เมนู

รื้อบ้านเก่าบางส่วน เติมบ้านใหม่เข้าไปเพื่อครอบครัวขยาย

ปรับปรุงบ้าน

บ้านโมเดิร์นญี่ปุ่น

ครอบครัวที่กำลังเติบโตต้องการพื้นที่ที่เพียงพอในการใช้งาน บ้านเก่าที่เคยใช้ได้ดีและตอบโจทย์ในยุคหนึ่งจึงไม่อาจตอบสนองคนอีกยุคหนึ่งได้เต็มร้อยอีกต่อไป  เหมือนเช่นบ้านนี้ที่เป็นทั้งโครงการปรับปรุงต่อเติมบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่สวยงามล้อมรอบด้วยธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่า 300 ปี เดิมมีบ้านสองชั้นหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อสองชั่วอายุคนแล้วและมีส่วนต่อเติมที่สร้างขึ้นมาอย่างง่าย ๆ  แต่พวกเขาต้องการมีชีวิตแบบใหม่เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ว่างในการทำกิจกรรมในครอบครัวและหลานๆ  Kohei Kudo & Associates จึงวางแผนสร้างส่วนขยายและการฟื้นฟู เพื่อให้บ้านเก่าเป็นมรดกอันล้ำค่าที่จะส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป ในขณะที่มีส่วนต่อเติมร่วมสมัยที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ

ออกแบบKohei Kudo & Associates
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านเก่าก่อนปรับปรุง

บ้านในญี่ปุ่นน่าดูที่ดีไซน์และหลังคา

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น  ในส่วนของอาคารเก่าที่เป็นบ้านสองชั้นถูกรื้อออกบางส่วน โดยพยายามคงโครงสร้างเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด แล้วใส่วัสดุรวมถึงฟังก์ชันใหม่ ๆ เข้าไปให้ใช้ชีวิตสะดวกขึ้น จากนั้นจึงเพิ่มอาคารใหม่เป็นบ้านชั้นเดียวอีก 2 จุด ในภาพรวมบ้านจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนใช้งานใหญ่ ๆ ได้แก่ บ้านสองชั้นหลังใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง บ้านเล็กหลังคาต่อกันทางด้านซ้าย เฉลียงโล่ง ๆ (Nandemo Terrae) ใช้งานอเนกประสงค์ด้านขวา อาคารทั้งสามถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันทั้งหมด และส่วนลานสนามหญ้าใช้งานกลางแจ้ง

บ้านสองชั้นเดิมก่อนปรับปรุง หลังคาจั่วมุงกระเบื้องที่ค่อนข้างทรุดโทรม ข้าง ๆ กันเป็นบ้านเก่าอีก 1 หลัง ที่ถูกรื้อออกแล้วแทนที่ด้วยอาคารใหม่ ในโซนเก่าจะใช้เป็นห้องนอนพักผ่อนส่วนตัว แต่บ้านใหม่ชั้นเดียวนั้นจะเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตร่วมกันทั้งหมด ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนกลุ่มบ้านทั้งหมดกำลังจับมือกันอยู่

ภาพถ่ายจากมุมมอง

สวนที่จัดวางเอาไว้รอบบบ้านและอยู่ตรงกลางระหว่างอาคาร ช่วยในการเชื่อมต่อกับอาคาร ในขณะเดียวกันก็ปกป้องจากสายตาของเพื่อนบ้านด้วย สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของบ้านนี้ คือ รูปร่างของหลังคาที่เป็นจั่ว แต่ใส่ลูกเล่นให้มีมุมเชื่อมต่อไม่เหมือนบ้านหลังอื่น ด้านซ้ายเหมือนถูกเฉียงตัดหลังคาบิดเบี่ยงออกมา ส่วนหลังคาศาลาโล่งด้านขวา เมื่อดูมุมมองหลังคาจากด้านบนจะเหมือนปีกนกแต่มองด้านข้างเป็นเส้นซิกแซก ซึ่งทุกจุดได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ มุมและความสูงหลังคามีความสมดุลอย่างระมัดระวัง

หลังคาศาลารูปร่างจั่วหยัก

ศาลาหลังคาสูงปล่อยลมพัดเย็นสบาย

เฉลียงหลังคาจั่วขนาดใหญ่ที่ขยายพื้นที่ใช้สอยออกไปด้านนอก เป็นเหมือนศาลาโล่ง ๆ มีเสากลมรองรับน้ำหนักสำหรับใช้งานอเนกประสงค์ มีหลังคาสองระดับสูง 4 เมตร และ 6 เมตร เพื่อให้รับลมถ่ายเทอากาศได้เต็มที่ มีช่องทางรับแสงธรรมชาติส่องเข้าได้เท่าที่ต้องการ และเพิ่มความรู้สึกโปร่งสบายเบาลอย ส่วนนี้จึงกลายเป็นสถานที่ที่สมาชิกในบ้านจะมามารวมตัวกันทำกิจกรรมที่ชอบได้หลากหลาย

ผนังโล่ง ๆ เพดานไม้

หลังคาจั่วผนังกระจก

การสร้างความเชื่อมต่อเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้บ้านนี้ใช้งานอย่างลื่นไหลแม้จะมีหลายอาคาร ระหว่างอาคารใหญ่ไปอาคารเล็กที่ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นและครัวมีห้องกระจกเชื่อมต่อ ส่วนบ้านใหญ่เดินทางมาเฉลียงอเนกประสงค์จะผ่านทางเดินกระจกและทางเดินปูกรวดที่วางแผ่นคอนกรีตรองรับการสัญจร สามารถเลือกได้ว่าจะสัญจรด้วยเส้นทางไหนตามที่สะดวก

ห้องกระจกเชื่อมต่อระหว่างบ้าน

ผนังกระจก

เชื่อมต่อทุกอาคารผ่านทางเดินหลายแบบ

โถงทางเดินที่เชื่อมต่อไปยังบ้านหลังใหม่ อยู่ตรงกลางระหว่างผนังกระจกสองชั้นเป็น Sunroom ที่เพิ่มเข้ามาหน้าบ้าน ความใสของกระจกทำให้สามารถมองเห็นวิวและได้รับแสงธรรมชาติยามเช้าได้ง่าย โดยที่พื้นที่ภายในบ้านยังคงมีความเป็นส่วนตัว ในช่วงหน้าหนาวเพียงยกเก้าอี้มาตั้งวางไว้ก็รับแสงแดดอันอบอุ่นได้แม้จะไม่ได้เดินออกไปนอกตัวอาคาร

ผนังกระจก

ครัว

ภายในลื่นไหลใส่หลังคาที่ดูเบาลอย

ในปีกนี้ภายในประกอบด้วย ห้องนั่งเล่นดูทีวี ครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร ที่เชื่อมต่อเข้าถึงกันได้อย่างลื่นไหล บนเพดานกรุด้วยไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่นที่เข้ากันได้เป็นชุดเดียวกับพื้นบ้านที่ปูด้วยไม้เช่นกัน ส่วนผนังที่จะต่อเชื่อมหลังคาออกแบบแปลกไปกว่าที่เคยเห็น คือการมีช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างผนังและหลังคา แล้วติดทับด้วยกระจกใสทำให้เกิดเป็นช่องแสงรับความสว่างเข้ามาด้านในได้ บ้านจึงไม่ทึบและให้ความรู้สึกเหมือนหลังคาถูกยกขึ้นห่างจากตัวบ้านเล็กน้อย

ห้องนั่งเล่นกรุเพดานด้วยไม้

หลังคาเหมือนปีกนก

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : เฉลียงเป็นส่วนใช้งานกึ่งกลางแจ้งที่ยื่นออกมาจากบ้าน ทำหน้าที่ช่วยเชื่อมต่อตัวอาคารกับบรรยากาศกลางแจ้งรอบ ๆ  และยังเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ที่เจ้าของบ้านสามารถใช้งานได้หลากหลาย เฉลียงส่วนใหญ่ในบ้านเราจะมีลักษณะเป็นหลังคาแบนหรือแบบเพิงหมาแหงน ส่วนรูปแบบหลังคาอื่น ๆ ก็สามารถเลือกได้ได้ตามที่ชอบ แต่ต้องระวังเรื่องฟังก์ชันที่ควรช่วยปกป้องอาคารจากแดด ฝน และต้องป้องกันพื้นที่ใช้งานกึ่งกลางแจ้งที่มีหลังคาคลุมนั้นได้ดี 

แปลนบ้าน

http://www.tb-credit.ru/microkredit.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด