เมนู

L House วางแนวให้หลบแสง รับลม ชมวิว

L House

สร้างบนพื้นที่เนิน

จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านที่ออกแบบใหม่แต่ละหลังนั้นย่อมมีที่มาต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบ รสนิยม ความต้องการใช้งานเป็นปัจจัยหลัก ๆ ในขณะเดียวกันคนที่เคยสร้างบ้านจะทราบว่า หลายครั้งภาพในจินตนาการที่เราสร้างไว้ทำไม่ได้จริงทั้งหมด นั่นเป็นเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ อย่างเช่น รูปร่างและขนาดที่ดิน ระยะย่น ทิศทางแสง ลม และฝน ทำให้ต้องมีการปรับในหน้างานเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อจำกัดให้มากที่สุด ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่ ในทางกลับกันอาจทำให้ได้บ้านที่ตอบโจทย์และอยู่สบายกว่าที่คิด เหมือนเช่นบ้านนี้ที่เราจะพาไปชมด้วยกันครับ

ออกแบบ : Evelop Arquitectura
ภาพถ่าย: Juan Carlos Avendaño Morón
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านทรงกล่องสองชั้นผนังกระจกชั้นล่าง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านโมเดิร์นสองชั้นตกแต่งแผ่นหิน

บ้านสองชั้นพื้นที่ 303 m² หลังนี้ สร้างอยู่ใน ZIBATÁ ประเทศเม็กซิโก แนวคิดในการออกแบบโครงการนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสองประการ อันดับแรก คือ ภูมิประเทศและการวางแนว ด้วยความลาดชันตามธรรมชาติของที่ดินที่ลาดเอียงสูงเพิ่มขึ้นเต็มระดับในด้านหลัง ซึ่งโซลูชันถูกกำหนดโดยอัตโนมัติ ให้มีที่จอดรถและทางเข้าบ้านที่ระดับ 0.00 เพื่อความสะดวก ปัจจัยที่ 2 คือ ความต้องการของผู้อยู่อาศัย ที่มีแนวคิดชัดเจนว่าบ้านต้องสามารถรองรับการเริ่มต้นครอบครัวที่อาจเติบโตใหญ่ขึ้นในอนาคต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และตอบสนองต่อความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างยืดหยุ่น

แปลนบ้าน

ภาพ : ลักษณะสัญฐานพื้นที่ตั้ง ซึ่งเป็นที่เนินค่อยๆ ไต่ระดับจากด้านหน้าสูงขึ้นในด้านหลัง

จัดสวนหินปูกรวดสไตล์ zen

การวางแนวที่ดินโดยให้ทิศเหนืออยู่ที่ 45º ทำให้การวางแปลนบ้านเหมาะกับรูปตัว L และออกแบบให้บ้านค่อนข้างปิด เพื่อป้องกันตัวบ้านจากแสงแดดในทิศตะวันตก และเปิดไปทางทิศตะวันออกที่ด้านหลัง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการกำหนดตำแหน่งของเฉลียง สวน และมุมมองภายในออกสู่ภายนอกได้ง่ายขึ้น ผ่านผนังกระจกที่เปิดออกกว้าง รับทั้งแสง ลม วิว ได้พร้อมกัน ใช้กระจกชั้นล่างในบริเวณกว้างส่วนชั้นบนค่อนข้างปิด ทำให้บ้านดูเหมือนลอยตัวอยู่

ชานนั่งเล่นนอกบ้านตกแต่งผนังหิน

ในส่วนขั้นตอนการดำเนินการเป็นการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ หน้างานสะอาด และรวดเร็ว ด้วยโครงสร้างเหล็ก ผนังเบาด้านในและไฟเบอร์ซีเมนต์ด้านนอกและแผ่นไม้ OSB ซึ่งทำให้งานแล้วเสร็จในเวลาเพียง 4 เดือน อย่างไรก็ตามในส่วนที่ใช้งานบริเวณลานภายนอก ซึ่งจะมีผนังที่ต้องการเน้นให้เกิดความสะดุดตา ในขณะที่ทนทานสภาพอากาศ สถาปนิกเลือกใช้แผ่นหินตกแต่งผนังและปูพื้นด้วยไม้ซีดาร์ที่ให้คุณสมบัติที่ต้องการครบถ้วน

ห้องนั่งเล่นประตูกระจกกว้างๆ

โต๊ะทานข้าวไม้เรียบๆ โมเดิร์น

ในส่วนของฟังก์ชันออกแบบจัดเรียงจากความคาดหวังบรรยากาศของบ้าน ที่ต้องครบครันแต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตอย่างยืดหยุ่น สถาปนิกจึงจัดให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่ทางสังคมของบ้าน ชั้นสองจะเป็นส่วนใช้งานส่วนตัว ชั้นล่างประกอบด้วย มุมนั่งเล่น โต๊ะทานขาวขนาด 6 ที่นั่ง และแพนทรีครัว ทั้งหมดเปิดเชื่อมต่อกันในแบบ open plan ไม่มีผนังแบ่งกั้นเป็นห้องเล็กห้องน้อย และยังมีประตูบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ ทำให้ทุกส่วนของชั้นล่างโปร่ง โล่ง ลื่นไหล เข้าถึงกันได้หมด รองรับสมาชิกได้หลายคน และสามารถเพิ่ม ลด แบ่งกั้นห้องได้ง่าย

ห้องนั่งเล่นและห้องทานข้าว

ส่วนครัวจัดอยู่ด้านในสุด เพื่อให้แยกออกมาจากพื้นที่นั่งเล่นไกลออกมาอีกนิด ป้องกันการถูกกลิ่นและควันรบกวนขณะที่กำลังนั่งพักผ่อน ฟังก์ชันในครัวมีเคาน์เตอร์วางคู่ขนาดกับไอส์แลนด์ขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นเคาน์เตอร์หรือทานอาหารว่างได้ ผนังด้านข้างบิลท์อินเป็นช่องเก็บของ เก็บตู้เย็น เตาอบ ไมโครเวฟ ทำให้ดูเป็นสัดส่วนมีระเบียบใช้งานง่าย

โถงบันไดขึ้นชั้นสอง

ผนังกระจกบนห้องนอน

บนชั้นสองทางออกทิศตะวันตกของบ้าน จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่เป็นบานโปร่งๆ บนส่วนหน้าอาคาร เพื่อทำหน้าที่กรองแสงที่รุนแรงช่วงบ่าย แต่ยังใช้ประโยชน์จากช่องว่างของบานมองเห็นทิวทัศน์ของภูเขา โดยไม่สูญเสียความสบายของอุณหภูมิที่ดีภายในบ้าน

ระเบียงบนชั้นสอง

ผลรวมของการออกแบบบ้านที่คำนึงถึงภูมิประเทศ การเลือกวัสดุที่สอดคล้องกับสภาพอากาศในภูมิภาค การจัดฟังก์ชันให้ตรงกับความคาดหวังของบ้าน ทำให้ภาพรวมของบ้านนี้สร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น น่าอยู่ และสดใส สามารถใช้งานแบบสบายๆ ได้อีกนานหลายปี

บ้านทรงกล่องสองชั้นผนังกระจกชั้นล่าง

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การจัดแปลนภายในแบบ open plan ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยแบบอิสระ (free plan) เกิดเสปซใช้งานกว้างๆ ที่ลื่นไหลยืดหยุ่นใช้งานง่าย และผนังที่ไม่ได้ก่อปิดทึบเป็นประตูกระจกบานเลื่อนช่วยเบลอขอบเขตภายในภายนอก ช่วยขยายขยายตัวบ้านออกมาเป็นระเบียงที่มีภายนอกภายในต่อเนื่องกัน ส่วนการทำบ้านรูปตัวแอลนั้น รูปร่างอาคารจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องทิศทางของแสง-ลม เนื่องจากสามารถเปิดรับลมให้เดินทางเข้าสู่ตัวบ้านได้มาก และยังเอื้อให้พื้นที่ภายในบ้านเชื่อมต่อกับภายนอกได้อย่างเสมอภาค เพราะทั้งสองด้านจะหันหน้าเข้าสู่พื้นที่กลางแจ้งที่เป็นเหมือนจุดศูนย์กลางได้โดยไม่บดบังซึ่งกันและกัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด