได้กระจายองค์ประกอบไม้ทั่วบ้านสร้างความเชื่อมโยงระหว่างบ้านกับธรรมชาติโดยรอบ และใช้กระเบื้องล้านนาแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นเทคนิคทั่วไปที่ใช้ในภาคเหนือของประเทศไทย ตอบโจทย์ความตั้งใจทั้งของเจ้าของบ้านและสถาปนิกที่ต้องการสร้างระบบวิธีการก่อสร้างที่ทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด ด้วยวัสดุที่มีอยู่ในท้องตลาด เพื่อให้ช่างก่อสร้างในท้องถิ่นสามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นงาน Hi-craft ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกวัสดุใหม่ ๆ และวัฒนธรรมจากที่อื่นๆ เข้าไป อย่างเช่น หลังคาและผนังแผ่นโปร่งแสง ช่องแสงวงกลม รวมถึงการติดตั้งโซ่รางน้ำฝนให้ไหลรินลงมาที่ลานหินใส่กลิ่นอายญี่ปุ่นเล็ก ๆ ลงในบ้าน

ประตูทางเข้าไม้น่ารักๆ

ที่ว่างระหว่างอาคาร

บ้านไม้ใต้ถุนสูงแบบที่เราคุ้นตาในวัยเด็ก มีทางขึ้นสองด้านแยกตัวอาคารเป็นสองส่วน เน้นการทำช่องเปิดใหญ่ ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยระบายอากาศดักความร้อนไม่ให้เข้าถึงพื้นที่พักผ่อนภายในบ้าน  หลังคามุงกระเบื้องแบบไม่ตีฝ้าเพดานโชว์ให้เห็นโครงสร้างราวกับจะเปิดเปลือยตัวตนในทุกจุดของบ้าน

ใส่ที่ว่างให้ต้นไม้เติบโต

ที่ว่างบนหลังคาโอบล้อมต้นไม้

เมื่อรอบ ๆ บ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ แต่เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตัดเพราะคนกับธรรมชาติควรอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สถาปนิกและเจ้าของบ้านก็จะเลี่ยงด้วยการเว้นพื้นที่หลังคาให้เป็นช่องว่างโอบล้อมต้นไม้เอาไว้ สถาปนิกอธิบายถึงกระบวนการสร้างบ้านนี้ต่อว่า “บ้านหลังนี้ถูกปลูกโดยเจ้าของของตั้งแต่ต้น จนเข้ามาใช้พื้นที่จริงตั้งแต่ช่วงท้ายของการก่อสร้าง หลังจากนั้นบ้านก็ถูกใช้งานมาตลอดโดยที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนที่จะขีดว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยพร้อมอยู่เมื่อไร นี่คือข้อดี คือปล่อยให้เจ้าของบ้านเข้ามาเติมส่วนที่ขาดเหลือไปทีละน้อย เหมือนกับการค่อยๆรดน้ำ ใส่ปุ๋ยให้บ้านได้เติบโตไปทีละเล็กละน้อย จนให้ร่มเงาได้พักพิงในที่สุด สถาปนิกมีหน้าที่เพียงยืนยันความคิดเห็นและเสนอทางเลือกให้เจ้าของได้ตัดสินใจ” นั่นคือเหตุผลที่สามารถพูดได้ว่าที่นี่เป็น “บ้าน ธรรมชาติ และผู้คนที่เติบโตไปด้วยกัน”

ชานไม้กว้างๆ นอกบ้าน

ชานไม้กลางแจ้งกว้างๆ

ครัวไม้โปร่งโล่ง

ชั้นสองเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานเป็นประจำ ทั้งห้องครัว ห้องนั่งเล่น ระเบียง ห้องนอน ซึ่งผิวสัมผัสกับร่างกายโดยตรงมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการจับ เหยียบ นั่ง นอน จึงเลือกใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุหลักทั้งโครงสร้างและองค์ประกอบแวดล้อม เพราะเป็นมิตรกับมนุษย์มากที่สุดและหาได้ง่ายในพื้นที่โดยรอบ ถึงแม้จะมีร่องรอยความดิบและความไม่สมบูรณ์แบบของงานไม้อยู่บ้าง ทีมงานก็เลือกที่จะปล่อยร่องรอยนั้นทิ้งไว้ เป็นหลักฐานที่นำเสนอปรัชญาให้แสดงความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีทางสมบูรณ์แบบ ในขณะเดียวกันเราสามารถมีความสุขท่ามกลางความไม่ perfect นั้นได้

ครัวไม้ร่วมสมัยโปร่งโล่ง

มุมจัดเก็บเครื่องปั้นดินเผาทำมือ

ก่อนที่เขียนไขและวานิชจะเป็นที่รู้จัก เขาเคยคิดว่าจะตัดสินใจหันหลังให้กลับดนตรีไปเป็นช่างปั้น ดังนั้นในบ้านนี้เราจะเห็นชั้นและตู้ที่เต็มไปด้วยงานปั้นเซรามิคที่เป็นหนึ่งงานที่เจ้าของบ้านรักวางอยู่เต็มไปหมด

ห้องน้ำโทนสีขาว น้ำตาล เทา

บ้านต่างระดับมีช่องว่างตรงกลาง

ที่ว่างใจกลางบ้าน

ตัวบ้านไม่ได้เป็นอาคารเดียว และไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งหลัง แต่จะมีความต่างระดับและการแบ่งโซนใช้งานเป็นส่วนๆ แต่ทุกส่วนจะเชื่อมต่อกันโดยมีช่องเปิดรับลมขนาดใหญ่ที่ดูแล้วจะคล้าย ๆ  Dog Trot (breezeway) ในบ้านฟาร์มตะวันตกที่มักเว้นที่ว่างให้ลมผ่านกลางอาคาร ทำให้อาคารรับได้ทั้งลมและแสงธรรมชาติจากช่องแสงและช่องลมนี้ได้เต็มที่ ประกอบกับประตูหน้าต่างที่จัดเต็มรอบ ๆ ทำให้บ้านนี้แวดล้อมไปด้วยสภาวะสบายชวนพักผ่อน

จัดไฟส่องสว่างสวยๆ ในและนอกบ้าน

โถงบันไดขึ้นชั้นบน

ทุกส่วนของบ้านมีทั้งความเป็นล้านนาประยุกต์เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ แบบร่วมสมัย มีความโปร่งเบาเข้าถึงง่ายและสบาย เหมือนท่วงทำนองของเพลงที่ไม่หนักเกินไป มีความเป็นสากลฟังแล้วยังรู้สึกถึงตัวตนคนเหนือซุกซ่อนอยู่ บ้านนี้จึงเหมือนหนึ่งงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่พิมพ์ภาพตัวตนของเจ้าของเอาไว้อย่างแยกไม่ออก

โถงบันไดทางขึ้นสู่ตัวบ้าน

สตูดิโอสำหรับทำเพลง

บริเวณชั้นล่างเป็นสตูดิโอที่ก่อปิดทึบและบุวัสดุอะคูสติกดูดซับเสียงสะท้อนข้างใน เพราะต้องการคุณสมบัติในการป้องกันเสียงรบกวน ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำดนตรี

บ้านไม้ร่วมสมัยโปร่งๆ

กลุ่มก้อนนักดนตรีเชียงใหม่ไม่ได้กว้างมากยิ่งแนวดนตรีอินดี้ด้วยแล้วเรียกว่าแทบจะรู้จักกันทั้งหมด การได้แวะมาเยี่ยมเยือนบ้าน นั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องบทเพลง พร้อมเตรียมทานอาหารด้วยกัน ได้หัวเราะปนเคล้าเสียงเครื่องดนตรีกับคนคอเดียวกันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับที่นี่ ดังนั้นบ้านนี้จึงเตรียมสเปซความสุขกว้างๆ ทั้งมุมนั่งเล่นในบ้าน ชานเรือนชมวิวกว้างๆ ไปจนถึงครัวขนาดใหญ่ที่เปิดเชื่อมต่อโซนกลางแจ้งได้อย่างแนบสนิทเหมือนเป็นพื้นที่เดียวกันทำให้รองรับผู้คนได้ค่อนข้างมาก

มุมสังสรรค์ผิงไฟในหน้าหนาว

มุมสังสรรค์ผิงไฟในหน้าหนาว

นั่งมองดูดวงดาว ฉันมองเห็นเธอสุกสกาว ส่องแสงเรืองรองนับกาวใจ เธอเหมือนดวงดาวส่องแสง… เสียงเพลง “หนีห่าง” อีกหนึ่งผลงานของเขียนไขและวานิช ที่ยังติดตรึงวนแว่วอยู่ในหู จะได้บรรยากาศและความไพเราะมากขึ้นหากได้บรรเลงท่ามกลางไอเย็นของฤดูหนาว เมื่อเตาไฟในใจกลางชานบ้านถูกจุดขึ้นให้อบอุ่น เป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นปาร์ตี้ในธรรมชาติ ที่ทุกคนจะสุขใจแหงนมองบนฟ้าเห็นกลุ่มดาวระยิบระยับ ล้อมวงกันปิ้งย่างกับเพื่อนฝูงที่รู้ใจ เท่านี้ความสุขก็มากองอยู่ตรงหน้าแล้ว

บรรยากาศรอบบ้านยามค่ำ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด