กันร้อนให้บ้านชั้นเดียว ด้วยฉนวนกันความร้อนเอสซีจี รุ่น Stay Cool
หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดความกังวลใจ สำหรับผู้อ่านที่กำลังวางแผนสร้างบ้านชั้นเดียว คือ เรื่องความร้อนใช่ไหมครับ เพราะหากเป็นบ้าน 2 ชั้นขึ้นไป อย่างน้อย ๆ พื้นที่ชั้นบนย่อมมีส่วนช่วยกันแดดรองจากหลังคาบ้านได้อีกชั้น แต่บ้านชั้นเดียวได้รับความร้อนส่งต่อทางหลังคาบ้านได้โดยตรง ผู้อยู่อาศัยบ้านชั้นเดียวจึงไม่มีพื้นที่ให้หลบร้อนในยามกลางวันดั่งเช่นบ้าน 2 ชั้นขึ้นไป
แต่จากประสบการณ์ที่ทีมงาน “บ้านไอเดีย” ได้เข้าเยี่ยมชมบ้านหลาย ๆ หลัง หลาย ๆ โครงการ กลับพบว่าบ้านชั้นเดียวไม่ได้ร้อนเสมอไป และบางหลังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแอร์ แต่เลือกใช้วิธีพึ่งพานวัตกรรมวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ยิ่งมีวัสดุกันร้อนที่มีประสิทธิภาพก็จะป้องกันความร้อนได้ดียิ่งขึ้น บทความนี้บ้านไอเดียพาไปเยี่ยมชมบ้านคุณอมกฤต ชื่นจิต บ้านชั้นเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอุณหภูมิภายในและภายนอก แตกต่างกันกว่า 10 องศา
สนับสนุนโดย : Stay Cool
ภาพ | เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คุณอมกฤต ชื่นจิต หรือคุณตู่ วิศวกรหนุ่มชาวพังงา แต่มาหลงใหลในวิถีชีวิตของเมืองเชียงใหม่ จึงตัดสินใจซื้อบ้านชั้นเดียวภายในโครงการบ้านจัดสรร ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านอยู่บริเวณชานเมือง เนื่องด้วยคุณตู่รู้สึกว่า บริเวณชานเมืองได้รับอากาศที่ดีกว่า มีธรรมชาติที่ดีกว่าภายในเมือง และด้วยวัตถุประสงค์ของการซื้อบ้านหลังนี้คือการเตรียมตัวมาอยู่ถาวรหลังจากเกษียณอายุการทำงานแล้ว จึงเลือกเป็นบ้านชั้นเดียว เพราะคิดว่าบ้านชั้นเดียวย่อมให้ความสะดวกในการอยู่อาศัย ไม่ต้องเดินขึ้น เดินลงบันไดบ้าน
ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านชั้นเดียว คุณตู่เองก็มีความกังวลเรื่องความร้อนไม่แตกต่างไปจากท่านอื่น ๆ และเชียงใหม่เองก็ไม่ได้มีแต่ฤดูหนาวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ในความเป็นจริงเมื่อถึงฤดูร้อนจะร้อนยิ่งกว่าภาคใต้ครับ แต่ด้วยวิชาชีพการทำงานด้านวิศวกรและจากการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัจจุบันสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หลังจากซื้อบ้านได้ไม่นาน ก่อนตกแต่งห้องต่าง ๆ คุณตู่จึงเลือกมองหาวิธีป้องกันความร้อนให้บ้านเป็นลำดับแรก ทั้งการกันความร้อนที่เข้ามาทางผนังกระจก ทำการติดฟิล์มกรองแสงให้กระจกทุกบาน และจุดสำคัญคืองานหลังคาที่ได้รับความร้อนโดยตรง ทำการติดตั้งแผ่นฉนวนกันความร้อน Stay Cool จากแบรนด์ SCG ขนาดความหนา 6 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดหนาที่สุดที่มีจำหน่าย
Tip : การเลือกขนาดความหนาของแผ่นฉนวนกันความร้อนที่เหมาะสม ให้ผู้อ่านสำรวจพื้นที่ว่างบนฝ้าเพดานก่อนนะครับ เพราะรูปทรงหลังคาบางประเภท เช่น หลังคา Slab, หลังคาหมาแหงน จะมีพื้นที่ว่างใต้โถงหลังคาไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องเลือกฉนวนกันความร้อนที่มีความบางลง แต่หากเป็นบ้านหลังคาปั้นหยา จั่ว มะนิลา โดยปกติจะมีพื้นที่ใต้โถงหลังคาสูง แนะนำให้เลือกฉนวนกันความร้อนที่ 6 นิ้ว เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด เพราะยิ่งหนา ยิ่งกันความร้อนได้ดีกว่าครับ |
ผลลัพธ์ที่ได้ หลังจากติดตั้ง ฉนวนกันความร้อนเอสซีจี รุ่น Stay Cool
สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังจากติดตั้งฉนวนกันความร้อน Stay Cool คือ บ้านจะร้อนช้าลง ช่วงฤดูกาลทั่วไปอย่างฤดูฝน ฤดูหนาว หรือวันปกติที่อากาศไม่ร้อนมากเกิน สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ แค่เพียงมีพัดลมก็สามารถอยู่สบายแล้ว แต่หากเป็นช่วงฤดูร้อนมาก ๆ อย่างเดือนพฤษภาคมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา ก็จำเป็นต้องเปิดแอร์ครับ แต่ก็ช่วยยืดเวลาได้ดีกว่าไม่ติดตั้งมาก เช่น หากไม่ติดตั้งฉนวนกันร้อน บ้านจะเริ่มร้อนตั้งแต่ก่อนเที่ยง แต่หลังติดตั้งบ้านเริ่มร้อนช่วงบ่ายโมง บ่ายสอง การมีฉนวนกันความร้อนจึงช่วยยืดเวลาให้สามารถอยู่ภายในบ้านสบายยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าเมื่ออุณหภูมิภายในบ้านลดลง ย่อมช่วยลดการทำงานของแอร์ ช่วยลดค่าไฟในระยะยาวได้อีกด้วยครับ
การติดตั้งฉนวนกันความร้อนเอสซีจี รุ่น Stay Cool
ฉนวนกันความร้อน Stay Cool ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ทั่วไปครับ ทั้งในศูนย์จำหน่ายของตกแต่งบ้านอย่างโฮมโปร, ไทวัสดุ, โกบอลเฮาส์, SCG Solution และจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างในท้องถิ่น บ้านคุณตู่สั่งซื้อจากร้านค้าตัวแทนจำหน่ายนพดลพาณิชย์ จ.เชียงใหม่ หลังจากติดต่อทางร้านแล้ว หากต้องการสำรวจก่อนการติดตั้งทางร้านจะส่งทีมงานเพื่อมาสำรวจ ประเมินหน้างานเพื่อเสนอราคาก่อนติดตั้งจริง นอกจากนี้ยังสำรวจโครงสร้างการรับน้ำหนักของฝ้าให้ก่อนด้วยครับ
ภาพประกอบ : SCG
เมื่อถึงวันติดตั้งจริงทีมช่างจะทำการเปิดช่องฝ้าเพดาน เพื่อให้มีพื้นที่นำแผ่นฉนวนขึ้นไปปูทับบนฝ้าเพดานได้ บ้านคุณตู่พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150 ตร.ม. ใช้ฉนวนกันความร้อนเอสซีจี รุ่น Stay Cool 67 ม้วนและใช้ระยะเวลาติดตั้งเพียง 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น ก็สามารถติดตั้งเสร็จหมดทั้งหลังและอยู่อาศัยได้ตามปกติครับ
ภาพประกอบ : SCG
บ้านเย็นขึ้นแล้ว ต้องแต่งให้น่าอยู่ด้วย
ไม่เพียงแค่ความสนใจในนวัตกรรมบ้านเย็น คุณตู่ยังเป็นคนที่ชื่นชอบการแต่งบ้านด้วยตนเองด้วยครับ ตัวอย่างไอเดียจากห้องนั่งเล่น คุณตู่ทำเคาน์เตอร์บาร์เล็ก ๆ ไว้สำหรับนั่งทำงานหรือทานอาหาร สามารถวาง Notebook นั่งอ่านหนังสือได้แบบกำลังดี ประดับด้วยโคมไฟรูปทรงเลขาคณิต สร้างบรรยากาศให้บ้านดูอบอุ่น ภายในบ้านตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาล ดำ ขาว เกือบทั้งหลัง
เคาน์เตอร์ยังมีอีกจุดภายในห้องครัว พื้นที่เดิมจุดนี้จะมีเพียงหน้าต่างว่าง ๆ ครับ ซึ่งหากเราปล่อยให้พื้นที่ดังกล่าวโล่งก็อาจจะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่นัก คุณตู่เลือกที่จะทำเคาน์เตอร์บาร์เพิ่มอีกจุด เป็นจุดที่เหมาะสำหรับนั่งดื่มกาแฟ เมื่อนั่งหันหน้าออกทางหน้าต่างจะช่วยให้เกิดมุมมองที่กว้างไกลและรู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้นครับ โดยห้องครัวนี้เน้นการทำอาหารภายในบ้านเป็นหลัก เมื่อติดตั้งฉนวนกันความร้อนช่วยให้ทำอาหารได้อย่างเพลิดเพลินกว่าเดิม
ห้องนอนมี 2 ห้องครับ ห้องเล็กตกแต่งเผื่อไว้ในช่วงที่มีแขกมาเยี่ยมเยือน ส่วนคุณตู่นอนห้องใหญ่ มีห้องน้ำในตัว เลือกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ยกเว้นส่วนของตู้เสื้อผ้า ทำการ built-in เพื่อให้ห้องดูเป็นสัดส่วนที่เป็นระเบียบ
เนื่องด้วยช่วงที่ทีมงานเข้าเยี่ยมชมบ้านคุณตู่เป็นช่วงที่เชียงใหม่มีปัญหาหมอกควัน ปกติผู้เขียนจะพกอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นติดตัวเสมอ โดยในอุปกรณ์ตรวจวัดจะสามารถวัดอุณหภูมิได้ด้วย จึงทำการตรวจวัดอุณหภูมิภายในห้องนอนโดยวางอุปกรณ์ไว้บริเวณหัวเตียงนอน ช่วงเวลาตรวจวัดเป็นช่วงเวลาประมาณเที่ยงวัน ผลลัพธ์ที่ได้ ห้องนอนมีอุณหภูมิภายใน 29.2 องศา เป็นระดับอุณหภูมิที่สามารถอยู่ได้แบบสบาย ๆ ครับ
หลังจากวัดอุณหภูมิภายในแล้ว เดินออกไปนอกบ้านเพื่อวัดอุณหภูมิภายนอก สิ่งแรกที่รับรู้ได้หลังจากเปิดประตูบ้านคือความร้อนอบอ้าว มาพร้อมกับแสงแดดที่สามารถเผาร่างกายได้เลยครับ อุณหภูมิขณะตรวจวัดอยู่ที่ 41.6 องศา ซึ่งต่างกันมากถึง 12.4 องศา แต่ทั้งนี้ ความต่างของอุณหภูมิแต่ละบ้านอาจแตกต่างกันได้ครับ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งหลังคาบ้าน, งานสี และช่องระบายอากาศภายในบ้าน
อยากติดฉนวนบ้าง ต้องเตรียมการอย่างไร ?
สำหรับบ้านที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง จำเป็นต้องพูดคุยกับสถาปนิกไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สถาปนิกออกแบบโถงหลังคามารองรับและติดตั้งในกระบวนการก่อสร้างได้ทันทีครับ แต่สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยแล้ว จำเป็นต้องตรวจเช็ค 4 จุดพื้นฐาน ดังนี้
- ฝ้าเพดานต้องผ่านการติดตั้งอย่างมั่นคง แข็งแรง ไม่มีรอยแตกร้าว เป็นฝ้าเรียบลักษณะขนานกับตัวบ้านและมีแนวคานที่มีความสูงน้อยกว่า 40 ซม.
- โถงหลังคา ไม่รั่วซึม หากหลังคารั่วจำเป็นต้องแก้ไขปัญหารั่วซึมก่อนครับ มิเช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายให้ฝ้าเพดานและฉนวนกันร้อนได้ โถงหลังคาควรมีความสูงอย่างน้อย 1.5 เมตร
- มีช่องเซอร์วิส เพื่อให้ช่างสามารถขึ้นไปติดตั้งฉนวนได้ โดยช่องเซอร์วิสควรมีความกว้างอย่างน้อย 45 x 45 ซม. อยู่ห่างจากผนังไม่เกิน 30 ซม. และสามารถเปิดขึ้นไปทำงานได้ โดยไม่มีสิ่งใดกีดขวาง
- สายไฟบนฝ้า มีการจัดระเบียบไว้เรียบร้อย หากมีการชำรุดจุดใดให้ทำการซ่อมแซมจุดชำรุดต่าง ๆ ทั้งหมดก่อน
การติดตั้งฉนวนกันร้อนบนฝ้าเพดาน นับเป็นวิธีการหลักที่ได้รับความนิยมสูงในยุคปัจจุบัน สามารถติดตั้งได้ทั้งบ้านสร้างใหม่และบ้านเก่าที่อยู่อาศัยแล้ว แต่หากผู้อ่านต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้บ้านของเราเย็นยิ่งขึ้น สามารถป้องกันความร้อนด้วยวิธีการอื่น ๆ ควบคู่กันได้ ทั้งการออกแบบบ้านให้มีอากาศถ่ายเท, เลือกก่อผนัง 2 ชั้นในทิศตะวันตกและทิศใต้ หรือก่อผนังด้วยอิฐมวลเบา, ทาสีผนังบ้านที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน รวมทั้งการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา ต้นไม้ใหญ่เพียง 1 ต้น สามารถลดอุณหภูมิให้กับบริเวณรอบ ๆ ได้หลายองศาเลยครับ http://www.tb-credit.ru/news.html