เมนู

Mekong House บ้านริมโขงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่กลับมามีชีวิต

บ้านริมโขง

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประยุกต์

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยมีรูปแบบมากมายตามภูมิปัญญาของผู้คนในท้องถิ่น บางที่อาจสูญหายไปตามกาลเวลาเมื่อมีสิ่งใหม่มาทดแทน แต่ก็ยังมีคนที่มองเห็นคุณค่าและพยายามรื้อฟื้นความทรงจำเดิมขึ้นมาใหม่ เหมือนเช่น Mekong House สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันเพื่อแสดงออกถึงบุคลิกของเจ้าของบ้าน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง เราจะเห็นบ้านสไตล์พื้นถิ่นที่เคยคุ้นผ่านตา กับเส้นแนวนอนที่แข็งแกร่งของระดับความสูงของบ้าน สะท้อนถึงแนวที่สวยงามของแม่น้ำโขงอันเงียบสงบ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งหมดได้รับการออกแบบอย่างเรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา

ออกแบบ : PAVA Architects
ภาพถ่ายSpaceshift Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

บ้านไม้สองชั้นหลังคาทรงจั่วแบบพื้นถิ่น ออกแบบโดยผสมผสานระหว่างแบบเปิดโล่งสมัยใหม่กับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียบง่ายของ Mekong House เป็นกุญแจสำคัญในการรับการระบายอากาศตามธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็สร้างทัศนียภาพมุมกว้างของแม่น้ำได้เต็มที่ ชุดระเบียงไม้บนชั้นสองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหมู่บ้านชาวไทยลื้อไทยดำในภาคอีสานของไทย โดยออกแบบให้เป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน พื้นที่อเนกประสงค์ และยังช่วยบังแสงแดดได้ดี

บ้านจากมุมสูง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประยุกต์

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประยุกต์

ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมมักสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง มีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเปิดโล่งใช้เก็บฟืน เก็บของ และเลี้ยงสัตว แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป บ้านหลังนี้ก็แสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงที่ว่าด้วยการทำชั้นล่างเป็นห้องกระจกแทน สามารถเปิดออกได้กว้างๆ เมื่อมองไกล ๆ ก็ยังเหมือนบ้านที่มีใต้ถุนเช่นเดิม

ชานเรือน

บันไดขึ้นข้างบ้าน

วัสดุก่อสร้างและโครงสร้างหลักคือไม้ที่นำกลับมาใช้ใหม่จากโรงสีข้าวขนาดเล็กที่ถูกทิ้งร้าง การตกแต่งผนังด้วยดินผสมฟางข้าวตัดกับไม้พื้นเมืองสีแดง(Xylia xylocarpa)เป็นวิธีการแสดงความงามของงานฝีมือท้องถิ่น การเคลื่อนตัวของสถาปัตยกรรมที่ทำด้วยมือผสมผสานกับภูมิทัศน์อันอุดมสมบูรณ์ สะท้อนถึงความเชื่อของเจ้าของที่จะเป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ วัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้มุงหลังคา คานไม้ และเสา ล้วนเป็นวัสดุที่ผุกร่อนได้ และแสดงให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามฤดูกาล เช่น ในฤดูมรสุมของสภาพอากาศร้อนชื้น ผนังบ้านจะดูดซับความเปียกชื้นทำให้สีเข้มขึ้น ในทางกลับกันไม้จะมีสีซีดลงในฤดูแล้ง เป็นต้น

ชานและบันไดทางขึ้นข้างบ้าน

ชานเรือน

บ้านแบบดั้งเดิมจะทำทางขั้นบันไดหน้าเพียงบันไดเดียว มีหลังคาคลุม ทั้งที่หลังคาผืนใหญ่คลุมและที่ต่อชายคายื่นยาวคลุม แต่บ้านนี้จะทำบันไดไม้แบบไม่มีลูกตั้งต่อจากตัวบ้านออกมาด้านข้างเลียบผนังดินขึ้นไป ทำให้บันไดดูโดดเด่นอยู่บนผนัง

ชานเรือน

โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคานคล้ายกับบ้านโบราณ  ใต้หลังคาโล่งไม่มีฝ้าเพดาน ตัวเรือนมีความงามในความลงตัวของปริมาตรสัดส่วน รูปทรง และพื้นที่ว่าง ที่สัมพันธ์กับการใช้สอยเป็นอย่างดี บนชั้นสองนี้จะเน้นตรงชานเรือนมีระเบียงยาวตามแนวอาคาร ทำม้านั่งยาวโดยรอบแทนการทำราวกันตก เป็นโถงกึ่งภายนอกที่มักใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนในช่วงกลางวัน หรือให้สมาชิกในครัวเรือนได้มานั่งทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนพื้นที่ใช้งานที่เป็นส่วนตัวด้านในจะเป็นห้องกระจกเหมือนข้างล่าง

ที่นั่งเล่นนอกชานเรือน

ห้องน้ำหน้าต่างไม้บานผลัก

หน้าต่างไม้บานเกล็ด

ฟังก์ชันอื่นๆ ของบ้านก็ไม่ได้นำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาทั้งหมด แต่ปรับประยุกต์ในบางจุด เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของยุคสมัย เช่น บานหน้าต่างที่ทำเป็นบานเกล็ด บานผลัก เพิ่มการรับลมและระบายอากาศในฤดูร้อน

หน้าต่างไม้บานเกล็ด

บ้านไม้ทรงโบราณ

บรรยากาศบ้านริมโขงในตอนกลางวันแตกต่างจากตอนกลางคืน ด้วยชายคาที่กว้างและลึก ทำให้แสงแดดที่สาดส่องเข้ามารบกวนบ้านได้น้อยในเวลากลางวัน จึงรับรู้ได้ถึงแสงเงาบนเพดานหลังคา อันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเขตร้อนหลังนี้ ในทางตรงกันข้าม หากบ้านใช้แสงไฟส่องสว่างเกินไปในช่วงกลางคืน จะรบกวนความมืดของท้องฟ้า ดังนั้น ในตอนกลางคืนจึงเน้นใช้แสงแบบทางอ้อม (Indirect light) ด้วยไฟสปอตไลต์ที่ซ่อนอยู่ซึ่งรวมเข้ากับขื่อไม้ นับเป็นการออกแบบบ้านที่คิดคำนวณอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อผู้อยู่ เพื่อชุมชน และธรรมชาติอย่างแท้จริง

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด