เมนู

Courtyard House ลานบ้านเป็นจุดแยกและเชื่อมสองครอบครัว

บ้านร่วมสมัย

บ้านสำหรับสองครอบครัว

แรงบันดาลใจหลักสำหรับ The Courtyard House คือแนวคิดในการส่งเสริมความใกล้ชิดในครอบครัวใหญ่บริบทสมัยใหม่ สิ่งสำคัญคือ การสร้างความสมดุลระหว่างการความรักษาสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ในขณะที่เคารพความต้องการความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนด้วย บทสรุปจึงออกมาเป็นบ้านสองหลังที่แยกจากกัน แต่มีจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อถึงกันสำหรับพี่น้องสองครอบครัว ผ่านคอร์ทยาร์ดตรงกลางที่กลายเป็นองค์ประกอบหลัก ให้สองครอบครัวอยู่ร่วมกันได้อย่างสุขใจ

ออกแบบ : Atelier Varun Goyal
ภาพถ่าย : Pankaj Anand
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

คอร์ทยาร์ดและสระน้ำใจกลางบ้าน

บ้านสองชั้นขนาดใหญ่ถึง 743.2 ตารางเมตร หลังนี้สร้างอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งเรามักจะเห็นแต่สีสันสดใสหรือเอิร์ธโทน บ้านสีขาวแบบโมเดิร์นนี้มีโจทย์หลัก คือ การสร้างสมดุลระหว่างการอยู่ร่วมกันกับความเป็นส่วนตัวของแต่ละบ้าน และสภาพภูมิอากาศของ Bhilai ซึ่งมีฤดูร้อนที่ร้อนจัด จึงมีอิทธิพลต่อการจัดขนาดช่องแสงและตำแหน่งช่องลม การใส่ฉนวนกันความร้อนไปจนถึงการบังแดดเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ภายในยังคงสะดวกสบาย โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องทำความเย็นมากเกินไป

คอร์ทยาร์ดและสระน้ำกลางบ้าน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

คอร์ทยาร์ดและสระน้ำใจกลางบ้าน

จากภายนอกจะเห็นว่าบ้านค่อนข้างปิด แต่ถ้าก้าวข้ามประตูรั้วเข้าไปจะเห็นว่าบ้านแบ่งเป็นสองส่วน โดยบ้านแต่ละหลังมีทางเข้าหลักที่แตกต่างกัน แต่มีลานขนาดใหญ่คั่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งทำหน้าที่ทั้งการแยกสัดส่วนและเชื่อมต่อระหว่างสองอาณาจักรส่วนตัวแบบไร้รอยต่อ คอร์ทยาร์ดนี้ออกแบบให้มีต้นไม้เขียวๆ ไล่ระดับเป็นขั้นบันไดและมีสระน้ำลึกลงไป ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมเป็นหลุมก่อกองไฟในช่วงฤดูหนาว สองด้านของบ้านมีหน้าต่างและช่องรับแสงขนาดใหญ่หันหน้าหาคอร์ท ซึ่งเปิดออกรับวิว ลม แสงตามที่ต้องการ โดยยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวภายในบ้าน

บ้านโถงสูงผนังสีดำครึ่งสีขาวครึ่ง

แยกสัดส่วนใช้งานด้วยวัสดุพื้นต่างสี

ความท้าทายหนึ่งของกระบวนการออกแบบภายใน คือการสร้างพื้นที่ใช้ชีวิตร่วมกันแบบไม่อึดอัด ผสมผสานสุนทรียศาสตร์ร่วมสมัยเข้ากับบริบทของท้องถิ่น โดยยึดปรัชญาของความเรียบง่ายและความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับธรรมชาติ เราจะเห็นการเลือกใช้สีขาวเป็นพื้นหลัง ปูพื้นและผนังด้วยแผ่นหิน กระเบื้องเซรามิคงานไม้ในท้องถิ่น ผสมกับชุดธีมสีขาวและดำที่ทำให้บ้านดูทันสมัย ส่วนแปลนของบ้านเน้นความโปร่งโล่งแบบ open plan เข้าถึงกันได้ง่ายในทุกพื้นที่

เคาน์เตอร์ครัว

ห้องครัวโทนสีขาว เทา ตกแต่งไม้

ห้องครัวที่เป็นหัวใจของบ้านชาวอินเดีย ปกติจะแยกไปให้คุณแม่และลูกสาวทำกับข้าว แต่บ้านนี้ต่างไปด้วยครัวแบบเปิด ช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเตรียมอาหาร ทำให้การทำอาหารเป็นประสบการณ์ร่วมกันและสนุกสนานสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว การตกแต่งการใช้วัสดุที่เรียบง่ายและโทนสีอ่อน ทำให้งานไม้สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและน่าดึงดูดใจ

มุมทานข้าวตกแต่งโทนสีขาวดำและไม้

บันไดสีดำสไตล์โมเดิร์น

สิ่งที่แตกต่างอีกจุดในบ้านหลังนี้คือการใช้สีดำและขาว เป็นจุดโฟกัสสายตาสร้างความโดดเด่น และยังเป็นการแยกสัดส่วนพื้นที่แบบหลวมๆ โดยไม่ต้องก่อผนังทึบแบบปิดแยกเป็นห้อง ๆ เหมือนบ้านทั่วไป ซึ่งจะทำให้บ้านดูแคบและทึบ จุดหลัก ๆ ที่ใช้อยู่บริเวณผนังห้องทานข้าวและผนังบริเวณบันได รวมถึงพื้นที่ใช้กระเบื้องสีดำและสีขาวบ่งบอกขอบเขตพื้นที่ใช้งานที่แตกต่างด้วย สีขาวและดำแบบหยินหยางทำให้บ้านดูสมดุลและทันสมัยขึ้นด้วย

บันไดคอนกรีตพับผ้าลอยตัว

ห้องนั่งเล่นโทนสีอ่อนๆ

ห้องนั่งเล่นโทนสีอ่อนๆ อบอุ่น

ในส่วนของห้องนั่งเล่นแต่ละบ้านจะเหมือนกันตรงที่ การคุมธีมสีอ่อนๆ และตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เส้นสายเรขาคณิต ให้ Mood&Tone นุ่มนวล ผ่อนคลาย รองรับวันสบายๆ ที่อยากพักผ่อนอยู่กับบ้าน

บันไดแบบหักกลับสีขาว

สำหรับห้องนอน ตกแต่งแบบมินิมอลรู้สึกถึงความเรียบง่าย ด้วยผนังสีเบจและเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการออกแบบในช่วงกลางศตวรรษผสมผสานกันเพื่อสร้างบรรยากาศย้อนยึคเล็ก ๆ  ติดงานศิลปะที่สะสมเอาไว้สร้างคาแร็คเตอร์แบบอาร์ต ๆ ในห้อง หน้าต่างที่ยื่นจากผนังซึ่งประดับด้วยฐานหินอ่อนอินเดีย เปิดรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดบรรยากาศอันเงียบสงบสำหรับการพักผ่อนอันแสนสุข

ห้องน้ำโทนสีอ่อนๆ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านในยุคก่อน ๆ จะใช้วิธีการแยกแต่ละฟังก์ชันของบ้านออกจากกัน ด้วยการก่ออิฐฉาบเรียบแบ่งเป็นห้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว หรือห้องนอน ซึ่งผนังแต่ละจุดทำให้พื้นที่ใช้งานในบ้านลดลง และสเปซในบ้านไม่เชื่อมต่อ ภาพรวมของบ้านจะเหมือนแคบและทึบลง ในยุคนี้เราสามารถแบ่งขอบเขตการใช้งานได้ง่ายๆ โดยอาจจะทำพื้นต่างระดับกันเล็กน้อย การใส่ประตูกระจกบานเลื่อนเปิดเชื่อมต่อกันและปิดได้ หรือการใช้วัสดุปูพื้นคนละชนิดคนละสี ก็เป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งพื้นที่ให้ดูเป็นสัดส่วนได้เช่นกัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด