เมนู

บ้านบนดาดฟ้ากลางกรุง ชีวิตชิดเส้นขอบฟ้า by WARchitect

สร้างบ้านบนดาดฟ้า

ชมเดือนเก็บดาวในบ้านบนดาดฟ้า

Show us your breakfast and we’ll show you your kitchen. วลีสั้น ๆ นี้แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า “เล่าเรื่องมื้ออาหารของคุณให้เราฟังสิ แล้วเราจะทำครัวที่เหมาะกับคุณ”  Motto นี้แสดงให้เห็นการทำงานของสถาปนิกอย่างชัดเจนว่า การออกแบบบ้านทุกหลังต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่าเจ้าของบ้านมีภาพที่ต้องการอย่างไร รสนิยมหรือพฤติกรรมการใช้งานประจำวันเป็นแบบไหน เพราะแต่ละคนมีความคาดหวังต่อบ้านในแง่มุมที่ต่างกัน แล้วนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาประมวลขมวดออกมาเป็นบ้านที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้มากที่สุด ในบ้านหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน สถาปนิก WARchitect สร้างสรรค์พื้นที่ว่างเปล่าบนดาดฟ้าที่เคยเป็นจุดติดตั้งแทงค์น้ำ ให้กลายเป็นอาณาจักรส่วนตัวที่ดีไซน์ให้ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระอย่างไร้ขอบเขต เป็นบ้านโมเดิร์นในไทยที่แปลกตาและตอบอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของผู้ครอบครองได้เป็นอย่างดี

ออกแบบWARchitect
ภาพถ่าย : Rungkit Charoenwat
เรียบเรียงบ้านไอเดีย

บ้านไม้สไตล์มเดิร์น

กล่องไม้กระจกใส แนวคิดบ้านใหม่ ๆ ในชั้นดาดฟ้า

ในโซนลาดพร้าวซอย 3 เป็นที่ตั้งของ HACHI Serviced Apartment อพาร์ทเมนต์สไตล์โมเดิร์นสูง 5 ชั้น ที่โดดเด่นเรื่องดีไซน์เรียบเฉียบและการใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลัก โดยชั้นที่ 6 เป็นดาดฟ้าพื้นที่ 325 ตร.ม. ซึ่งตอนแรกใช้เป็นที่ตั้งแทงค์น้ำเพียงอย่างเดียวเหมือนอาคารสูงทั่ว ๆ ไป และยังเหลือพื้นที่ดาดฟ้าอีกมาก เจ้าของจึงมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนที่ว่างนี้ให้เป็นบ้านเล็กๆ สำหรับใช้ชีวิตที่นี่ ซึ่งบ้านหลังนี้มีบริบทที่น่าสนใจคือ จากลานที่เป็นพื้นดินกลายเป็นลานคอนกรีตและกรวด ต้นไม้รอบบ้านเป็นแนวเส้นตั้งของตึกสูงในย่านนี้ ส่วนระดับพื้นดินแทนที่จะเป็น 0.00 กลับกลายเป็นระดับพื้นอากาศ +15.00ม.  เป็นบ้านชั้นเดียวพื้นที่ 150 ตร.ม. ที่หุ้มด้วยไม้และกระจกให้ดูกลมกลืนกับอพาร์ทเมนต์ด้านล่าง ดีไซน์มาให้มีความเป็นส่วนตัวสูงบนความโปร่งใส ด้วยการออกแบบให้มีรูปด้านหน้าเพียงอย่างเดียว ผนังข้างและหลังทึบจึงไม่สามารถมองเห็นด้านข้างและด้านหลังได้ และหลีกเลี่ยงสายตาจากมุมมองของผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนด้านล่างได้ดี


ไฟขั้นบันได

คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขยายใหญ่

เรียบง่าย โปร่ง ว่างและโล่ง

สำหรับฟังก์ชั่นการใช้งาน เจ้าของบ้านอยากให้เรียบง่ายที่สุดเพื่ออยู่อาศัยเองเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เปิดต้อนรับแขกบ่อย ๆ จึงต้องการอิสระในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เมื่อสถาปนิกประมวลภาพคิดที่ผู้อยู่ต้องการทั้งหมดจึงเกิดแนวคิดว่า “น่าสนใจถ้าจะทำให้บ้านหลังนี้โป๊กว่าปกติ” จึงเลือกใช้วัสดุกระจกใส เพื่อเปิดเปลือยขอบเขตของบ้านให้สามารถมองทะลุเข้าไปได้ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของห้องนั่งเล่น ครัว ห้องนอน หรือแม้กระทั่งห้องน้ำ ในส่วนนี้ทีมงานอธิบายเพิ่มเติมว่า “อยากให้บ้านหลังนี้เหมือนไม่ใช่อาคาร ไม่รู้สึกถึงฟอร์ม แต่เป็นเส้นของขอบเขตที่ว่าง ที่จู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาบนท้องฟ้าเอาดื้อๆ ไม่ปรากฏความหนาของพื้นผนังและหลังคา” ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จงใจปาดเฉียงให้กรอบดูบางเฉียบคม สร้างภาพลวงตาที่ไร้ขอบเขตยามมองเข้ามา

บ้านทรงกล่องผนังกระจกโปร่งเบา

สิ่งที่น่าสนใจที่เห็นได้ชัดของบ้านหลังนี้โดยเฉพาะในยามค่ำ คือการจัดแสงไฟที่ทำให้บ้านมีมิติทางสายตา สถาปนิกใช้เทคนิคในการทำหลุมฝ้าซ่อนผ้าม่าน ซ่อนไฟ โดยที่ระดับฝ้าทั้งอาคารยังอยู่ในระนาบเดียวกันไม่ต้องทำการดรอบฝ้าภายใน และจัดไฟตามทางเดิน แผ่นพื้น ใต้อาคาร ซึ่งเมื่อเปิดพร้อมกันแล้วทำให้บ้านดูเหมือนกำลังลอยตัวอยู่

มุมทานอาหาร

วัสดุที่พื้น ผนัง และฝ้าเพดานทั้งหมดเป็นไม้เต็งลาวทั้งหมด บ้านจึงยังคงความอบอุ่นในท่ามกลางเส้นสายที่เรียบเฉียบตรงไปตรงมา สำหรับไม้ชนิดนี้ค่อนข้างหาได้ยากเจ้าของเหมาซื้อมาจากประเทศลาวตอนที่ทำอพาร์ทเมนท์ และยังเหลือสต็อคเพียงพอสำหรับมาทำบ้านนี้ด้วยไม้แต่ละชิ้นที่ทั้งมีรอยแตก ตาไม้ มีรอยเลื่อย และเฉดสีที่ไม่เท่ากัน แต่ความไม่สมบูรณ์นั้นกลับช่วยชูเสน่ห์ของไม้จริงตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี สถาปนิกจึงไม่ได้คัดไม้ที่มีตำหนิทิ้ง เมื่อบ้านเสร็จสมบูรณ์แล้วเกิดเป็นภาพที่ว่างโทนอบอุ่นของไม้ตัดกับสีโทนเย็นของท้องฟ้าอย่างที่สถาปนิกตั้งใจ

จัดบ้านแบบ open plan

ห้องทานข้าว

เปิดสเปซใส่คอร์ด หลังคาแบนแต่ไม่ร้อน

การแบ่งพื้นที่ใช้งาน จะยึดตามช่องเสาของอพาร์ทเมนต์ด้านล่าง จึงเกิดเป็นตารางทั้งหมดหกช่อง แบ่งเป็นโซนด้านหน้าและด้านหลัง ในส่วนช่องด้านหน้าจะใช้เป็นส่วนทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องนอน ที่จัดแปลนแบบ open plan จึงเข้าถึงกันได้หมด ผนังประระตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่เปิดออกกว้างเต็มพื้นที่ทำให้สามารถเทควิวได้แบบพาโนรามาวิว เส้นของกรอบประตูจะซ้อนตรงกับเสาขนาดเล็กพอดีราวกับอาคารนี้ไม่มีเสา และในส่วนใช้ชีวิตด้านหลังจะประกอบด้วยห้องน้ำ คอร์ท และห้องครัว ที่ออกแบบให้เปิดมุมมองออกรับวิวสวนได้ทุกมุม

บ้านผนังกระจกมองห็นสวนทุกด้าน

บ้านหลังนี้ดีไซน์หลังคาแบน (slab) ในสไตล์โมเดิร์น และตั้งอยู่บนดาดฟ้า ซึ่งในบ้านปกติจะมีปัญหาบ้านร้อน เพราะรับแสงแดดได้โดยตรงเต็มที่ไม่มีพื้นที่ให้หลบร้อน จึงวางระบบปกป้องบ้านจากความร้อนด้วยฉนวนโฟมปูด้านบนของหลังคา ทำให้บ้านร้อนช้าลง ประกอบกับประตูหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่เปิดได้กว้าง เมื่อเปิดหน้าต่างจะรับลมได้มากจนไม่มีความร้อนสะสมภายใน จึงอยู่ได้สบายๆ โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ

ครัวตกแต่งไม้

มุมทำครัวประกอบด้วย 2 สเตชั่นขนานกัน แบ่งเป็น พื้นที่สำหรับปรุงอาหารมี เตาแก๊ส ไมโครเวฟ เครื่องดูดควันที่ทำบานไม้ทั้งหมดแนบเนียนไปกับผนัง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเคาน์เตอร์สำหรับล้างและเตรียมอาหาร ทั้ง 2 สเตชั่นบิวท์อินในลักษณะลอยตัว ทำให้ห้องดูเบาและทำความสะอาดง่าย ผนังห้องเป็นกระจกเปิดวิสัยทัศน์ออกสู่สวน จึงสามารถรับความสดชื่นได้แม้ในขณะกำลังง่วนทำอาหารจานโปรด

คอร์ทยาร์ด

คอร์ทที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน ทำหน้าที่ 2 อย่างที่ขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว คือ แบ่งขอบเขตการใช้งานในขณะที่ช่วยรวมพื้นที่ใช้งานให้ต่อเนื่องกันไปในตัว รอบ ๆ อาคารที่เต็มไปด้วยลานกรวดนี้หลาย ๆ คนอาจจะกังวลว่าจะเก็บความร้อนจนทำให้ห้องที่อยู่ชั้นล่างร้อนขึ้นหรือไม่ ในข้อนี้สถาปนิกไขข้อข้องใจว่า ห้องด้านล่างนอกจากจะไม้ร้อนขึ้นแล้ว ยังเย็นลงกว่าเดิมด้วย เนื่องจากหินกรวดทำหน้าที่เป็นฉนวน ซึ่งลมจะสามารถช่วยระบายความร้อนใต้หินได้

ห้องน้ำตกแต่งไม้ สุขภัณฑ์ลอยตัว

ห้องน้ำผนังกระจกมองเห็นสวน

ให้อิสระเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยผนังกระจก

เติมความสุนทรีย์ในชีวิตด้วยมุมทำธุระส่วนตัวผนังกระจกใสรอบด้าน ที่ปลดปล่อยร่างกายไปกับธรรมชาติได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว สำหรับสุขภัณฑ์เลือกใช้แบบติดตั้งลอยตัวเช่นกัน เพื่อเพิ่มความรู้สึกเบาลอย ให้ความโมเดิร์นและยังสามารถทำความสะอาดได้ง่ายด้วย

ห้องนอนตกแต่งไม้สไตล์โมเดิร์น

ห้องนอนเรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดากับบริบทรอบข้าง เพลินใช้ชีวิตที่รับแสงแรกของวันก่อนใคร ๆ ชื่นชมกับท้องฟ้า สายลม แสงแดด ได้อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเข้านอน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : โดยปกติในบ้านชั้นเดียว โดยเฉพาะบ้านหลังคาแบน (slab) จะมีปัญหาที่ชัดเจนคือ พื้นที่รับความร้อนที่แผ่เข้าทางหลังคาโดยตรงค่อนข้างมาก และไม่มีพื้นที่กันชนให้หลบร้อนเหมือนบ้าน 2 ชั้น ภายในบ้านจึงมีความร้อนสะสมได้มาก รวมถึงปัญหาการรั่วซึม จึงต้องมีการวางระบบกันความร้อน การระบายความร้อน และระะบบกันซึมบนหลังคาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด